รู้จักอาการแพ้นมวัว และแนวทางป้องกันรักษา

นมวัวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากมาย แต่ก็มีเด็กและผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่แพ้นมวัว โดยหลังการรับประทานนมวัวอาจมีอาการปวดท้อง เกิดผื่นคัน หายใจลำบาก และบางคนอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต หากทราบถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันอาการแพ้นมวัวก็จะสามารถป้องกันการเกิดอาการได้

นมเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตที่พบได้บ่อยรองจากถั่วลิสงและถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ ควรสังเกตตนเองหรือลูกว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นหลังจากดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมจากนมวัวหรือไม่ หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ แม้ว่าจะไม่ร้ายแรง ก็ควรไปพบแพทย์และทำการทดสอบอาการแพ้

อาการแพ้นมวัว

อาการแพ้นมวัวเป็นอย่างไร

อาการแพ้นมวัวต่างกับภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ซึ่งแล็กโทสเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบในนมวัว เมื่อร่างกายไม่สามารถย่อนเอนไซม์นี้ได้หมด จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียตามมาหลังการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมได้ ในขณะที่อาการแพ้นมวัวจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าอาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส

ในเด็กอ่อน อาการแพ้นมวัวที่พบได้มีทั้งเล็กน้อยจนถึงรุนแรง คือ ปวดท้อง อาเจียน มีผื่นลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง ไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หน้าบวม และอาจมีอาการท้องเสีย มีเลือดออกทางทวารหนัก ร้องไห้ไม่ยอมหยุด อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายไปก็ต่อเมื่อให้เด็กหยุดดื่มนมสูตรนี้เท่านั้น

ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการแพ้นมวัวและความรุนแรงของอาการในแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนแพ้ทันทีหลังการดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ เช่น มีลมพิษ หายใจมีเสียงหวีด หรืออาเจียน แต่บางคนอาจแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง โดยมีอาการอุจจาระเหลว อาจมีเลือดปน ท้องเสีย เป็นตะคริวที่ช่องท้อง ไอ หายใจมีเสียงหวีด น้ำมูกน้ำตาไหล มีผดผื่นคัน ซึ่งพบบ่อยบริเวณรอบปาก

ทั้งนี้ บางคนอาจอาการแพ้อาจรุนแรงจากการแพ้นมวัว เช่น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงจนปิดกั้นการหายใจ หรือคอบวมจนหายใจลำบาก หน้าแดง อาการคัน และเกิดภาวะช็อกเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

แพ้นมวัวเกิดจากอะไร

อาการแพ้อาหารเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โดยร่างกายคิดว่าโปรตีนจากนมเป็นสารอันตราย จึงกระตุ้นการผลิตสารแอนติบอดี้ชนิด Immunoglobulin E (IgE) ขึ้นเพื่อป้องกันร่างกาย ฉะนั้นครั้งต่อไปที่ร่างกายได้รับโปรตีนชนิดนี้ แอนติบอดี้ IgE จะเกิดปฏิกิริยาและส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮีสทามีนและสารเคมีอื่น ๆ จนเกิดเป็นอาการแพ้

โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้มี 2 ชนิดหลัก คือ โปรตีนเคซีนที่พบได้จากนมในส่วนที่เป็นไขนมข้นแข็ง และโปรตีนเวย์ซึ่งพบในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากนมจับตัวเป็นไขแล้ว

ตรวจหาอาการแพ้นมวัวได้อย่างไร

การตรวจหาสาเหตุของอาการแพ้ อาจยุ่งยากแต่สามารถทำได้ โดยขั้นต้นแพทย์มักสอบถามถึงรายละเอียดของสัญญาณอาการแพ้ ตรวจร่างกาย และสอบถามว่ารับประทานอะไรเข้าไปบ้าง จากนั้นอาจให้คนไข้ลองงดรับประทานนม แล้วกลับมารับประทานอีกครั้ง เพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาแพ้หรือไม่

นอกจากวิธีการข้างต้น ยังมีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Test) นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาภูมิแพ้ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงนำเข็มที่สัมผัสกับน้ำนมวัวมาสะกิดที่ผิวหนัง หากมีอาการตุ่มลมพิษขึ้นบริเวณนั้นก็สันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วยแพ้นมวัว

การทดสอบภูมิแพ้อีกวิธีหนึ่งคือการตรวจเลือด เพื่อดูการตอบสนองต่อนมวัวของระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการวัดจำนวนแอนติบอดี้ Immunoglobulin E (IgE) ในเลือด หากวิธีเหล่านี้ยังไม่ได้ผล แพทย์จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดต่าง ๆ ทั้งที่มีนมและไม่มีนมเป็นส่วนประกอบ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสังเกตอาการแพ้

แนวทางการรักษาการแพ้นมวัว

วิธีเดียวที่จะช่วยป้องกันการแพ้นมได้คือ เลี่ยงการรับประทานนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนจากนมวัวทุกชนิด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่แพ้นมวัวอาจไม่แพ้นมที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น นมที่เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ผ่านการอบ หรือโยเกิร์ตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง

ในกรณีที่เผลอรับประทานอาหารจากนมวัวจนมีอาการแพ้ หากไม่รุนแรงมากอาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) หรือเซทิริซีน (Cetirizine) 

ส่วนผู้ที่มีอาการหายใจลำบากหรือเผชิญอาการแพ้รุนแรงอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องใช้การฉีดยาแบบฉุกเฉินด้วยตัวยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ซึ่งเด็กที่เสี่ยงมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ปกครองอาจต้องพกยาอิพิเนฟรินชนิดฉีดติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อแพ้นมวัว

การแพ้นมวัวก็เหมือนการแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ด้วยการหลีกเลี่ยงนมและอาหารที่ประกอบจากนม ซึ่งจะช่วยลดความกังวลใจในการเกิดอาการแพ้ ซึ่งอาหารจากนมวัวที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  • นมวัวทุกชนิด รวมถึงนมผง นมจากมอลต์ นมข้นจืด และหางนม
  • เนย ไขมันเนย ชีส อาหาที่ประกอบด้วยชีส และมาการีน
  • ครีม ซาวร์ครีม (Sour Cream) ครีมเทียม น้ำสลัด
  • ขนมหวาน เช่น ซีเรียล ขนมปัง คุกกี้ แครกเกอร์ เค้ก คัสตาร์ด พุดดิ้ง ไอศกรีม ไอศกรีมเชอร์เบท เจลาโต้ หมากฝรั่ง ลูกอมนม ช็อกโกแลต และคาราเมล
  • เนื้อแปรรูป เนื้อบรรจุกระป๋อง 
  • สารแต่งกลิ่นเนย สารแต่งกลิ่นชีส

สำหรับผู้ที่แพ้นมวัวควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน พยายามสอบถามถึงส่วนประกอบที่นำมาปรุงทุกครั้ง เพราะแม้จะเป็นเพียงเนยที่ทาบนสเต๊ก หรืออาหารที่ปรุงด้วยการนำไปจุ่มนม ก็อาจทำให้แพ้ได้

ไม่เพียงเท่านี้ การอ่านฉลากอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรมองหาคำที่บ่งบอกถึงส่วนประกอบจากนม เช่น คาเซอีน เวย์ แลคโตเฟอร์ริน แลคโตโกลบูลิน แลคตัลบูมิน หรือสังเกตส่วนผสมที่สะกดขึ้นต้นด้วยคำว่าแลค เช่น แลคโตส แลคเตท 

ผู้ที่แพ้นมวัวสามารถดื่มนมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์ นมข้าว และนมมะพร้าวที่มีคุณค่าทางสารอาหาร หรือรับประทานอาหารอื่น ๆ เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแลต หรือโยเกิร์ตที่ไม่ผสมนมวัวได้

สำหรับคุณแม่ นมแม่คือแหล่งสารอาหารที่ดีที่สุดของทารก การให้นมในระยะ 4–6 เดือนแรกแทนการใช้นมผสมจากนมวัว อาจช่วยปกป้องและลดความเสี่ยงต่อการแพ้นมวัวของลูกน้อยในอนาคตได้สูง แต่หากลูกมีอาการแพ้นมวัวและคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกที่แพ้นมวัวเองได้ คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มนมอื่นนอกจากนมที่ผสมจากนมวัว ดังนี้

นมสำหรับเด็กที่ทำจากถั่วเหลือง (Soy-based Formulas)

นมสูตรที่ใช้โปรตีนจากถั่วเหลืองแทนนมถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะในนมถั่วเหลืองเต็มไปด้วยสารอาหารครบถ้วนไม่แพ้นมวัว และมีการเติมแคลเซียมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนที่แพ้นมวัวอาจมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้นมถั่วเหลืองตามไปด้วย

นมสำหรับเด็กแพ้นม (Hypoallergenic Formulas) 

นมสูตรนี้เป็นนมทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง ซึ่งผลิตโดยใช้เอนไซม์สลายโปรตีนนม เช่น โปรตีนเคซีนหรือโปรตีนเวย์ บางครั้งอาจใช้ความร้อนหรือการคัดกรองในกระบวนการผลิต และบางสูตรที่ไม่ใช้นมแต่ใช้กรดอะมิโนแทน จึงมีโอกาสน้อยมากที่ทารกจะแพ้นมสูตรนี้

สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูกที่แพ้นมวัวต้องระมัดระวังการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทุกประเภทไปด้วย เพราะโปรตีนจากนมวัวนั้นสามารถไหลผ่านน้ำนมไปสู่ลูกได้ ซึ่งการที่แม่ไม่ได้รับประทานนมวัวอาจเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียมและสารอาหารที่ควรได้รับจากนม

แม่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ เช่น ปลาแซลมอน เต้าหู้ บร็อคโคลี่ ถั่วเหลือง นมถั่วเหลืองที่เติมแคลเซียม และอัลมอนด์ หากต้องการรับประทานอาหารเสริมแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินบี 2 ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ