โรคซึมเศร้ากับอาการนอนไม่หลับ และการรับมืออย่างถูกวิธี

อาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมและทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจึงควรทราบถึงวิธีรับมือกับอาการนอนไม่หลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีและหายจากอาการซึมเศร้าได้เร็วยิ่งขึ้น

โรคซึมเศร้า(นอนไม่หลับ)

โรคซึมเศร้ากับอาการนอนไม่หลับเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

โรคซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับมีความเกี่ยวข้องกันในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมอง โดยมีงานวิจัยพบว่าโรคซึมเศร้านั้นทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ นอนไม่เต็มอิ่ม จนตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกไม่สดชื่นและรู้สึกง่วงนอนระหว่างวัน ในทางกลับกัน อาการนอนไม่หลับอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • อาการนอนไม่หลับส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงจนเกิดภาวะซึมเศร้า
  • อาการนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อระดับสารเคมีในสมองซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า
  • การนอนไม่หลับในเวลากลางคืนจะทำให้เกิดความคิดในแง่ลบมากขึ้นและกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมา

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับยังเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่นอนหลับสนิทถึง 10 เท่า ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เสี่ยงมีอาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น หากนอนหลับไม่เพียงพอ

นอนไม่หลับส่งผลต่อโรคซึมเศร้าอย่างไร ?

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม การนอนไม่หลับจะส่งผลให้อาการแย่ลง เพราะเมื่อร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ นาฬิกาชีวิต ของผู้ป่วยจะทำงานผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อารมณ์ และความคิดของผู้ป่วย ทั้งยังทำให้การรักษาโรคซึมเศร้าเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

วิธีรับมือกับอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ?

อาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยโรคนี้บรรเทาลงได้ หากได้รับการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง โดยแพทย์จะให้คำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ควบคู่ไปกับการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าเพื่อลดอารมณ์ซึมเศร้าหรือความรู้สึกสิ้นหวัง  นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตก็เป็นอีกทางหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับและอาการของโรคซึมเศร้าได้ มีวิธีดังต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้องนอน ห้องนอนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีอุณหภูมิเย็นพอดี เงียบสงบ และมืดสนิท จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์หรือการดูโทรทัศน์ก่อนนอน เพราะเสียงและแสงจากหน้าจอโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ในเวลาก่อนนอนอาจรบกวนการนอนจนทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
  • หลีกเลี่ยงการถูกรบกวนจากผู้อื่น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับหรือหลับยาก ควรบอกคนใกล้ชิดไม่ให้ส่งเสียงหรือเปิดไฟรบกวนในเวลานอนหลับ
  • ตื่นนอนและเข้านอนให้ตรงเวลา จะช่วยให้ผู้ป่วยมีวงจรการนอนหลับอย่างที่ควร ทั้งยังเป็นการฝึกวินัยในการนอนไปในตัว
  • หากิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้ ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเพลียและนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่มมากขึ้น
  • ออกไปสัมผัสแสงแดดในตอนเช้า การมีนาฬิกาชีวิตที่ผิดเพี้ยนเป็นสาเหตุสำคัญของอาการนอนไม่หลับและอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า การออกไปสัมผัสแสงแดดในตอนเช้าจะช่วยให้นาฬิกาชีวิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • ไม่ควรพยายามนอนต่อหากนอนไม่หลับ ในกรณีที่นอนไม่หลับ ผู้ป่วยไม่ควรฝืนนอนต่อ แต่ควรหากิจกรรมเบา ๆ ทำจนกว่าจะรู้สึกเหนื่อย แล้วค่อยกลับไปนอน
  • หลีกเลี่ยงการงีบหลับระหว่างวัน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับในเวลากลางคืนและมีวงจรการนอนหลับผิดเพี้ยนไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ทำให้ตื่นและไม่รู้สึกง่วง อีกทั้งอาจส่งผลให้ปวดศีรษะและนอนหลับได้ไม่สนิท
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นอาจช่วยให้นอนหลับได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้นอนหลับไม่สนิทและรู้สึกอ่อนล้าหลังตื่นนอน
  • อาบน้ำอุ่นก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

อาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นค่อนข้างอันตราย เนื่องจากการนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้อาการของโรคทวีความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น หากนอนไม่หลับ นอนไม่อิ่ม หรือตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดควรรีบปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์เกี่ยวกับวิธีแก้ไข เพื่อป้องกันความรุนแรงของอาการซึมเศร้าที่อาจเกิดตามมาและช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น