เหงือกบวม

ความหมาย เหงือกบวม

เหงือกบวม เป็นอาการที่เหงือกมีลักษณะบวมโตเป็นสีแดงก่ำเข้มกว่าปกติ มักเกิดขึ้นบริเวณรากฟัน เมื่อเหงือกบวมมักทำให้มีอาการปวด ระคายเคือง หรือเสียวฟัน รวมทั้งอาจมีเลือดออกได้ง่ายในขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน ในบางครั้งอาจมีอาการเหงือกบวมจนบังหรือปกคลุมฟันในบริเวณนั้น

เหงือก คือ อวัยวะสำคัญที่อยู่บริเวณรากฟัน เป็นเนื้อเยื่อหนาสีชมพูและเต็มไปด้วยเส้นเลือดภายในที่ครอบกระดูกขากรรไกรไว้ เมื่อเหงือกบวมโตผิดปกติ อาจเกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ด้วย ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการเหงือกบวม แล้วหาทางรักษาบรรเทาอาการ หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยไม่ปล่อยให้อาการนั้นลุกลามหรือเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อไปได้

เหงือกบวม

อาการเหงือกบวม

  • เหงือกขยายใหญ่ บวมโตขึ้น อาจนูนออกมาเป็นบางส่วน หรืออาจบวมโตจนบังฟันในบริเวณนั้น
  • เหงือกที่บวมเปลี่ยนเป็นสีแดงก่ำเข้มกว่าปกติ
  • มีอาการปวด ระคายเคือง หรือเสียวฟันร่วมด้วย
  • มีเลือดออกได้ง่ายในขณะแปรงฟัน หรือขัดฟัน

หากมีอาการเหงือกบวมเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความเจ็บปวด สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการอย่างต่อเนื่องเรื้อรังเกินกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบทันตแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านเหงือกและฟัน เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

สาเหตุของเหงือกบวม

เหงือกอักเสบ (Gingivitis) สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเหงือกบวมเกิดจากปัญหาเหงือกอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่รักษาสุขภาพฟันให้ดี ทำให้มีคราบพลัคจากแบคทีเรียและเศษอาหารก่อตัวขึ้นปกคลุมเนื้อฟัน เมื่อคราบก่อตัวเป็นเวลานานจะกลายเป็นหินปูนหนาที่ไม่สามารถขจัดออกไปได้ด้วยการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว คราบที่สะสมเหล่านี้อาจทำให้เหงือกอักเสบและมีอาการบวมได้ ในผู้ป่วยบางรายก็มีอาการแสดงที่ปรากฏออกมาน้อยมากจนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับเหงือกอักเสบอยู่ และหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา เหงือกอักเสบอาจลุกลามไปสู่ภาวะปริทันต์ (Periodontitis) ซึ่งเป็นโรคเหงือกที่มีอาการร้ายแรงกว่า อาจเป็นที่มาของการสูญเสียฟันและเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรงขึ้น หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เหงือกบวมและฟันเป็นหนองต่อไปได้

การติดเชื้อ เชื้อราหรือเชื้อไวรัสสามารถเป็นเหตุทำให้เหงือกบวมได้ เช่น การเจริญเติบโตมากเกินไปของยีสต์ในช่องปากซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง หรือการเป็นโรคเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลันซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีแผลในช่องปาก ริมฝีปาก และเหงือกบวมได้

ภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดวิตามิน B และ C ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และบำรุงสุขภาพเหงือกและฟัน โดยเฉพาะการขาดวิตามิน C อาจทำให้ป่วยด้วยโรคลักปิดลักเปิด ทำให้มีเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกและภาวะโลหิตจางตามมาด้วย

การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่ผลิตในระหว่างการตั้งครรภ์อาจเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเหงือกด้วย ซึ่งอาจทำให้เหงือกระคายเคืองและบวมโตได้ นอกจากนั้น ฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์อาจลดสมรรถภาพร่างกายในการต้านทานเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้เหงือกบวม เช่น

  • การใส่ฟันปลอมที่ไม่ได้คุณภาพ หรือการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในช่องปาก
  • อาการเสียวฟันหรือระคายเคืองจากการใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin - ยารักษาภาวะชัก) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine - ยากดภูมิคุ้มกัน) กลุ่มยารักษาควบคุมความดันโลหิตที่ปิดกั้นแคลเซียม อย่างแอมโลดิปีน (Amlodipine) ไนเฟดิปีน (Nifedipine) เวอราปามิล (Verapamil) และดิลไทอะเซม (Diltiazem) เป็นต้น
  • โรคเหงือก มะเร็งเหงือก มะเร็งในช่องปาก

การวินิจฉัยเหงือกบวม

เมื่อไปพบทันตแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจภายในช่องปาก เหงือก และฟัน โดยอาจสอบถามอาการที่เกิดขึ้น เช่น มีอาการมานานเพียงใด แล้วอาการเป็นอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป มีเลือดออกบริเวณเหงือกหรือตามไรฟันด้วยหรือไม่ ปกติผู้ป่วยแปรงฟันบ่อยเพียงใด ใช้แปรงสีฟันหรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปากและฟันชนิดใด กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ กำลังป่วยหรือใช้ยารักษาตัวใดอยู่ มีอาการอื่น ๆ อย่างมีกลิ่นปาก เจ็บคอ หรือปวดบริเวณใดร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น

หากทันตแพทย์มีข้อสงสัยถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวม แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การเจาะเลือด เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) หรือตรวจนับแยกชนิดเม็ดเลือด (Blood Differential) และอาจทำการเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อให้ทราบสาเหตุของอาการป่วยและเป็นประโยชน์ในการวางแผนรักษาต่อไป

การรักษาเหงือกบวม

การรักษาบรรเทาอาการด้วยตนเอง

หากเป็นเหงือกบวมที่เกิดจากสาเหตุปัจจัยที่ไม่เป็นอันตราย ผู้ป่วยสามารถดูแลบรรเทาอาการและความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นจากเหงือกบวมได้ด้วยตนเองที่บ้าน เช่น

  • แปรงฟันให้สะอาดสม่ำเสมออย่างถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ตามร่องฟันด้วย และนวดตามแนวเหงือกเบา ๆ ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ เพื่อช่วยขจัดคราบพลัคและเศษอาหารที่เกาะตามฟัน
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากสูตรที่ไม่เข้มข้นจนเกินไป หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การผสมน้ำอุ่น 1 ถ้วยตวง กับสารเบกกิ้งโซดา ¼ ช้อนชา และเกลือ ⅛ ช้อนชา
  • ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมาก น้ำเปล่าจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ซึ่งจะช่วยฆ่าแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุของอาการ
  • เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักและผลไม้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานและมีน้ำตาลสูง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่
  • ใช้แผ่นประคบร้อนวางบนใบหน้าบริเวณที่เหงือกบวมและมีอาการปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวม
  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยทุก 6 เดือน

การรักษาอาการโดยแพทย์

หากเป็นอาการเหงือกบวมที่เกิดจากภาวะเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องการการรักษา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ และแพทย์จะวางแผนให้การรักษาตามความเหมาะสมกับอาการ เช่น

  • แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยกำจัดคราบพลัค สิ่งสกปรก และแบคทีเรียในช่องปาก โดยที่ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง
  • แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อด้วย ซึ่งอาจเป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาบ้วนปาก ยารับประทาน หรือยารักษาที่ใช้ในบริเวณที่เหงือกบวมโดยตรง
  • การแพ้ยาหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณาหรือแนะนำให้เปลี่ยนยารักษาที่ใช้อยู่ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องไม่หยุดใช้ยาหรือเปลี่ยนยาเองกะทันหันโดยไม่ได้รับคำแนะนำหรือคำสั่งจากแพทย์
  • ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจต้องทำการขูดคราบฟันและเกลารากฟัน เพื่อกำจัดคราบพลัค หินปูนที่เกาะอยู่ตรงรากฟัน หรือหนองอักเสบในบริเวณนั้นให้หมดไป
  • ในบางกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดรักษาเหงือกในบริเวณที่มีปัญหา แล้วนำเอาเนื้อเยื่อที่เสียหายออกมา เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายแก่เนื้อเยื่อและกระดูกบริเวณใกล้เคียง และทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่บริเวณนั้นต่อไป
  • ส่วนกรณีผู้ป่วยภาวะเหงือกร่น หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการผ่าตัดปลูกถ่ายเหงือกด้วยการนำเนื้อเยื่อบริเวณอื่นภายในปากไปปลูกถ่ายแทนที่เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณที่เสียหาย เพื่อรักษาภาวะเหงือกร่น และป้องกันการเกิดความเสียหายแก่ฟันจากการที่เหงือกหดร่นลงไปด้วย
  • ผู้ป่วยมะเร็งภายในช่องปาก อาจรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด หรือใช้การบำบัดร่วมกันทั้ง 2 วิธี

ภาวะแทรกซ้อนของเหงือกบวม

ในบางครั้ง เหงือกบวมอาจพัฒนาไปสู่ภาวะอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นได้ หากไม่ได้รับการรักษาดูแลอาการอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วยที่เป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวมด้วย เช่น

  • ฟันร่วง กระดูกขากรรไกรเสื่อมจากภาวะเหงือกอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดโภชนาการจากการรับประทานอาหารไม่ได้ตามปกติ ภาวะวิตกกังวล และการสูญเสียความมั่นใจในตนเองได้ด้วย
  • เชื้อโรคจากฝีหรือหนองในฟันแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ หรือเข้าสู่กระแสเลือด จนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดตามม
  • เซลล์มะเร็งในช่องปากเจริญเติบโตและลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ

การป้องกันเหงือกบวม

  • ดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพปากและฟันให้ดี แปรงฟันอย่างถูกวิธีสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือแปรงฟันหลังการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ โดยควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากเป็นพิเศษหากกำลังจัดฟัน ที่ครอบฟัน หรือกำลังตั้งครรภ์ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการเหงือกบวมและปัญหาในช่องปากอื่น ๆ ได้ง่าย
  • ใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือไหมขัดฟัน เพื่อช่วยทำความสะอาดเหงือกและฟัน ป้องกันการเกิดคราบสกปรกสะสม
  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพช่องปากเป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน ปรึกษาขอคำแนะนำในการดูแลปากและฟัน โดยอาจใช้ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และรับการขูดหินปูนกำจัดคราบฟันตามที่แพทย์แนะนำ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับ โดยเฉพาะอาหารที่ให้สารอาหารจำพวกวิตามินซี แคลเซียม กรดโฟลิค
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มีน้ำตาลสูง
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหวาน น้ำอัดลม และไม่สูบบุหรี่
  • สังเกตอาการที่เกิดขึ้นภายในปากและฟัน หากมีอาการรุนแรง หรือมีอาการอย่างเรื้อรังและไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาให้ทันท่วงที