จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment)

ความหมาย จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment)

Retinal Detachment (จอประสาทตาลอก) คือ อาการที่จอประสาทตาหรือชั้นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่อยู่ด้านหลังดวงตาแยกออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาการนี้อาจทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดได้ ขึ้นอยู่กับว่าจอประสาทตาหลุดลอกออกมากน้อยเพียงใด โดยจอประสาทตามีหน้าที่แปลงภาพให้เป็นสัญญาณแล้วส่งไปยังสมอง เพื่อทำให้เรามองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ ดังนั้น จอประสาทตาลอกจึงถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรง และควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน

1807 Retinal Detachment rs

อาการของจอประสาทตาลอก

ผู้ป่วยภาวะนี้จะไม่มีอาการปวดใด ๆ แต่อาจมีบางอาการที่ปรากฏออกมาก่อนม่านตาจะลอกออก ดังนี้

  • ตามัว
  • สูญเสียการมองเห็นเป็นบางส่วน โดยมองเห็นภาพบางส่วนเป็นเงาสีดำ
  • มีความสามารถในการมองเห็นด้านข้างลดลง
  • มองเห็นจุดดำลอยไปมา และมองเห็นวัตถุคล้ายหยากไย่

สาเหตุของจอประสาทตาลอก

Retinal Detachment แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ดังนี้

Rhegmatogenous Retinal Detachment (จอประสาทตาลอกที่เกิดจากรูหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา)

เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด เกิดจากการมีรูหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา เมื่อเวลาผ่านไปจึงส่งผลให้จอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา เช่น ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ดวงตา หรือจอตาเสื่อม เป็นต้น

Tractional Retinal Detachment (จอประสาทตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้ง)

เกิดขึ้นเมื่อมีพังผืดบริเวณจอประสาทตาจนเกิดการดึงรั้งให้จอประสาทตาหลุดลอกออก ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรงได้ โดยพังผืดดังกล่าวอาจเกิดจากการอักเสบ การติดเชื้อ การผ่าตัด หรือการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา และอาการจอประสาทตาลอกชนิดนี้มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาอย่างรุนแรง หรือหลอดเลือดในจอประสาทตาเกิดความเสียหาย

Exudative Detachment (จอประสาทตาลอกที่ไม่มีรูขาด)

เกิดจากการมีของเหลวรั่วไหลออกจากหลอดเลือดในจอประสาทตาแล้วสะสมอยู่บริเวณใต้ชั้นจอตา ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคชนิดอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง โรคมะเร็งที่หลังจอประสาทตา ภาวะม่านตาอักเสบบางชนิด เป็นต้น

ทั้งนี้ Retinal Detachment สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจมีแนวโน้มเกิดกับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการมากกว่า เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีสายตาสั้นอย่างมาก ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยภาวะนี้ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา ผู้ที่เคยผ่าตัดต้อกระจกตา ผู้ที่เคยมีอาการนี้มาก่อน และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น

การวินิจฉัยจอประสาทตาลอก

ในเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามอาการ โรคประจำตัวของผู้ป่วย หรือประวัติสุขภาพของครอบครัว เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวกับการมองเห็นของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์อาจตรวจลักษณะดวงตาภายนอก และอาจใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจจอประสาทตา โดยแพทย์จะใช้เครื่องมืออย่าง Ophthalmoscope ซึ่งเป็นการใช้แสงไฟและเลนส์พิเศษที่มีความละเอียดสูงตรวจด้านหลังของดวงตาและจอประสาทตา วิธีนี้จะทำให้เเพทย์เห็นรอยฉีกและรูที่จอประสาทตาหรือวุ้นในตา
  • การอัลตราซาวด์ มักจะใช้เมื่อผู้ป่วยมีเลือดไหลในดวงตา เพราะแพทย์มองเห็นจอประสาทตาได้ยาก จึงต้องใช้การอัลตราซาวด์เพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ แพทย์มักตรวจดูดวงตาทั้ง 2 ข้าง ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการที่ดวงตาเพียงข้างเดียวก็ตาม ซึ่งหากตรวจแล้วไม่พบการฉีกขาดที่จอประสาทตา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือหากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นในภายหลัง ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที

การรักษาจอประสาทตาลอก

หากมีอาการ Retinal Detachment ผู้ป่วยมักต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการรักษาทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะและความรุนแรงของอาการ ดังนี้   

การฉายแสงเลเซอร์ (Photocoagulation)

แพทย์จะใช้แสงเลเซอร์ยิงผ่านตาเข้าไปยังรูม่านตา ซึ่งเลเซอร์อาจทำให้เกิดรอยไหม้รอบ ๆ จอประสาทตาแล้วเชื่อมจอประสาทตาให้ติดกับเนื้อเยื่อเหมือนเดิม

การใช้ความเย็นจี้บริเวณที่มีการฉีกขาดของจอตา (Cryopexy)

แพทย์จะใช้อุปกรณ์จี้จากภายนอกเข้าไปสู่บริเวณที่เกิดรอยโรคในดวงตา โดยความเย็นจะทำให้เกิดแผลเป็นที่ช่วยยึดจอประสาทตาให้ติดกันเหมือนเดิม

การฉีดแก๊ส (Retinopexy)

ใช้สำหรับผู้ป่วยที่จอประสาทตาฉีกขาดเพียงเล็กน้อย โดยแพทย์จะฉีดแก๊สเข้าไปในตา เพื่อดันให้จอประสาทตาที่หลุดลอกกลับเข้าสู่ผนังของดวงตาเช่นเดิม เมื่อจอประสาทตากลับเข้าที่เดิมแล้ว แพทย์จะใช้การอุปกรณ์จี้เย็นเพื่อช่วยปิดรูหรือรอยฉีกในบริเวณดังกล่าว

การผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy)

มักใช้กับผู้ป่วยที่มีจอประสาทตาฉีกขาดขนาดใหญ่ ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กเพื่อกำจัดหลอดเลือด เนื้อเยื่อ แผลเป็นที่มีความผิดปกติ และวุ้นในตาบางส่วน วิธีนี้อาจใช้คู่กับการรักษาด้วยการฉายแสงเลเซอร์ การฉีดแก๊ส หรือการผ่าตัดจอประสาทตาด้วย

การผ่าตัดจอประสาทตา (Scleral Buckling)

ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อปิดรูที่เกิดจากการฉีกขาดและลดแรงดึงของวุ้นตาที่มีต่อจอประสาทตา โดยจะใช้วัสดุมาหนุนที่รอบนอกของดวงตาเพื่อช่วยดันให้ผนังดวงตากลับมาติดกับจอประสาทตา ซึ่งแพทย์อาจใช้การเลเซอร์หรือการจี้ด้วยความเย็นช่วยปิดรอยฉีกขาดควบคู่ไปด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของจอประสาทตาลอก

ภาวะแทรกซ้อนของ Retinal Detachment อาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและความรวดเร็วในการรักษา โดยผู้ป่วยบางรายอาจหายดีได้โดยไม่เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาหากจอประสาทตาไม่ได้รับความเสียหาย แต่หากจอประสาทตาเสียหายและไม่ได้รับการรักษาในทันที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการมองเห็นไม่ชัดเจน หรือเกิดความบกพร่องทางการมองเห็นอย่างรุนแรงได้

การป้องกันจอประสาทตาลอก

ภาวะ Retinal Detachment นั้นป้องกันได้ยาก แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงได้หากปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ไปพบจักษุแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น เช่น มองเห็นเป็นแสงจ้า การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น 
  • เข้ารับการตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีสายตาสั้นอย่างมาก
  • สวมใส่แว่นสำหรับป้องกันดวงตาขณะทำกิจกรรมใด ๆ ที่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา เช่น การเล่นกีฬา การใช้เครื่องมือต่าง ๆ การใช้เครื่องจักร หรือขณะใช้สารเคมี เป็นต้น  

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่อาจส่งผลต่อดวงตา ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาจากแพทย์เป็นประจำ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมทั้งหมั่นรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมด้วย เพื่อให้เส้นเลือดในจอประสาทตาแข็งแรง