โรคซึมเศร้าในเด็ก กับสัญญาณสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรตระหนัก

โรคซึมเศร้าในเด็กเป็นสิ่งที่ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้เกิดขึ้นกับลูกของตนเอง เพราะอารมณ์โศกเศร้าหรือความรู้สึกหดหู่อาจนำไปสู่สถานการณ์ร้ายแรงได้ ซึ่งหากผู้ปกครองคิดว่าบุตรหลานอาจเข้าข่ายเป็นโรคนี้ก็ควรรีบช่วยเหลือเด็กแต่เนิน ๆ เพราะหากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมาได้ โดยผู้ปกครองควรสังเกตสัญญาณอาการของโรคซึมเศร้า เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้

2053 โรคซึมเศร้าในเด็ก rs

โรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร ?

โรคซึมเศร้า คือ ภาวะทางอารมณ์ที่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ซึ่งอารมณ์เหล่านี้จะคงอยู่ยาวนานมากกว่าปกติ จึงอาจส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง รวมทั้งอาจนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และปัญหาสุขภาพได้ โดยโรคนี้อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน เช่น อาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ อย่างโรคมะเร็งในเด็กและโรคลมชัก การสูญเสียอวัยวะ การเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีหรือมีปัญหาครอบครัว คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน การถูกกลั่นแกล้ง การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด เป็นต้น

สัญญาณอาการของโรคซึมเศร้าในเด็ก

อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ปกครองอาจสังเกตบุตรหลานของตนว่าเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ได้จากสัญญาณอาการดังต่อไปนี้

  • เด็กรู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวังเป็นเวลานาน
  • มีอาการหงุดหงิดหรือไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา
  • เลิกสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยชื่นชอบ
  • ทำกิจกรรมที่บ้าน กิจกรรมกับเพื่อน กิจกรรมที่โรงเรียน รวมถึงงานอดิเรกได้ไม่ดีเหมือนเดิม
  • รู้สึกอ่อนล้าหรือเหนื่อยตลอดเวลา
  • มีปัญหาในการนอนหลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ
  • ขาดสมาธิในการจดจ่อ และมีปัญหาที่โรงเรียน
  • มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวลดน้อยลง
  • มีความลังเลและขาดความมั่นใจในตัวเอง
  • เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากผิดปกติ
  • มีอาการป่วยอย่างปวดท้องหรือปวดศีรษะที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมาก
  • วิตกกังวล รู้สึกไม่ผ่อนคลาย หรือง่วงซึมมากกว่าปกติ
  • รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือมีความรู้สึกผิด
  • รู้สึกว่างเปล่า หรือไร้ความรู้สึก
  • ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง
  • ทำร้ายร่างกายตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างกรีดตามผิวหนังหรือใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด

วิธีรับมือกับโรคซึมเศร้าในเด็ก

หากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อาจขอรับคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิตโดยโทร 1323 หรือทำนัดหมายและพาผู้ป่วยเข้าพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก รวมถึงให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดจากนักบำบัดทางจิตเวช

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองเองก็เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อช่วยให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารับมือกับภาวะนี้ได้ ซึ่งอาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน นอนหลับให้เพียงพอ รวมถึงทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เพราะอาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้
  • คอยพูดคุยและรับฟังผู้ป่วยอยู่เสมอ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงรับฟังและทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร หากผู้ป่วยปฏิเสธการพูดคุยก็ควรแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองพร้อมจะอยู่เคียงข้างเด็กเสมอ หรืออาจโน้มน้าวให้ผู้ป่วยลองพูดคุยกับผู้ที่เด็กไว้วางใจแทน เช่น สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว เพื่อน ครู หรือคนรู้จักที่โรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ การพูดคุยกับผู้ที่สนิทกับผู้ป่วยก็อาจช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นได้
  • ควรใช้เวลาร่วมกับผู้ป่วยให้มากขึ้น โดยอาจทำกิจกรรมที่ช่วยให้ทั้งครอบครัวผ่อนคลายความเครียด อีกทั้งยังสร้างความสุขและความสนุกสนานได้ เช่น ไปเดินเล่น เล่นเกม ทำอาหารร่วมกัน หรือดูภาพยนตร์สนุก ๆ ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวอาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นแจ่มใสขึ้น และอาจจัดการกับความรู้สึกเศร้าได้ดีขึ้น
  • หากผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากโรคซึมเศร้าออกมาอย่างมีทีท่าไม่พอใจหรือหงุดหงิด ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียงหรือการใช้คำพูดที่รุนแรง แต่ควรใช้ความอดทนและความเข้าใจในการรับมือกับผู้ป่วยแทน เพราะหากผู้ปกครองและผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็อาจช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้านั้นดีขึ้นได้เช่นกัน
  • หากผู้ปกครองพบสัญญาณอันตรายของการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าในเด็ก ควรติดต่อสายด่วนสุขภาพจิตหรือรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กทันที เช่น แปรเปลี่ยนความรู้สึกเศร้าเป็นความสุขหรือสงบนิ่งอย่างรวดเร็ว พูดหรือคิดเรื่องความตายอยู่เสมอ อาการซึมเศร้าที่เด็กเป็นอยู่แย่ลง มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างการขับรถฝ่าไฟแดง แสดงความคิดว่าสิ้นหวัง ไร้หนทาง หรือไร้ค่า จัดการสิ่งต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว พูดว่าไม่มีชีวิตอยู่คงจะดีกว่าหรืออยากตาย มีสัญญาณของการจากลาอย่างไปเยี่ยมหรือติดต่อเพื่อนสนิทและคนที่รัก เป็นต้น