โรคตาที่มักพบในผู้สูงวัย ความเสื่อมของดวงตาที่ควรสังเกต

โรคตาเป็นอีกกลุ่มโรคที่พบได้มากในผู้สูงวัย เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ดวงตาเริ่มเสื่อมสภาพและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งโรคทางดวงตาบางชนิดอาจนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

การรู้จักกับโรคตาที่มักพบในผู้สูงวัยอาจช่วยให้ผู้สูงวัย คนดูแลหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงวัย สามารถสังเกตอาการผิดปกติทางดวงตาและไปพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจช่วยชะลออาการของโรคหรือป้องกันโรคทางดวงตาได้ทัน

โรคตาที่มักพบในผู้สูงวัย ความเสื่อมของดวงตาที่ควรสังเกต

โรคตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัยมีอะไรบ้าง

ปัญหาทางสายตาหรือโรคตาที่มักพบบ่อยในผู้สูงวัย ได้แก่

ภาวะสายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

ภาวะสายตายาวตามอายุมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40–65 ปี เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเลนส์ตาเริ่มสูญเสียการยืดหยุ่น ทำให้มองวัตถุหรือตัวหนังสือที่อยู่ในระยะใกล้ตัวไม่ชัด ตาล้า และต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือ ซึ่งจักษุแพทย์จะแนะนำให้สวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้นเท่านั้น แต่บางรายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

ภาวะนี้จะต่างจากภาวะสายตายาว (Hyperopia) ที่เกิดจากกระจกตาไม่โค้งมนเพียงพอหรือกระบอกตาสั้น แต่ผู้ที่มีภาวะสายตายาวตามอายุหรือเลนส์ตาเริ่มสูญเสียการยืดหยุ่น อาจมีภาวะสายตายาวจากทั้งสองแบบร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อายุไม่ถึง 40 ปี แต่มีอาการเข้าข่ายภาวะสายตายาวตามอายุ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เห็นภาพซ้อน เห็นภาพเบลอ เห็นแสงกระพริบ เห็นวงแสงรอบดวงไฟ หรือสูญเสียการมองเห็น ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นที่มีความรุนแรงได้

จอประสาทตาเสื่อม (Age–Related Macular Degeneration)

จอประสาทตาเสื่อมมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ มีภาวะน้ำหนักเกิน มีภาวะความดันโลหิตสูง รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงเป็นประจำ และสูบบุหรี่ 

จอประสาทตาเสื่อมเกิดจากการที่เซลล์ประสาทบริเวณจุดกึ่งกลางของจอประสาทตาเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้มองเห็นภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว มองเห็นจุดดำจุดบอด และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสูญเสียการมองเห็นได้

โรคนี้มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในช่วงแรก แต่หากพบอาการในข้างต้นมักเป็นผู้ป่วยที่โรคเริ่มลุกลามไประยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรับการตรวจสุขภาพดวงตาทุกปี ซึ่งอาจช่วยให้พบความผิดปกติของดวงตาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ต้อกระจก (Cataracts)

ต้อกระจกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อโปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมสภาพลงจนเลนส์ตาเกิดการขุ่นมัว ทำให้มองเห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน ดวงตาไวต่อแสง มองเห็นภาพเป็นสีออกเหลืองหรือซีดลง การมองเห็นในตอนกลางคืนแย่ลง เห็นแสงไฟพร่าหรือเป็นวง และค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อยจนต้องตัดแว่นใหม่อยู่บ่อย ๆ 

ต้อกระจกมักพบได้ในคนอายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นต้อกระจก มีการใช้ยาสเตียรอยด์ ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา ดวงตาถูกแสงแดดเป็นประจำโดยไม่ป้องกัน สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษมาก

ภาวะนี้มักส่งผลให้ผู้ที่เป็นใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และเมื่อไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ หากเริ่มพบอาการที่เข้าข่ายภาวะนี้ ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)

เบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงส่งผลให้หลอดเลือดในจอประสาทตาบวม รั่ว เกิดการอุดตัน หรือส่งผลให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรงขึ้นมาบริเวณจอประสาทตา และเกิดการรั่วในภายหลัง

เบาหวานขึ้นตาในช่วงแรกมักไม่พบอาการผิดปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นสีต่าง ๆ ซีดลง มองเห็นจุดสีดำขนาดเล็กหรือวัตถุคล้ายหยากไย่ลอยไปมา 

ภาวะเบาหวานขึ้นตาอาจนำไปสู่ภาวะที่รุนแรงได้ในภายหลัง เช่น เลือดออกในวุ้นตา จอประสาทตาลอก ต้อหิน หรืออาจตาบอดได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เริ่มพบอาการของภาวะนี้ ควรเข้ารับการตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหินเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้เส้นประสาทตาได้รับความเสียหาย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้และไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ต้อหินมักไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ จนโรคมีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมองเห็นจุดบอดบริเวณขอบตา หรือหากมีอาการก็มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ปวดศีรษะและดวงตาขั้นรุนแรง มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นวงแหวนหรือแสงรุ้งรอบดวงไฟ คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งแพทย์มักตรวจพบโรคนี้ได้ขณะวัดความดันตาของผู้ป่วย

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคต้อหินมักจะมีอายุมากกว่า 40 ปี คนในครอบครัวมีประวัติเกิดโรคนี้ มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างมีสายตาสั้นหรือยาว เป็นเบาหวาน มีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นไมเกรน และใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ซึ่งควรไปตรวจสุขภาพดวงตาทุกปี

แม้ว่าผู้สูงอายุจะต้องพบกับความเสื่อมของดวงตาไปตามวัย แต่การเข้ารับการตรวจตาเป็นระยะและดูแลสุขภาพดวงตาจะช่วยให้พบความผิดปกติของดวงตาและแก้ไขได้ทัน รวมถึงการปรับพฤติกรรมชีวิตประจำวันบางอย่าง ก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก กินอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่