แก้วมังกร ผลไม้ต้านโรค บำรุงสุขภาพ

แก้วมังกร ผลไม้รูปร่างสะดุดตาที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณบำรุงร่างกาย เพราะเป็นแหล่งวิตามินซี ใยอาหาร ธาตุเหล็ก และสารพฤกษเคมีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเชื่อว่าแก้วมังกรอาจมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น

แก้วมังกร

แก้วมังกรเป็นผลไม้อีกชนิดที่คนชื่นชอบและรับประทานกันอย่างแพร่หลาย แต่เดิมมีถิ่นกำเนิดแถบเม็กซิโกใต้และอเมริกากลาง ในประเทศไทยนิยมรับประทานแก้วมังกรเนื้อสีขาวขุ่นและเนื้อสีแดงอมม่วง แก้วมังกรยังเป็นผลไม้ฤทธิ์เย็นตามศาสตร์แพทย์แผนจีนด้วย โดยมีน้ำตาลไม่มากนัก ให้พลังงานต่ำเพียง 50-60 กิโลแคลอรี่/100 กรัม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือน้ำตาลในเลือด

จากความเชื่อและสารโภชนาการในแก้วมังกรที่อาจทำให้สรรพคุณทางสุขภาพด้านต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างมีความเป็นไปได้ จึงเริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลไม้ชนิดนี้ในด้านการรักษาและป้องกันโรค โดยมีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนเกี่ยวกับข้อพิสูจน์ถึงคุณสมบัติของแก้วมังกร ดังนี้

ต้านอนุมูลอิสระ

สารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการบริโภคอาหารประเภทพืชผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายซึ่งช่วยป้องกันโรคและการเจ็บป่วยบางชนิดได้ และแก้วมังกรก็เป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น สารบีตาเลน (Betalains) สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) หรือสารไฮดรอกซีซินนาเมท (Hydroxycinnamates) ทำให้หลายคนหันมารับประทานแก้วมังกรมากขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพและการต้านโรค

จากการค้นคว้าคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของแก้วมังกร มีการศึกษาหนึ่งทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากเนื้อแก้วมังกรในหนูทดลองที่เป็นเบาหวานเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เพื่อดูระดับสารมาลอนไดอัลดีไฮด์ (Malondialdehyde) ในเลือด หากมีสารนี้ในปริมาณสูงแสดงว่าร่างกายมีสารอนุมูลอิสระอยู่มาก หลังจบการทดลองพบว่าระดับสารดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากแก้วมังกรทดลองกับเซลล์มะเร็งเต้านมที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการและได้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันว่าสารสกัดจากแก้วมังกรมีประสิทธิผลในการต้านเซลล์มะเร็งได้

แม้ข้อมูลข้างต้นพบว่าแก้วมังกรอาจช่วยเสริมสร้างสารต้านอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกายและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคต่าง ๆ แต่การศึกษาเหล่านั้นเป็นเพียงการทดลองกับสัตว์และกับตัวอย่างเซลล์ในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการบริโภคแก้วมังกรจะให้ผลเช่นเดียวกันในคนหรือไม่ ซึ่งควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

ป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากกระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดทำงานผิดปกติหรือไม่ได้ประสิทธิภาพ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมและเสี่ยงเผชิญโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ โดยการควบคุมอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นได้

มีการกล่าวอ้างถึงสรรพคุณต้านโรคเบาหวานของแก้วมังกรเช่นกัน เพราะเชื่อกันว่าผลไม้ชนิดนี้ช่วยรักษาสมดุลการทำงานของฮอร์โมนหลายตัวที่มีผลช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดไขมัน อีกทั้งยังขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้พลังงานต่ำและมีน้ำตาลน้อย โดยข้อมูลจากหลายงานวิจัยในปัจจุบันที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้แก้วมังกรเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเกินกว่าปกติ พบว่าแก้วมังกรช่วยลดระดับน้ำตาลในผู้ที่มีระดับน้ำตาลเกินกว่าปกติเท่านั้น แต่กลับไม่พบความเปลี่ยนแปลงในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแต่อย่างใด

ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ มักเป็นการทดลองในสัตว์ โดยมีตัวอย่างการทดลองหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิผลของน้ำแก้วมังกรเนื้อสีขาวต่อความไวต่ออินซูลินในหนูทดลอง หลังทดลองเป็นเวลา 14 สัปดาห์ ผลพบว่าน้ำแก้วมังกรช่วยบรรเทาภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เกิดจากการได้รับอาหารไขมันสูงในหนูทดลอง แต่ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวก็ไม่เพียงพอจะสรุปได้ว่าแก้วมังกรจะให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันในคนด้วยหรือไม่ จึงควรมีการค้นคว้าวิจัยในด้านนี้ต่อไป โดยศึกษาทดลองในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อให้ทราบประสิทธิภาพที่แท้จริงของแก้วมังกรซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป

ป้องกันภาวะเมตาบอลิกซินโดรม

อ้วนลงพุงเป็นอาการหนึ่งที่พบในกลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ผิดปกติ และเกิดไขมันส่วนเกินรอบเอว

เนื่องจากแก้วมังกรมีสารอาหารเป็นประโยชน์ มีน้ำตาลต่ำ และยังมีการค้นคว้าที่พบว่าแก้วมังกรช่วยลดไขมัน เพิ่มความไวต่ออินซูลิน และต้านอนุมูลอิสระได้ จึงคาดว่าการบริโภคผลไม้ชนิดนี้อาจส่งผลดีต่อการป้องกันและรักษาอาการในภาวะเมตาบอลิกซินโดรมอย่างการอ้วนลงพุงได้ด้วย

แม้การวิจัยที่สนับสนุนด้านนี้ยังมีจำกัด แต่มีการทดลองในสัตว์ที่อาจใช้เป็นแนวทางในการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เช่น การวิจัยโดยใช้สารสกัดจากแก้วมังกรในหนูทดลองซึ่งมีภาวะอ้วนจากการกินอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูงเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดจากแก้วมังกรส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาล โดยช่วยให้ค่าเอนไซม์ตับบางค่าลดลง แต่กลับทำให้เส้นรอบเอวเพิ่มขึ้นและไม่ส่งผลต่อการลดระดับไขมันรวม ในขณะที่การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าหนูทดลองที่ได้รับอาหารไขมันสูงและสารสกัดบีตาเลนจากแก้วมังกร 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมเป็นเวลา 14 สัปดาห์ มีน้ำหนักตัวที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก รวมทั้งมีไขมันในช่องท้อง ภาวะไขมันเกาะตับ และภาวะดื้ออินซูลินลดลงด้วย

แม้ผลการค้นคว้าบางงานข้างต้นแสดงถึงสรรพคุณของแก้วมังกรที่อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง แต่ก็ไม่สามารถสรุปคุณสมบัติของแก้วมังกรในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน และควรศึกษาเพิ่มเติมโดยทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการบริโภคแก้วมังกรในคน สำหรับผู้ที่รักสุขภาพหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ชัดเจน เพื่อช่วยชะลอการเกิดอาการป่วย และช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความปลอดภัยในการบริโภคแก้วมังกร

แม้ว่าแก้วมังกรเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และงานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงถึงสรรพคุณทางการรักษาหรือป้องกันโรค แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนเพียงพอจะยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของแก้วมังกรในปริมาณการบริโภคที่แน่นอนได้ แต่โดยทั่วไปการบริโภคแก้วมังกรค่อนข้างปลอดภัยและแทบไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ ต่อร่างกายหากบริโภคในปริมาณพอดี

อย่างไรก็ตาม มีรายงานการพบอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังรับประทานผลไม้รวมที่มีแก้วมังกรผสมอยู่ด้วยในผู้หญิงที่ไม่มีประวัติการแพ้ใด ๆ มาก่อน ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังอาหารทุกชนิดที่รับประทานเสมอ เพราะไม่ว่าจะเป็นผลไม้ อาหาร หรือสารชนิดใดก็อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการแพ้พืชในตระกูลกระบองเพชรและกีวี่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแก้วมังกร เพราะเป็นพืชในตระกูลเดียวกันที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และควรระมัดระวังในการใช้หรือรับประทานแก้วมังกรเป็นพิเศษหากมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ หากเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากแก้วมังกรเสมอ