โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)

ความหมาย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)

Inflammatory Bowel Disease หรือ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ใช้เรียกโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของลำไส้และทางเดินอาหาร อย่างโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์น ซึ่งโรคนี้จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติภายในลำไส้ เช่น ถ่ายเหลวปนเลือด ปวดท้อง หรือเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย เป็นต้น โดย Inflammatory Bowel Disease นั้นพบมากในผู้ที่มีอายุ 15-40 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยเช่นกัน

Inflammatory Bowel Disease

อาการของ Inflammatory Bowel Disease

อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดการอักเสบ อย่างทางเดินอาหารหรือลำไส้ใหญ่ ซึ่งหากพบหรือสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคนี้ ควรไปพบแพทย์ โดย Inflammatory Bowel Disease อาจทำให้มีอาการ เช่น ปวด หรือปวดบีบบริเวณท้อง ปวดอุจจาระอย่างรุนแรงและฉับพลัน ท้องเสียบ่อย อุจจาระปนเลือด เป็นไข้ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยบางรายอาจอาเจียนและเกิดภาวะโลหิตจางและระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำลงจากการเสียเลือด เนื่องจากแผลในลำไส้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้น้อยร่วมด้วย เช่น ปวดข้อต่อ ตาแดง ปวดตา มีตุ่มบวมแดง และมีอาการของดีซ่าน เป็นต้น Inflammatory Bowel Disease เป็นโรคเรื้อรัง จึงมีบางช่วงที่อาการอาจกลับมารุนแรง รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ของโรคด้วย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายหรือบรรเทาลงเมื่อผ่านไปสักระยะ

สาเหตุของ Inflammatory Bowel Disease

สาเหตุการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคได้ ดังนี้

  • ระบบภูมิคุ้มกัน สาเหตุที่ทำให้ลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นอาจเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมองว่าอาหาร แบคทีเรียและไวรัสชนิดไม่เป็นอันตรายที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้นั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกจากร่างกายเป็นผลให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรัง
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนี้ คนผิวขาวอาจเสี่ยงเกิดโรคนี้สูงกว่าเชื้อชาติอื่นด้วย
  • บุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการเกิด Inflammatory Bowel Disease ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
  • สภาพแวดล้อม ในบางกลุ่มประเทศหรือบางพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก อาจมีโอกาสเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่อื่น เนื่องจากมลพิษและสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
  • ยาแก้อักเสบ การใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค นาพรอกเซน รวมถึงยาอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น Inflammatory Bowel Disease รวมทั้งอาจส่งผลให้อาการของโรคนั้นรุนแรงขึ้น

การวินิจฉัย Inflammatory Bowel Disease

การตรวจและวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

  • การตรวจเลือด
    การตรวจเลือดมีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางที่เป็นอาการของโรค รวมทั้งนับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ร่างกายผลิตมากกว่าปกติเมื่อมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เพื่อหาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียภายในร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น วัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate) การตรวจหา C-Reactive Protein (CRP) ในเลือด ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบ ตรวจหาสารภูมิต้านทานต่าง ๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิต้านตนเอง และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย
  • การแสดงภาพภายในลำไส้
    การแสดงภาพในลำไส้มีด้วยกันหลายวิธี เช่น การเอกซเรย์หรือการฉายรังสีเพื่อแสดงภาพแบบทั่วไป การเอกซเรย์ด้วยการกลืนหรือสวนแป้งแบเรียม (Barium X-ray) ที่จะทำให้แสดงภาพในลำไส้ชัดเจนขึ้น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอ็มอาร์ไอซึ่งเป็นวิธีการแสดงภาพภายในด้วยคลื่นไฟฟ้าและแม่เหล็ก และการอัลตราซาวด์ที่เป็นการแสดงภาพด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น
  • การตรวจอุจจาระ
    การตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาเลือดที่อาจปนมาด้วยซึ่งบ่งบอกถึงแผลในลำไส้หรือกระเพาะ นอกจากนี้แพทย์อาจเก็บและส่งตัวอย่างอุจจาระไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการเพื่อหาแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง
  • การส่องกล้อง
    การส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย Inflammatory Bowel Disease มีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นที่ใช้ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรือปวดท้อง การส่องกล้องแบบแคปซูลเพื่อวินิจฉัยโรคโครห์นด้วยวิธีการรับประทานแคปซูลที่บรรจุกล้องเข้าไป การส่องกล้องโดยใช้อุปกรณ์ขยายลำไส้และหลอดอาหารใช้เพื่อสังเกตภายในลำไส้เล็กส่วนต้นในกรณีที่การส่องกล้องอื่น ๆ เข้าไม่ถึง การส่องกล้องในลำไส้ใหญ่เพื่อตัดเก็บเนื้อเยื่อลำไส้มาตรวจสอบด้วยการสอดทางทวารหนัก และการส่องลำไส้ใหญ่ส่วนคดเป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่ลำไส้ใหญ่มีการอักเสบอย่างรุนแรง เป็นต้น

การรักษา Inflammatory Bowel Disease

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการของโรคและยับยั้งการกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

  • การดูแลตนเอง
    การดูแลตนเองเป็นวิธีที่จะช่วยลดและป้องกันอาการรุนแรงขึ้นด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดอาหารไฟเบอร์สูง อาหารไขมันสูง และอาหารที่ทำจากนม งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด และคาเฟอีน รวมทั้งงดสูบบุหรี่และควบคุมความเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารเสริมสำหรับสารอาหารที่ร่างกายขาดไป และควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยหลายมื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ รวมทั้งดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม
  • การใช้ยา
    ยาที่ใช้ในการรักษา Inflammatory Bowel Disease อาจมี ดังนี้ ยาแก้อักเสบ อย่างยาเมซาเลซีน บอลซาลาไซด์ หรือโอลซาลาซีน ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น อินฟลิซิแมบ อะดาลิมูแมบ โกลิมิวแมบ เป็นต้น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกรณีเกิดการติดเชื้อ เช่น ยาไซโปรฟลอกซาซิน เมโทรนิดาโซล เป็นต้น รวมถึง ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ท้องร่วง ยาแก้ปวด ธาตุเหล็กสำหรับผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร วิตามินดีและแคลเซียมเนื่องจากโรคโครห์นและสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษาอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
  • การให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือด
    แพทย์อาจให้อาหารพิเศษผ่านทางท่ออาหารแก่ผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของลำไส้ โดยการรักษาวิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ระยะเวลาหนึ่ง
  • การผ่าตัด
    การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่การรักษาอื่น ๆ ไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดนำลำไส้ใหญ่และลำไส้ส่วนทวารหนักออก จากนั้นแพทย์จะสร้างระบบลำไส้และถุงบรรจุของเสียเพื่อทดแทนส่วนที่นำออกไป อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคโครห์นนั้น การผ่าตัดอาจได้ผลเพียงชั่วคราว โดยแพทย์จะนำทางเดินอาหารส่วนที่ผิดปกติออกและเชื่อมต่อส่วนที่ปกติเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการเย็บแผลในลำไส้และกำจัดฝีที่พบภายในทางเดินอาหารด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของ Inflammatory Bowel Disease

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจมี ดังนี้

  • โรคมะเร็งลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์นมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพภายในลำไส้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
  • ภาวะขาดธาตุเหล็ก ภาวะขาดสารอาหาร และภาวะโลหิตจาง เนื่องจากมีเลือดออกในลำไส้
  • ผิวหนัง ดวงตา และข้อต่ออักเสบ อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีกลับมามีอาการลำไส้อักเสบอีกครั้ง
  • โรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นปฐมภูมิ เกิดจากแผลเป็นภายในลำไส้ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ ส่งผลให้ท่อน้ำดีนั้นตีบลงและสร้างความเสียหายให้ตับอย่างช้า ๆ
  • ลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง
  • ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ควรระวังการใช้ยาไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน และไดโคลฟีแนคที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดแต่ก็มีความเสี่ยงจะทำให้อาการทรุดลงเช่นกัน ยากลุ่มคอร์ติสเตียรอยด์นั้นหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ความดันเลือดสูง และโรคอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ โรคโครห์นอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้อุดตัน ขาดสารอาหาร ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น ส่วนโรคลำไส้ใหญ่อักเสบอาจทำให้เกิดการพองตัวของลำไส้ ลำไส้ใหญ่ทะลุ และอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงได้

การป้องกัน Inflammatory Bowel Disease

Inflammatory Bowel Disease นั้นอาจเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ จึงไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังสามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นอาการของโรค เช่น อาหารจากนม อาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น รวมทั้งควรออกออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอยู่เป็นประจำเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นไปพบแพทย์และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจลำไส้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ รวมทั้งควบคุมและหาวิธีบรรเทาความเครียดอย่างเหมาะสม หากกลับมามีอาการของโรคควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ควรท้อแท้หรือหงุดหงิดกับอาการที่เกิดขึ้น และอาจหาวิธีระบายความเครียดและทำความเข้าใจในโรค อย่างการเข้ากลุ่มบำบัดสำหรับผู้ที่มีปัญหาเดียวกัน