แครนเบอร์รี่ ดีต่อสุขภาพจริงหรือ ?

แครนเบอร์รี่ เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่เชื่อว่าอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ บรรเทาอาการไข้หวัด รักษาโรคติดเชื้อบางชนิด และยับยั้งการติดเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหาร

แครนเบอร์รี่

แครนเบอร์รี่เป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่หลากชนิด ทั้งวิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค1 แมงกานีส และทองแดง ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังอุดมไปด้วยสารชีวภาพหลายชนิดที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่น เควอซิทิน (Quercetin) พีโอนิดิน (Peonidin) ไมริซิทิน (Myricetin) กรดเออร์โซลิก (Ursolic Acid) และโปรแอนโทไซยานิดิน ชนิดเอ (A-type Proanthocyanidins) นอกจากนี้ แครนเบอร์รี่ยังมีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาแอสไพรินที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการบวม ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และอาจช่วยต้านเซลล์มะเร็งได้ แต่หากบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่เป็นประจำ ก็อาจส่งผลให้ระดับกรดซาลิไซลิกในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้ จนเสี่ยงเกิดนิ่วในไต

ส่วนคำกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของแครนเบอร์รี่นั้นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับแครนเบอร์รี่ไว้ ดังนี้

แครนเบอร์รี่กับประโยชน์ต่อโรคหัวใจ

โรคหัวใจมักเกิิดจากการสะสมของไขมันภายในหลอดเลือดแดง ทำให้เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันและหลอดเลือดภายในอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหายจนเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ แครนเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระหลากชนิด จึงเชื่อว่าการบริโภคแครนเบอร์รี่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจด้วย โดยการศึกษาทดลองในมนุษย์พบว่า น้ำแครนเบอร์รี่หรือสารสกัดจากแครนเบอร์รี่อาจมีประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น ช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับความดันโลหิตและลดความแข็งตึงของหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงลดระดับโฮโมซีสเตอีน ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ

แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ แต่งานค้นคว้าอีกส่วนหนึ่งกลับแสดงผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของแครนเบอร์รี่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัย ปริมาณ และระยะเวลาในการบริโภคที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจบริโภคแครนเบอร์รี่เพื่อหวังประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูง หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ

แครนเบอร์รี่กับการบรรเทาอาการไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรงที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก ไซนัส คอ ทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล หลายคนเชื่อว่าการรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวอย่างแครนเบอร์รี่ช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากไข้หวัดได้ จากการศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่ปริมาณ 450 มิลลิกรัม เป็นประจำทุกวัน อาจช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดได้ เนื่องจากแครนเบอร์รี่ประกอบด้วยสารพอลีฟีนอลและสารโปรแอนโทไซยานิดินที่อาจเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าดังกล่าวเป็นงานทดลองขนาดเล็ก จึงควรศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลที่ชัดเจนของแครนเบอร์รี่ในด้านนี้ต่อไปในอนาคต

แครนเบอร์รี่กับการต้านเชื้อเอชไพโลไร

เชื้อเอชไพโลไรเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร และการติดเชื้อเอชไพโรไลในผู้ป่วยบางรายอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ในทางการแพทย์คาดว่าแครนเบอร์รี่อาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อเอชไพโลไร โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่เป็นประจำทุกวันช่วยยับยั้งการติดเชื้อเอชไพโลไรในผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดนี้ได้

แครนเบอร์รี่กับการป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไล (E. Coli) ที่เพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าสารประกอบในแครนเบอร์รี่จะช่วยป้องกันแบคทีเรียเหล่านั้นจากการเกาะตัวตามผนังกระเพาะปัสสาวะจนเกิดการติดเชื้อได้ แต่การศึกษาวิจัยจำนวน 24 ชิ้น ได้ชี้ให้เห็นว่า โดยส่วนใหญ่การบริโภคแครนเบอร์รี่ชนิดเม็ดหรือแคปซูล และน้ำแครนเบอร์รี่ไม่อาจช่วยป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ โดยอาจเป็นเพราะสารต่าง ๆ ในแครนเบอร์รี่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ อีกทั้งการบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายด้วย

รับประทานแครนเบอร์รี่อย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

การรับประทานแครนเบอร์รี่ในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ปริมาณมาก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการปวดท้องหรือท้องเสียได้เล็กน้อย หรือหากดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ปริมาณมากกว่าวันละ 1 ลิตร ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย

บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานแครนเบอร์รี่เป็นพิเศษ

  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานแครนเบอร์รี่ เนื่องจากยังมีข้อมูลด้านความปลอดภัยไม่เพียงพอ จึงควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร
  • เด็ก การรับประทานหรือดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็ก
  • ผู้ที่แพ้ยาแอสไพริน ห้ามรับประทานหรือดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ในปริมาณมาก เนื่องจากแครนเบอร์รี่ประกอบไปด้วยกรดซาลิไซลิก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาแอสไพริน ทำให้ผู้ที่แพ้ยาแอสไพรินเสี่ยงเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ จากการบริโภคแครนเบอร์รี่ได้เช่นกัน
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาวาร์ฟาริน อาจต้องปรับปริมาณยาที่ใช้อยู่และไปตรวจเลือดเป็นประจำ เพราะแครนเบอร์รี่อาจขยายระยะเวลาที่ยาวาร์ฟารินอยู่ในร่างกาย และทำให้เกิดแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย
  • ผู้ป่วยเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และผู้ที่มีกรดในกระเพาะต่ำ เพราะแครนเบอร์รี่อาจกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี12 เพิ่มมากขึ้น หากร่างกายมีวิตามินบี12 มากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีผื่นคัน คลื่นไส้ ท้องเสีย ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยนิ่วในไต รวมถึงผู้ที่เคยเป็นนิ่วในไต ไม่ควรดื่มน้ำแครนเบอร์รี่หรือบริโภคสารสกัดจากแครนเบอร์รี่ในปริมาณมาก เนื่องจากแครนเบอร์รี่มีสารออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งเมื่อสารนี้จับตัวกับแคลเซียม อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในไตได้
  • ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำแครนเบอร์รี่บางชนิดมีส่วนผสมของน้ำตาลปริมาณมาก จึงควรเลือกน้ำแครนเบอร์รี่ที่มีน้ำตาลน้อย หรือมีสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล