โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

ความหมาย โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคเล็ปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ โดยลักษณะอาการและความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งนี้ โรคฉี่หนูเป็นโรคที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้

เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคฉี่หนูเป็นเชื้อที่มักพบได้ในปัสสาวะของหนู หมู วัว สุนัข ควาย ม้า และสัตว์ป่า โดยโรคฉี่หนูเป็นโรคที่พบได้มากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงหลังน้ำท่วม เนื่องจากน้ำฝนและน้ำท่วมอาจทำให้เชื้อโรคของโรคฉี่หนูกระจายไปกับน้ำได้ง่าย

โรคฉี่หนู

อาการของโรคฉี่หนู

ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูแต่ละคนมักมีอาการแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่พบอาการใด ๆ ในขณะที่บางคนอาจพบอาการได้ โดยอาจแสดงอาการภายใน 4–7 วันหลังได้รับเชื้อ ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น

  • ไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • ตาแดง
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง น่อง และต้นคอ
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย 
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีผื่นขึ้น

จากนั้น เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการข้างต้นไปประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจพบว่าอาการเริ่มดีขึ้น แต่จะกลับมาเกิดอาการอีกครั้ง ซึ่งการเกิดอาการในระยะนี้ เป็นระยะที่รุนแรงและสามารถส่งผลกระทบถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง หัวใจ ตับ ไต หรือปอดได้ โดยลักษณะอาการที่มักพบในระยะนี้ ได้แก่

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เจ็บหน้าอก
  • ตาเหลือง
  • หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มือ เท้า หรือข้อเท้าบวม
  • ไอเป็นเลือด
  • มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ชัก

สาเหตุของโรคฉี่หนู

เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคฉี่หนูมีชื่อว่า เลปโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์  (Leptospira interrogans) ซึ่งมักพบได้ในสุนัขหรือสัตว์ตามฟาร์ม เช่น สุกร โค กระบือ รวมถึงสัตว์จำพวกหนู โดยการแพร่เชื้อสู่คนสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อดวงตา ปาก จมูก หรือร่างกายส่วนที่เป็นแผลสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ

นอกจากนี้ เชื้อที่มากับปัสสาวะสัตว์ซึ่งปนเปื้อนมากับน้ำ ดินที่เปียก หรือพืชผักต่าง ๆ ก็เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางอ้อมได้เช่นกัน เนื่องจากแบคทีเรียชนิดนี้สามารถไชเข้าสู่ร่างกายได้ทางเยื่อบุตา ปาก จมูกของคน รวมถึงรอยแผล รอยขีดข่วนทั้งหลาย หรือแม้แต่ผิวหนังปกติที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานจนอ่อนนุ่ม การย่ำดินโคลน แช่ในน้ำท่วม หรือว่ายน้ำ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้

หรือในบางกรณี การได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำ หรือการสูดหายใจอากาศที่ปนเปื้อนละอองนิวเคลียสของของเหลวที่มีเชื้อนี้ก็ทำให้ติดโรคได้ แต่มักพบได้น้อย 

ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ในภาวะต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคฉี่หนูสูง ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่

  • คนที่ทำงานฟาร์มปศุสัตว์หรือทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ สัมผัสเนื้อหรือมูลของสัตว์
  • คนแล่เนื้อหรือคนที่ทำงานกับสัตว์ที่ตายแล้ว
  • ชาวประมงที่หาสัตว์ตามแหล่งน้ำจืด
  • ผู้ที่อาบน้ำตามแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นแหล่งน้ำจืดทั้งหลาย
  • คนที่ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ พายเรือ แล่นเรือ ล่องแก่ง
  • สัตวแพทย์
  • พนักงานกำจัดหนู
  • พนักงานลอกท่อ
  • คนงานเหมือง
  • ทหาร
  • ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องสัมผัสน้ำหรือคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนาน ๆ

การวินิจฉัยโรคฉี่หนู

ในการวินิจฉัยโรคฉี่หนู เริ่มแรกแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นและซักถามประวัติผู้ป่วย เช่น เพิ่งกลับมาจากการเดินทาง เล่นกีฬาทางน้ำ มีการสัมผัสกับแหล่งน้ำจืด มีอาชีพที่ต้องทำงานกับสัตว์ หรือเคยพักหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคฉี่หนูหรือไม่

หากแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการติดเชื้อจากโรคฉี่หนู แพทย์อาจส่งตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเพื่อผลการวินิจฉัยที่แน่ชัด ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคชนิดรุนแรง อาจต้องใช้การวินิจฉัยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับและไตเพิ่มเติม

การรักษาโรคฉี่หนู

ผู้ป่วยโรคฉี่หนูบางคนอาจไม่พบอาการรุนแรงและหายดีได้เอง หรืออาจเพียงรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลิน (Penicillin) หรือดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นระยะเวลา 5–7 วัน ซึ่งควรต้องรับประทานตามกำหนดให้ครบถ้วนแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด และป้องกันการกลับไปติดเชื้ออีกครั้ง

หรือบางกรณี นอกเหนือจากยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดอย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการปวดศีรษะ มีไข้ และปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย

ในขณะที่ผู้ป่วยโรคฉี่หนูแบบรุนแรงจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาล และรักษาอาการติดเชื้อด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าไปในกระแสเลือดโดยตรง และหากมีอวัยวะใด ๆ ที่เสียหายจากการติดเชื้อ จนไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ หรือหากติดเชื้อที่ไต แพทย์ก็อาจต้องใช้การล้างไตเข้าช่วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่บางรายอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะของผู้ป่วย รวมถึงความเสียหายต่ออวัยวะที่ติดเชื้อ

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้ออาจแพร่ไปสู่ทารกในครรภ์และส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการของโรคฉี่หนูจึงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฉี่หนู

ภาวะแทรกซ้อนทีพบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคฉี่หนูชนิดรุนแรง คือภาวะไตวายเฉียบพลัน และบางคนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หาดเกิดภาวะเกี่ยวกับปอดที่ร้ายแรง อย่างการมีเลือดออกในปอด 

นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • การแท้งในหญิงตั้งครรภ์
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ตับวาย 
  • ภาวะแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด
  • มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • กล้ามเนื้อลายสลายตัว
  • โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ
  • ภาวะฉุกเฉินของทางเดินหายใจในผู้ใหญ่
  • ความดันโลหิตต่ำ 
  • โรคหลอดเลือดในสมอง เลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หลอดเลือดสมองอักเสบ
  • โรคคาวาซากิ
  • อาการแพ้ที่ทำให้มีไข้หรือเกิดผื่นที่ขา
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ภาวะหัวใจวาย 

การป้องกันโรคฉี่หนู

ในการป้องกันโรคฉี่หนู สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือการเดินลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรค หรือควรสวมใส่รองเท้าบูตป้องกันทุกครั้งหากมีความจำเป็น
  • หมั่นตรวจแหล่งน้ำและดินทรายที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน และควรระบายน้ำตามท่อระบายออก แล้วล้างเพื่อกำจัดน้ำที่ปนเปื้อน
  • ส่งเสริมการป้องกันโรคแก่ผู้ที่ทำอาชีพที่มีความเสี่ยงทั้งหลาย โดยให้สวมถุงมือยางหรือรองเท้าบูต
  • ควบคุมและกำจัดหนูตามบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
  • แยกสัตว์ที่ติดเชื้อออกจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ และบริเวณที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู โดยเลือกฉีดวัคซีนซีโรวาร์ (Serovars) สำหรับป้องกันเชื้อฉี่หนูชนิดที่พบได้บ่อยตามท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้ แม้การฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคฉี่หนู แต่ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อทางปัสสาวะได้