รวมสัญญาณอาการโรคฉี่หนู ภัยร้ายหน้าฝนหน้าที่รักษาได้

โรคฉี่หนูเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน แม้อาการโรคฉี่หนูจะคงอยู่เพียงไม่กี่วันไปจนถึงหลายสัปดาห์ หรืออาจไม่มีอาการปรากฏขึ้นเลยในบางราย แต่หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาการอาจทวีความรุนแรงและต้องใช้เวลาในการรักษาตัวนานหลายเดือน

โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) ที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด อาทิ หนู สุนัข สุกร วัว หรือควาย โดยติดต่อสู่คนผ่านการสัมผัสกับปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะ การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และการสูดหายใจเอาละอองปัสสาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย

โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีรอยขีดข่วน รอยแผล ผิวหนังที่เปื่อยจากการแช่น้ำ รวมไปถึงผ่านทางตา จมูก หรือปาก และอาจติดต่อจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการให้นมบุตรได้ แต่จะพบได้น้อยมาก

Woman,Walking,On,Flooding,Road,With,Holding,Shoes,After,The

อาการโรคฉี่หนู มีอะไรบ้าง

ผู้ป่วยจะแสดงอาการภายในระยะเวลา 2–30 วันหลังได้รับเชื้อแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพบภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งอาการของโรคนี้มีตั้งแต่ไม่แสดงอาการเลย อาการเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงจนอันตรายถึงชีวิต

โดยอาการโรคฉี่หนูในระยะแรกหรือ 4–7 วันแรกจะเป็นอาการกว้าง ๆ และไม่รุนแรงนัก เช่น มีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง หลัง และต้นคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดงที่มักพบใน 3 วันแรก ตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็งหรือความดันต่ำในผู้ป่วยอาการรุนแรง รวมถึงอาการที่พบได้น้อย อย่างอาการบวมโตของต่อมน้ำเหลือง ตับ และม้าม

ทว่าหากขยับเข้าสู่ระยะที่สอง ผู้ป่วยจะเริ่มสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรคฉี่หนู สังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้มาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะมีช่วงไข้ลด 1–2 วัน แล้วกลับมามีไข้ขึ้นอีกครั้ง

อาการโรคฉี่หนูในระยะที่สองนี้จะเกี่ยวข้องกับอวัยวะอย่างตับ ไต หัวใจ ปอด และสมอง เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับวาย ไตวาย มีปัญหาในการหายใจ ไอ มีเลือดออกภายในปอด มีปัญหาหัวใจ อย่างกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือหัวใจวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ทว่าผู้ป่วยในระยะนี้มีเพียง 5–15%

อาการโรคฉี่หนู รักษาได้ไหม

หลายคนอาจสงสัยว่า อาการโรคฉี่หนูนั้นรักษาได้หรือไม่ คำตอบคือโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียให้ผู้ป่วยใช้ในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ในกรณีที่ปวดกล้ามเนื้อหรือมีไข้ก็อาจจ่ายเป็นยาแก้ปวดร่วมด้วย อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาพาราเซตามอล

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการฉีดยาทางหลอดเลือดดำ อย่างยาเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) หรือกลุ่มยาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่สาม (Cephalosporins) และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในสถานพยาบาล หากโรคฉี่หนูนั้นรุนแรงจนส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมอื่น ๆ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือยาเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการโรคฉี่หนูอาจคล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างไข้หวัดได้ ผู้ที่มีอาการเข่าข่ายโรคฉี่หนู โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นหลังจากตากฝนหรือเดินลุยน้ำท่วมขังนาน ๆ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน และรับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว