เด็กก้าวร้าว พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร ?

พฤติกรรมก้าวร้าว คือ การกระทำที่มุ่งให้ผู้อื่นเจ็บตัวหรือเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลัง การใช้คำพูด รวมไปถึงการทำลายข้าวของ สำหรับวัยเด็ก พฤติกรรมเหล่านี้เป็นขั้นหนึ่งของพัฒนาการ ซึ่งต้องได้รับการขัดเกลาให้เด็กแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักควบคุมอารมณ์และไม่ก้าวร้าว

1553 ก้าวร้าว Resized

สาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก

พฤติกรรมก้าวร้าวเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ โดยเด็กอาจใช้กำลังทำให้ผู้อื่นเจ็บตัวด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตี เตะ แย่งของเล่นจากเด็กคนอื่น และพูดหรือตะโกนอย่างใช้อารมณ์ เป็นต้น

โดยปกติ เด็กเล็กนั้นรู้สึกหงุดหงิดและโกรธได้ง่าย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการถูกขัดใจหรือขัดขวางเมื่อกำลังตั้งใจทำบางอย่าง รู้สึกไม่ได้รับความสนใจ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ในบางครั้งก็อาจเป็นเพียงเพราะเด็กรู้สึกเหนื่อย กระหาย หิว และไม่รู้จะอธิบายหรือจัดการกับสิ่งที่ตนเองกำลังรู้สึกอย่างไร จึงเลือกแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เข้าข่ายก้าวร้าวอย่างการตี กัด หรือแสดงความโกรธออกมา

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้มักค่อย ๆ ลดลงเมื่อเด็กมีทักษะทางสังคมและภาษามากขึ้น เพราะเด็กจะเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมแทนการใช้กำลัง ซึ่งพ่อแม่และคนรอบข้างต้องคอยส่งเสริมพัฒนาการเหล่านี้ และสอนให้รู้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี หากเด็กทำจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น

นอกจากนี้ ความก้าวร้าวในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ดังนี้

  • การเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือสังคมรอบข้าง
  • เด็กก้าวร้าวเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งเกิดจากพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือครู ให้ความสนใจมากเกินไป หรือให้รางวัลเพื่อให้เด็กหยุดก้าวร้าว ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กใช้พฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นไปเรื่อย ๆ  
  • ปัญหาภายในครอบครัว เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรือมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยรุนแรง เป็นต้น เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางจิตใจจนรู้สึกโกรธและไม่รู้จะรับมืออย่างไร
  • เด็กเกิดความรู้สึกกลัวหรือสงสัยจึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กที่มีภาวะหวาดระแวง เป็นโรคจิตเภท หรือโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ เช่น ไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
  • มีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์ เด็กอาจไม่รู้วิธีรับมือกับความโกรธที่เกิดขึ้น และเลือกที่จะแสดงออกอย่างก้าวร้าว ซึ่งในกรณีที่เด็กไม่สามารถจัดการกับความโกรธอย่างรุนแรงหรืออธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดจึงโกรธ ก็อาจแสดงถึงโรคออทิสติกหรือภาวะบกพร่องทางปัญญาได้
  • เด็กสมาธิสั้นหรือเป็นโรคความผิดปกติทางการควบคุมอารมณ์ โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมขาดความสนใจและความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่มีสมาธิ ไขว้เขวง่าย รวมทั้งไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจจนแสดงความก้าวร้าวออกมา

รับมือกับความก้าวร้าวของเด็กอย่างไร ?

เด็ก ๆ มักไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้และระบายออกมาด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนั้น การฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมตนเองและแสดงความรู้สึกหรืออารมณ์อย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างวิธีรับมือกับความก้าวร้าวของลูกที่พ่อแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้

  • ไม่เพิกเฉยหรือละเลยเมื่อเด็กก้าวร้าว พ่อแม่ควรดุลูกทันทีเมื่อแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากเด็กใช้กำลังหรือรังแกเด็กคนอื่น ควรพาลูกออกห่างจากเด็กคนอื่น ๆ ทันที เพื่อให้เรียนรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้อดเล่นกับเพื่อน พร้อมบอกว่าจะกลับไปเล่นอีกได้ต่อเมื่อสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายผู้อื่นอีก
  • อย่าใช้ความรุนแรงตอบโต้ การตีลูกกลับ ขึ้นเสียงใส่เพื่อตอบโต้เมื่อลูกตะโกน หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่กลับทำให้เด็กเข้าใจว่าการใช้กำลังหรืออารมณ์เมื่อเกิดความไม่พอใจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งยังอาจทำให้เด็กติดนิสัยก้าวร้าวเมื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ พ่อแม่จึงควรรับมือด้วยความใจเย็นและพยายามควบคุมตนเองให้ได้
  • แสดงตัวอย่างวิธีจัดการกับอารมณ์อย่างถูกต้อง การเป็นตัวอย่างที่ดี คือ หัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูลูก เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดังใจ พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการจัดการปัญหา เพราะเด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวได้
  • ตักเตือนอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เด็กรู้ทุกครั้งว่าการก้าวร้าวไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสม จนกระทั่งเด็กรับรู้ว่าไม่ควรทำและเกิดความเคยชินจนไม่กล้าทำอีก โดยไม่ควรมีข้อยกเว้นใด ๆ เพราะพ่อแม่บางคนเลือกที่จะดุลูกแค่ที่บ้านและปล่อยผ่านเมื่ออยู่นอกบ้าน ซึ่งอาจทำให้เด็กสับสนและคิดว่าสิ่งที่สอนไม่ใช่เรื่องจริงจัง หรือไม่จำเป็นต้องทำตัวดีตลอดเวลา
  • กำหนดข้อตกลงและบทลงโทษ เช่น ห้ามตี เตะ กัด หรือใช้กำลัง ไม่เช่นนั้นจะงดไม่ให้เล่นเกมหรือจำกัดเวลาเล่นกับเพื่อน ๆ เป็นต้น
  • เปิดใจคุยกับลูก หลังจากเด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่อาจรอสักพักให้เด็กใจเย็นลงก่อนจึงค่อยถามถึงสิ่งที่เด็กไม่พอใจอย่างอ่อนโยนและแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ จากนั้นจึงอธิบายไปว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะรู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธ แต่ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง การใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นหรือใช้คำพูดไม่ดีไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ควรสอนให้ลูกพูดออกมาตรง ๆ ว่าโกรธหรือไม่พอใจเพราะอะไร และขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
  • สอนให้เด็กรู้จักยอมรับผิด พยายามให้ลูกเรียนรู้ว่าการขอโทษอย่างจริงใจเมื่อทำผิดเป็นสิ่งสำคัญ และสอนว่าการกระทำนั้น ๆ ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อื่นอย่างไร เช่น เพื่อนจะรู้สึกเศร้าเมื่อถูกแย่งตุ๊กตา รู้สึกกลัวและไม่อยากเล่นด้วยหากถูกเด็กตี เป็นต้น แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับมากเกินไปหรือคาดหวังให้ต้องขอโทษทุกครั้งหากเด็กยังไม่โตพอ รวมทั้งสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ เช่น หากทำลายตัวต่อของเพื่อนก็ให้เด็กช่วยเพื่อนต่อใหม่ หากขว้างปาของเล่นก็ต้องไปเก็บขึ้นมาเอง เป็นต้น
  • ชื่นชมเมื่อเด็กประพฤติตัวดี การกล่าวชมเมื่อเด็กรู้จักจัดการกับอารมณ์อย่างที่ควรจะเป็นนั้นสำคัญพอ ๆ กับการตักเตือนเมื่อเด็กแสดงความก้าวร้าว เช่น เด็กรู้จักรอเมื่อถึงตาที่คนอื่นจะได้เล่นบ้าง แบ่งปันของเล่น ผลัดให้คนอื่นเล่นด้วย หรือเมื่อเด็กแสดงอารมณ์ด้วยการสื่อสารออกมาเป็นคำพูดแทนการใช้กำลัง เป็นต้น
  • จำกัดเวลาดูโทรทัศน์หรือวิดีโอออนไลน์ แม้แต่สื่อสำหรับเด็กโดยเฉพาะก็อาจสอดแทรกภาพความรุนแรงอันเป็นเยี่ยงอย่างให้เด็กทำตามได้ นอกจากนี้ งานวิจัยบางส่วนชี้ว่าเด็กที่ดูทีวีหรือวิดีโอในโทรศัพท์มาก ๆ จะก้าวร้าวกว่าเด็กที่ใช้เวลาส่วนนี้น้อยกว่า พ่อแม่จึงไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์จนกว่าจะอายุ 1.5 ปี และจำกัดเวลาให้ดูไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เลือกรายการหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาเหมาะสม ควรนั่งข้าง ๆ เด็กระหว่างที่ดูและสอนไปด้วยหากคนหรือตัวการ์ตูนในวิดีโอมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และหมั่นชักชวนเด็กให้ไปเล่นข้างนอกแทนการดูทีวี เช่น เล่นซ่อนแอบ โยนบอล แบดมินตัน เป็นต้น โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบควรทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กก้าวร้าวแค่ไหนถึงควรไปปรึกษาแพทย์ ?

ความก้าวร้าวอย่างรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของโรคความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือความผิดปกติทางอารมณ์ พ่อแม่สามารถปรึกษากุมารแพทย์หากรู้สึกหมดหนทางที่จะรับมือกับความก้าวร้าวของเด็ก หรือหากพบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะต่อไปนี้

  • แสดงความก้าวร้าวอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2-3 สัปดาห์
  • ทำให้เด็กคนอื่นหวาดกลัวหรือไม่อยากเข้าใกล้
  • ใช้กำลังหรือทำร้ายผู้ใหญ่ ทำร้ายตนเอง หรือพูดถึงตัวเองในแง่ลบ
  • ทำให้คนอื่นบาดเจ็บถึงขั้นเลือดตกยางออก
  • พฤติกรรมก้าวร้าวไม่ค่อยดีขึ้นแม้พยายามใช้วิธีต่าง ๆ แล้ว หรือยิ่งโตยิ่งก้าวร้าวมากขึ้น
  • เด็กก้าวร้าวจนพ่อแม่กังวลว่าจะไปทำร้ายเด็กคนอื่น ๆ
  • พฤติกรรมดังกล่าวกระทบการไปโรงเรียนหรือการเข้าสังคมด้วย

เมื่อไปพบแพทย์ กุมารแพทย์จะให้คำแนะนำในการรับมือและทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม หากคาดว่าเด็กมีปัญหาที่พ่อแม่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ หรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ แพทย์อาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตและใช้แบบประเมินสุขภาพจิตกับเด็ก โดยอาจเฝ้าดูพฤติกรรมของเด็กที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ จากนั้นจึงวางแนวทางการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งการแก้ไขมักให้ผลลัพธ์ที่ดีหากตรวจพบปัญหาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม