หวาดระแวง

ความหมาย หวาดระแวง

หวาดระแวง (Paranoia) คือภาวะผิดปกติทางความคิดที่ทำให้เคลือบแคลงสงสัยหรือระแวงผู้อื่นอย่างไม่มีเหตุผล ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ามีคนจ้องทำร้ายอยู่ตลอดเวลา คิดว่าคนรอบข้างไม่ชอบตนเอง หรือไม่ไว้ใจผู้อื่น อาการเหล่านี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอาการหลงผิด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือเข้าสังคมได้ยาก

หวาดระแวง

อาการของภาวะหวาดระแวง

คนทั่วไปอาจมีอาการหวาดระแวงในระดับอ่อนบ้าง แต่ผู้ที่ประสบภาวะนี้อย่างรุนแรงอาจรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของอาการหวาดระแวงจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • ไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ ระแวดระวังผู้อื่นตลอดเวลา
  • คิดว่าคนอื่นจะทำร้ายหรือพูดถึงตนเองในทางเสียหาย
  • มีพฤติกรรมก้าวร้าว ประพฤติตัวไม่เป็นมิตรกับบุคคลรอบข้าง
  • อ่อนไหวและรับไม่ได้กับการถูกวิจารณ์
  • หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
  • ปล่อยวางและให้อภัยได้ยาก
  • มองโลกในแง่ร้าย
  • เข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนยาก
  • ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว
  • เคลือบแคลงสงสัยในเรื่องที่มีหลักฐานอธิบาย แต่เชื่อข่าวลือต่าง ๆ อย่างไม่มีเหตุผล

สาเหตุของภาวะหวาดระแวง

ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของภาวะหวาดระแวงอย่างชัดเจน แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เสี่ยงเกิดอาการหวาดระแวงได้ ดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น รู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ เสี่ยงที่จะไม่ไว้ใจหรือหวาดระแวงผู้อื่น เนื่องจากภาวะเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมีทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในแง่ลบมากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะหวาดระแวงยังอาจเป็นอาการป่วยของปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคบุคลิกภาพแปรปรวนบางชนิด ได้แก่
  • โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง (Paranoid Personality Disorder) ผู้ป่วยจะไม่ไว้ใจบุคคลรอบข้างง่าย ๆ เพราะคิดว่าคนอื่นหวังผลประโยชน์จากตน อีกทั้งกังวลว่าจะมีคนทำร้ายหรือหักหลังอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการหวาดระแวงในระดับอ่อนที่สุดและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หลายคนมักมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น และหายเป็นปกติเมื่ออายุ 50 ปี
  • โรคจิตหลงผิด (Delusional Disorder) คือภาวะที่มีความเชื่อหรือความคิดผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตอื่น ๆ แต่อย่างใด ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการหลงผิดแตกต่างกันไป เช่น คิดว่าตนเองป่วยทั้งที่ไม่ได้ป่วย คิดว่ามีคนคอยปองร้าย แอบตามคนดังเพราะเชื่อว่าตนกับอีกฝ่ายรักกัน เป็นต้น
  • โรคจิตเภทแบบหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) คือโรควิกลจริตชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่เชื่อหรือยอมรับความจริง รวมทั้งมีอาการประสาทหลอนหรือพฤติกรรมแปลก ๆ หากไม่ได้รับการรักษาจะใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ เป็นกลุ่มโรคจิตเวชที่มีอาการหวาดระแวงรุนแรงมากที่สุด
  • ปัญหาสุขภาพกาย ผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจมีอาการหวาดระแวงร่วมด้วย เช่น โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคฮันติงตัน (Huntington's Disease) โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสูญเสียการได้ยิน ภาวะเครียด เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาและสารเสพติด อาการหลงผิดหรือหวาดกลัวว่าผู้อื่นจะมาทำร้ายตนเองนั้นอาจเกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น กัญชา แอมเฟตามีน โคเคน แอลเอสดี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น รวมไปถึงการใช้สารอื่น ๆ เช่น สารเฟนไซคลิดีน (Phencyclidine) และสเตียรอยด์ ที่นักกีฬาใช้สำหรับฉีดกล้ามเนื้อ หรือยาฆ่าแมลง
  • สิ่งแวดล้อมภายนอก ผลการศึกษาบางชิ้นเผยให้เห็นว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ห่างไกลจากผู้คนหรือชอบแยกตัวออกจากสังคม มีแนวโน้มเกิดอาการหวาดระแวงมากขึ้น นอกจากนี้ การรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับการฆาตกรรม การแบ่งแยกดินแดน หรือการใช้ความรุนแรงก็ส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวลและระแวงผู้คนรอบตัวได้เช่นกัน
  • ประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่พบเจอ ผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์เสี่ยงตาย ต้องอยู่เพียงลำพัง หรือเผชิญสถานการ์ที่รู้สึกกดดันและเครียดนั้นมักเกิดความรู้สึกในแง่ลบกับตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหวาดระแวงได้ เช่น ถูกกลั่นแกล้งจากที่ทำงาน โจรขึ้นบ้าน เป็นต้น เช่นเดียวกับเหตุการณ์ฝังใจในวัยเด็กที่อาจส่งผลให้มีทัศนคติไม่ดีต่อผู้คนและสภาพแวดล้อมรอบตัว ทำให้ไม่ไว้ใจใครหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย
  • ภาวะพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนน้อยมักกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดระแวง หรือมีอาการหลอนได้ โดยมักรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลขึ้นมาในตอนกลางดึก
  • พันธุกรรม คาดว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหวาดระแวงได้

การวินิจฉัยภาวะหวาดระแวง

การวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหวาดระแวงนั้นอาจทำได้ยาก เพราะหากเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยมักไม่ไว้ใจผู้อื่น รู้สึกกลัว และเลี่ยงที่จะรับการตรวจและรักษา

การวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์อาจตรวจร่างกายและสอบถามประวัติของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีปัญหาสุขภาพกายหรือมีแนวโน้มอันเป็นสาเหตุของอาการหวาดระแวงหรือไม่ ในกรณีที่คาดว่าภาวะหวาดระแวงมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพจิต แพทย์อาจให้ผู้ป่วยพบจิตแพทย์เพื่อรับการทดสอบทางจิตวิทยาและวินิจฉัยภาวะสุขภาพจิตต่อไป โดยปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้เกิดอาการหวาดระแวงนั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า

การรักษาภาวะหวาดระแวง

ผู้ป่วยภาวะหวาดระแวงจะได้รับการรักษาแตกต่างกันไปตามสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการ วิธีรักษาประกอบด้วยการทำจิตบำบัด การใช้ยา การฝึกทักษะในการเผชิญความเครียด และการพักรักษาในโรงพยาบาล มีรายละเอียดดังนี้

  • จิตบำบัด เป็นวิธีรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหวาดระแวงในระดับไม่รุนแรงหรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อบกพร่องของตน เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองและความเชื่อใจต่อผู้อื่น รวมทั้งรู้จักรับมือกับอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักไม่พูดคุยเปิดใจอย่างเต็มที่นัก ทำให้การรักษาต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป การบำบัดความคิดและพฤติกรรมนับเป็นวิธีจิตบำบัดที่ใช้มากที่สุด โดยจะให้ผู้ป่วยอธิบายวิธีคิดและสาเหตุที่คิดเช่นนั้น แล้วจึงชี้ให้เห็นถึงเหตุผลหรือความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่แตกต่างออกไป วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลที่อาจนำไปสู่ภาวะหวาดระแวงได้ด้วย  ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่สบายใจที่จะต้องพูดเปิดใจ นักจิตวิทยาอาจให้ผู้ป่วยแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาผ่านวิธีอื่น ๆ เช่น การวาดรูป เป็นต้น
  • การใช้ยา ผู้ป่วยที่รู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลบ่อย ๆ เช่น โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง โรคหลงผิด และโรคจิตเภท จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตเพื่อบรรเทาอาการหวาดระแวง นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาต้านเศร้าหรือยาคลายเครียดที่มีฤทธิ์อ่อน ๆ เพื่อระงับอาการไม่ให้กำเริบ
  • ฝึกทักษะในการเผชิญความเครียด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้จักผ่อนคลายจากความเครียด รู้วิธีรับมือกับอาการวิตกกังวล รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
  • การพักรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้นและทรงตัว หลังจากนั้นแพทย์อาจแนะนำวิธีรักษาอื่น ๆ เช่น จิตบำบัด รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวของผู้ป่วยในการรับมือ ส่วนผู้ป่วยภาวะหวาดระแวงที่เกิดจากการใช้สารเสพติดจะได้รับการบำบัดจนกว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยาจะหาย และเข้ารับการรักษาอื่น ๆ ตามสมควรต่อไป

นอกจากนี้ ตัวผู้ป่วยเองและบุคคลรอบข้างนับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยรับมือกับอาการหวาดระแวง ดังนี้

  • วิธีรับมือสำหรับตัวผู้ป่วยเอง ผู้ที่ประสบภาวะหวาดระแวงหรือคิดว่าตนเองอาจมีอาการดังกล่าว สามารถดูแลตนเองได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
    • เขียนบันทึก สังเกตและเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองลงในสมุดบันทึก เช่น สิ่งที่ทำให้หวาดระแวง ความถี่ของอาการ พฤติกรรมการนอน เหตุการณ์อื่น ๆ เป็นต้น การเขียนบันทึกจะช่วยให้ทราบถึงสาเหตุหรือแนวโน้มของการเกิดภาวะหวาดระแวงว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และอะไรที่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ เพื่อเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้รู้สึกหวาดระแวงได้อย่างถูกจุด
    • ปรึกษาคนรอบข้าง ควรพูดคุยเปิดใจกับคนใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัวที่ไว้วางใจเพื่อระบายความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งหมั่นทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้าง เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว
    • ผ่อนคลายความกังวล หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล เช่น ทำสมาธิ ทำงานอดิเรกที่สนใจ เป็นต้น
    • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบถ้วนและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อช่วยให้รับมือกับอาการหวาดระแวงได้ดีขึ้น
  • วิธีรับมือสำหรับคนใกล้ชิด บุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดควรดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยภาวะหวาดระแวง ดังนี้
    • สังเกตอาการ ควรสังเกตว่าอะไรที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดระแวง
    • พูดคุยเปิดใจ วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับรู้มุมมองที่ต่างออกไปและช่วยลดความเครียดลงได้
    • ทำความเข้าใจความรู้สึก ไม่ควรมองว่าภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นเรื่องไร้เหตุผล แต่ควรทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกผู้ป่วย รวมทั้งหมั่นสังเกตว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด และพยายามช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นเมื่อเกิดอาการหวาดระแวง
    • ช่วยเหลือเต็มที่ หากผู้ป่วยไม่ต้องการไปหาหมอก็ไม่ควรฝืนบังคับ ควรคอยสอบถามและเสนอตัวให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจว่ามีคนให้พึ่งพาได้ในยามเผชิญปัญหา
    • เคารพการตัดสินใจ ไม่ตัดสินใจแทนผู้ป่วย ควรให้ผู้ป่วยได้คิดและตัดสินใจเอง
    • แนะนำสายด่วน หากผู้ป่วยไม่พูดคุยเปิดใจ ผู้ใกล้ชิดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยขอความช่วยเหลือจากองค์กรให้คำปรึกษาในเบื้องต้น เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พร้อมรับฟังและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
    • ดูแลตัวเองให้ดี พักผ่อนและดูแลสุขภาพกายและใจให้เป็นปกติอยู่เสมอ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหวาดระแวงนั้นอาจส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ดูแลได้

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหวาดระแวง

อาการหวาดระแวงไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย แต่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างและการเข้าสังคม เนื่องจากผู้ป่วยระแวงว่าผู้อื่นจะมาทำร้ายตนเอง จึงมักประพฤติตัวแปลกแยก ก้าวร้าว หรือเก็บตัว ไม่สุงสิงกับผู้อื่น ส่งผลให้ผู้คนรอบข้างปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่เหมือนเดิมหรือเลี่ยงที่จะพบปะพูดคุยด้วย  

นอกจากนี้ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการยอมรับความเป็นจริงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว และไม่มีโอกาสพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงหรือไม่ อีกทั้งอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า และมีความรู้สึกในแง่ลบกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อาการป่วยแย่ลง

การป้องกันภาวะหวาดระแวง

ภาวะหวาดระแวงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะนี้อาจช่วยลดแนวโน้มการเกิดอาการหวาดระแวงได้ เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด และเลี่ยงการใช้สารเสพติด เป็นต้น