เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage)

ความหมาย เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage)

เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage) จัดอยู่ในโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่ง เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองหรือหลอดเลือดระหว่างกระดูกและสมองแตกออก ทำให้เลือดไปสะสมและกดอัดเนื้อเยื่อสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจน ถือเป็นภาวะที่อันตรายและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่มีภาวะนี้จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ผู้ที่มีเลือดออกในสมองมักมีอาการปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัว ตาพร่า พูดไม่รู้เรื่อง ชัก สับสน และหมดสติ แม้จะเป็นภาวะที่พบไม่บ่อยเท่าภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) แต่อาการจะรุนแรงกว่ามาก ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด การรับประทานยา และบางรายต้องได้รับการบำบัดดูแลในระยะยาว

เลือดออกในสมอง

อาการเลือดออกในสมอง

อาการที่แสดงถึงภาวะเลือดออกในสมองเกิดขึ้นได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก ความรุนแรงและจำนวนเนื้อเยื่อที่ได้รับผลกระทบ ผู้ป่วยอาจแสดงอาการขึ้นภายในเวลาสั้น ๆ หรือใช้เวลาหลายสัปดาห์แล้วจึงแย่ลงอย่างรุนแรง อาการบ่งบอกมีดังนี้

  • ปวดหัวรุนแรงขึ้นมาเฉียบพลัน 
  • อาการปวดคล้ายเข็มทิ่ม ชา และอ่อนแรงเฉียบพลันที่ใบหน้า มือ แขน และขา มักเกิดที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • เวียนศีรษะ เซ สูญเสียการทรงตัว
  • มีอาการชัก โดยไม่เคยมีประวัติโรคลมชักมาก่อน
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • ตาพร่ามัว การตอบสนองของรูม่านตาไม่เท่ากัน ตาไวต่อแสง
  • มีปัญหาในการอ่านและเขียน สื่อสารไม่รู้เรื่อง สับสน เพ้อ
  • กลืนลำบาก ลิ้นรับรสชาติแปลกไปจากปกติ
  • เซื่องซึม หมดสติ
  • หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ หากเลือดออกบริเวณก้านสมอง

ภาวะเลือดออกในสมองร้ายแรงถึงชีวิต หากผู้ป่วยมีอาการใด ๆ ข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญาณอาการของการมีเลือดออกในสมองอาจไม่ปรากฏชัดเจนในทันทีเหมือนภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid Hemorrhage) จึงต้องคอยสังเกตอาการที่จะค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยอาการอาจเกิดขึ้นหลังเลือดออกในสมองตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง

ทั้งนี้ อาการของผู้ที่มีเลือดออกในสมองจากการได้รับบาดเจ็บหรือถูกตีที่ศีรษะ แรกเริ่มอาจยังสามารถพูดคุยได้เป็นปกติ แต่แล้วอยู่ ๆ อาจหมดสติไป เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะนี้ เมื่อใดก็ตามที่ศีรษะได้รับการกระแทก แม้ว่าจะยังรู้สึกปกติก็ควรให้บุคคลใกล้ชิดคอยสังเกตอาการ เพราะการกระทบกระเทือนที่ศีรษะอาจทำให้ตัวผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำก่อนหน้าและจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

สาเหตุของเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมองมีสาเหตุและปัจจัยการเกิดที่หลากหลาย โดยสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยมีดังนี้

ศีรษะได้รับบาดเจ็บ

การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีลงไป ทั้งนี้อาจเป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน การพลัดตก อุบัติเหตุที่เกิดจากการเล่นกีฬา และการถูกทำร้าย เป็นต้น

โรคเกี่ยวกับเลือดและหลอดเลือด

โรคที่เกี่ยวกับเลือดและหลอดเลือดอาจส่งผลให้เกิดภวะเลือดออกในสมอง เช่น 

  • ความดันโลหิตสูง ถือเป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอลงเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองตามมา
  • หลอดเลือดโป่งพอง ผนังหลอดเลือดที่บวมและอ่อนแอลงจากภาวะนี้ สามารถแตกออกจนเกิดเลือดสะสมในสมอง และยังนำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมองได้ด้วย
  • โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม (Arteriovenous Malformation) ซึ่งเป็นความผิดปกติของกลุ่มหลอดเลือดในสมอง โดยเกิดความผิดปกติของรอยต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ และทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ง่าย มักมีตั้งแต่กำเนิดแต่อาจมาวินิจฉัยหรือพบในภายหลังเมื่อมีอาการผิดปกติ
  • หลอดเลือดสมองมีสารอะไมลอยด์สะสม เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งของผนังหลอดเลือด มีปัจจัยมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นและความดันโลหิตสูง อาจเริ่มจากการมีเลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ หลายจุด ก่อนจะกลายเป็นบริเวณที่มีเลือดออกขนาดใหญ่
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ ได้แก่ โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) และภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่จะส่งผลให้เลือดออกง่าย จนเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้

โรคอื่น ๆ

เลือดออกในสมองอาจเกิดจากโรคและภาวะอื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน โรคตับ เนื้องอกที่กดทับที่เนื้อเยื่อสมอง ภาวะผิดปกติของหญิงตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ และการตกเลือดหลังคลอด

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติของโรคหลอดเลือดสมอง การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การใช้สารเสพติด เช่น โคเคน ซึ่งสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง

การวินิจฉัยเลือดออกในสมอง

โดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อ่อนแรง หมดสติ ชัก ปวดศีรษะรุนแรง แพทย์จะรีบให้รับการประเมินด้วยการภาพถ่ายสมองเพื่อดูว่ามีความเสียหายใด ๆ ที่สอดคล้องกับอาการที่เกิดขึ้นหรือไม่ โดยวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้วินิจฉัยเพื่อระบุตำแหน่งและขนาดของบริเวณที่มีเลือดออก ได้แก่

การทำซีที สแกน (CT Scan)

ซีที สแกนเป็นวิธีที่นิยมใช้วินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมองมากที่สุด ด้วยการใช้รังสีเอกซเรย์เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพโครงสร้างต่าง ๆ ในสมอง ในการวินิจฉัยนี้แพทย์จะให้ผู่ป่วยนอนลงบนโต๊ะแล้วเคลื่อนผู้ป่วยเข้าไปใต้อุปกรณ์ถ่ายรูปที่มีลักษณะคล้ายโดนัท

การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan)

เอ็มอาร์ไอคือการถ่ายภาพทางคอมพิวเตอร์โดยใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กขนาดใหญ่ ระหว่างการวินิจฉัยผู้ป่วยจะนอนลงแล้วถูกเคลื่อนย้ายไปใต้อุปกรณ์คล้ายท่อหรืออุโมงค์ แต่การทำเอ็มอาร์ไอนำมาใช้ไม่บ่อยเท่า ซีที สแกน เนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่า

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจหาความผิดปกติของเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบ และการเกิดลิ่มเลือดที่อาจเป็นปัจจัยของภาวะดังกล่าว

นอกจากการวินิจฉัยข้างต้น แพทย์ยังอาจใช้การวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมอง เช่น 

  • การเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram) ด้วยการฉีดสีเข้าไปให้สามารถมองเห็นการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกจริง ๆ ไม่ใช่โรคทางสมองชนิดอื่น
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography) 

การรักษาเลือดออกในสมอง

การรักษาที่นำมาใช้กับภาวะเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก สาเหตุ และปริมาณของเลือดที่ออกมา ดังนี้

การใช้ยา

ผู้ป่วยที่มีเลือดออกจุดเล็ก ๆ และไม่มีอาการใด ๆ อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม อาการของผู้ป่วยอาจแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป แพทย์จึงอาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยลดความเสียหายของสมองจากภาวะเลือดออก เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาคลายกังวล ยากันชัก ยาแก้ปวด และยาอื่น ๆ ตามอาการ

แพทย์จะคอยเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น คอยตรวจความดันในกะโหลกศีรษะ รวมทั้งทำซีที สแกนสมองอีกหลายครั้ง ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองเนื่องจากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) อาจต้องรับการรักษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้น

การผ่าตัด

ภาวะเลือดออกในสมองที่มีขนาดใหญ่หรือมีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้การผ่าตัดชนิดใดต่อไปนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเลือดออกในสมองนั้น ๆ

  • การผ่าตัดระบายของเหลว ในกรณีที่มีเลือดออกเฉพาะแห่งและมีลิ่มเลือดไม่มากเกินไป อาจใช้การเจาะรูผ่านกะโหลกศีรษะและใช้ท่อดูดระบายเลือดออกมา
  • การเปิดกะโหลกศีรษะ การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ และมีอาการรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องนำก้อนเลือดขนาดใหญ่นี้ออกมาด้วยการเปิดกะโหลกศีรษะของผู้ป่วย
  • การผ่าตัดอื่น ๆ เช่น การใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (Clipping) การผ่าตัดเนื้องอกในสมอง การฉายรังสีหรือผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม

หลังจากการผ่าตัดเรียบร้อย ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยากันชักไปจนถึง 1 ปี เพื่อป้องกันอาการชักที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาชนิดนี้ในระยะยาว ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบหลังการผ่าตัด ได้แก่ การสูญเสียความทรงจำ วิตกกังวล สมาธิสั้น ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ปวดศีรษะ ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปัญหาการทรงตัว และอัมพาต

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลานานหรือฟื้นตัวได้ไม่สมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก ความเสียหายที่เกิดขึ้น อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยอาจใช้เวลาพักฟื้นหลายเดือนถึงหลายปี 

การบำบัดและดูแลในระยะยาว

ผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทหลังการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องมีพยาบาลดูแลที่บ้าน การทำกายภาพบำบัด และการบำบัดการพูด เพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อและแก้ไขการสื่อสารให้กลับมาเป็นปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของเลือดออกในสมอง

ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมองและได้รับการรักษาบางรายสามารถฟื้นตัวและหายดีได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น อัมพาต ไม่สามารถหายใจได้เอง สูญเสียการทำงานของสมอง เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง หรือได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือกระบวนการรักษา และในกรณีที่มีเลือดออกในสมองมาก ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วแม้จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็ตาม

การป้องกันเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมองส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่แต่ละคนสามารถป้องกันได้ เพียงลดพฤติกรรมเสี่ยงข้อต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • ป้องกันอันตรายจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะด้วยขับขี่ยานพาหนะอย่างระมัดระวัง คาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง และควรสวมใส่หมวกนิรภัยขณะเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระแทกของศีรษะ ส่วนบ้านที่มีเด็กควรจัดระเบียบสิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในลักษณะที่ปลอดภัยต่อเด็ก
  • ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และเบาหวาน โดยรับประทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกาย ตรวจระดับน้ำตาลและความดันโลหิตเป็นประจำ ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามการนัดหมาย
  • จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ และฟังเพลงสบาย ๆ เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมอง
  • ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ใช้ยาเสพติด ยาเสพติดเป็นอีกปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในสมองได้
  • รับการรักษาภาวะผิดปกติที่อาจนำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  • ระมัดระวังในการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน (Warfarin) โดยผู้ใช้ยาควรตรวจระดับเลือดเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ายังอยู่ในขั้นปลอดภัย และหากมีการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ