Anaphylaxis อาการแพ้รุนแรง อันตรายถึงชีวิต

Anaphylaxis เป็นอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลันเมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นบางอย่างจากอาหาร ยาบางชนิด แมลงสัตว์กัดต่อยหรือสารอื่น ๆ ซึ่งคนที่เกิดอาการแพ้แบบ Anaphylaxis จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะการตอบสนองอย่างรุนแรงของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

ร่างกายของผู้ที่มีอาการแพ้แบบ Anaphylaxis จะตอบสนองต่อสารที่แพ้ไวกว่าคนทั่วไป ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผลิตสารเคมีบางตัวเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว อยู่ในภาวะช็อค และหลอดลมตีบ โดยคนที่เคยเกิดอาการแพ้นี้แล้วจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการซ้ำในอนาคตมากกว่าคนทั่วไป 

Anaphylaxis อาการแพ้รุนแรง อันตรายถึงชีวิต

อาการแพ้แบบ Anaphylaxis เป็นแบบไหน

อาการแพ้ Anaphylaxis อาจเริ่มแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในทันทีหรือประมาณ 30 นาทีหลังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และอาการแพ้อาจรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมักพบอาการต่อไปนี้

  • ไอ เสียงแหบ
  • ริมฝีปากหรือลิ้นบวม น้ำลายไหล
  • คอบวม พูดหรือกลืนลำบาก รู้สึกแน่นบริเวณลำคอ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • หายใจลำบากหรือหายใจไม่สุด หายใจมีเสียงหวีด
  • วิตกกังวล มึนงง เวียนหัว หน้ามืด หรือหมดสติ
  • ตัวเย็น ผิวหนังบวม เป็นผื่นแดง ลมพิษ หรือคัน
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
  • ชีพจรแผ่ว หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก

ทำอย่างไรเมื่อมีอาการแพ้แบบ Anaphylaxis

หากสังเกตเห็นว่าตนเองหรือผู้ที่ใกล้ชิดมีอาการแพ้แบบ Anaphylaxis ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. หากผู้ป่วยมียาอะดรีนาลิน (Adrenaline Autoinjector) จะต้องฉีดให้ผู้ป่วยทันทีหลังเริ่มแสดงอาการ และหากผู้ป่วยหายใจลำบาก ควรให้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการหลอดลมตีบ
  2. โทรเรียกรถพยาบาลเพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งห้องฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด
  3. จับให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนราบ คลายเสื้อผ้าออก และห่มด้วยผ้าห่มแทน
  4. ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำโดยเด็ดขาด หากอาเจียนหรือมีเลือดออกในช่องปาก ควรจับให้ผู้ป่วยนอนท่าตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก
  5. หากอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาอะดรีนาลินภายใน 5 นาที ให้ฉีดเข็มที่ 2 เพิ่ม
  6. หากผู้ป่วยนิ่ง ไม่ไอ ไม่หายใจ หรือหมดสติ ควรทำ CPR ให้ผู้ป่วยทันที

อย่างไรก็ตาม เราอาจป้องกันการเกิด Anaphylaxis ได้ด้วยการระมัดระวังการได้รับสารก่อภูมิแพ้ที่อาจกระตุ้นให้เกิด Anaphylaxis เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกแมลงกัดต่อยเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งด้วยการไม่เดินเท้าเปล่า สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ไม่ตื่นตระหนกเมื่ออยู่ใกล้แมลง และไม่ฉีดน้ำหอมที่มีกลิ่นแรงจนเกินไป 

หากแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้ยา หรือหากแพ้อาหาร ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน เพื่อดูว่ามีส่วนผสมของวัตถุดิบที่แพ้หรือไม่ สอบถามร้านอาหารถึงวัตถุดิบและการเตรียมอาหารโดยละเอียด รวมทั้งควรพกยาอะดรีนาลินติดตัวอยู่เสมอสำหรับคนที่เคยมีอาการแพ้ Anaphylaxis เพื่อความปลอดภัย เพราะแม้จะระมัดระวังมากเพียงใด ผู้ป่วยก็อาจได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน