เช็กอาการไซนัสอักเสบ และวิธีบรรเทาอาการ

อาการไซนัสอักเสบ (Sinusitis) สามารถส่งผลต่อสุขภาพโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว หลายคนอาจเคยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ ปวดใบหน้า โดยเฉพาะโหนกแก้ม และปวดหัวข้างเดียวคล้ายไมเกรน แต่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นหวัด ภูมิแพ้ หรือไมเกรนกันแน่ หากคุณพบอาการเหล่านี้ร่วมกัน อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเผชิญกับอาการไซนัสอักเสบอยู่

อาการไซนัสอักเสบเกิดจากการติดเชื้อและอักเสบของโพรงไซนัสที่อยู่ลึกเข้าไปในโพรงจมูก หากคุณเป็นโรคภูมิแพ้ สูบบุหรี่ หรือมีคนใกล้ตัวสูบบุหรี่คุณก็อาจเสี่ยงกับอาการไซนัสอักเสบได้มากขึ้น ในขณะที่บางคนอาจเกิดอาการไซนัสอักเสบหลังจากหายเป็นหวัดได้ไม่นาน 

เช็กอาการไซนัสอักเสบ และวิธีบรรเทา

อาการไซนัสอักเสบส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง มีทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรัง ทางที่ดีควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยในบทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จักกับอาการไซนัสอักเสบและวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้น

อาการไซนัสอักเสบมีอะไรบ้าง สังเกตอย่างไร

อาการของไซนัสอักเสบพบได้ 2 ลักษณะ โดยแบ่งตามช่วงเวลาที่มีอาการ คือ

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis)

อาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักคล้ายกับโรคหวัด แต่อาจมีอาการปวดใบหน้าร่วมด้วย อาการมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและเป็นต่อเนื่องนาน 2–4 สัปดาห์ บางคนอาจพบอาการไซนัสอักเสบแบบกึ่งเฉียบพลัน (Sub-Acute Sinusitis) ซึ่งอยู่ระหว่าง 4–12 สัปดาห์

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis) 

อาการไซนัสอักเสบเรื้อรังจะเกิดขึ้นติดต่อกันเกิน 12 สัปดาห์ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดหนองภายในโพรงไซนัสและโพรงจมูก

อาการไซนัสอักเสบที่พบได้บ่อย เช่น

  • คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยสีของน้ำมูกมักเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
  • ปวดหัว บางครั้งอาจปวดเพียงข้างเดียวคล้ายไมเกรน
  • ปวดใบหน้า กระบอกตา หน้าผาก และโหนกแก้ม
  • เจ็บคอ ไอ และมีเสมหะในคอ
  • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
  • ประสาทรับรู้กลิ่นลดลง
  • บางคนอาจมีไข้ต่ำ ปวดหู อ่อนเพลีย และปวดฟันร่วมด้วย

อาการของไซนัสอักเสบมักคล้ายกับโรคหวัดและโรคภูมิแพ้ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากกว่า หรืออาจเข้าใจว่าเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่ดี อาการแห้ง ฝุ่นเยอะ เป็นอาการจากเจ็บป่วยอื่น ทำให้คิดว่าเป็นเพียงอาการทั่วไปจนละเลยการรักษา แต่อาการเหล่านี้อาจเรื้อรังจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้

ในเบื้องต้น คุณสามารถแยกอาการไซนัสอักเสบจากอาการอื่นด้วยการสังเกตอาการเจ็บหรือปวดบริเวณใบหน้า หน้าผาก จมูก และโหนกแก้ม ผู้ป่วยไซนัสอักเสบบางคนอาจรู้สึกถึงกลิ่นเหม็นภายในโพรงจมูก หากไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์

ไซนัสอักเสบมักไม่ร้ายแรง แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำและรบกวนการใช้ชีวิต การเรียน หรือการทำงาน โดยเฉพาะคนที่มีอาการไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม หากอาการไซนัสอักเสบส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลับมาเป็นซ้ำหลายครั้งในปีเดียวกัน หรือพบอาการรุนแรง เช่น ปวดหัวและปวดใบหน้ารุนแรงขึ้น เป็นไข้ติดต่อกันหลายวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม

อาการไซนัสอักเสบบรรเทาได้

หากคุณยังไม่ได้ไปพบแพทย์หรืออยู่ระหว่างสังเกตอาการไซนัสอักเสบ สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

ล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ

การล้างจมูกจะช่วยชะล้างน้ำมูก ของเหลว และสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในโพรงจมูก สามารถทำได้ทุกวัน วิธีการก็เพียงใช้ไซรินจ์หรือกระบอกฉีดยาแบบไม่มีเข็มดูดเอาน้ำเกลือทางการแพทย์ฉีดเข้าไปในโพรงจมูกช้า ๆ ในระหว่างฉีดให้ตะแคงหัวไปด้านตรงข้ามเล็กน้อยและต้องกลั้นหายใจเพื่อป้องกันการสำลัก จากนั้นให้ทำสลับข้างไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกจมูกโล่งขึ้น ไม่มีน้ำมูกค้างในโพรงจมูก และน้ำที่ไหลออกมาหลังการล้างมีลักษณะใส ไม่ข้นเหนียวเหมือนกับตอนฉีดเข้าไป

ประคบร้อน

อาการปวดใบหน้าจากไซนัสอักเสบอาจบรรเทาได้ด้วยการประคบร้อน เริ่มต้นด้วยการใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำอุ่น จากนั้นบิดหมาดและนำมาประคบบริเวณที่ปวดราว 3 นาที ทั้งนี้ การประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดไซนัสอักเสบไม่ควรทำเกิน 4 ครั้งต่อวัน และควรระมัดระวังอุณหภูมิของน้ำไม่ให้ร้อนจนเกินไปจนอาจส่งผลต่อผิวหนัง

ใช้ยาที่หาซื้อได้ทั่วไป

คุณสามารถซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการไซนัสอักเสบได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยควรแจ้งเภสัชกรเกี่ยวกับอาการที่พบ โรคประจำตัว ยาอื่นที่กำลังใช้ การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร

เภสัชกรอาจแนะนำยาแตกต่างกันไปตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และสเปรย์แก้คัดจมูกเพื่อลดอาการบวมของผนังโพรงจมูกที่ทำให้คัดจมูก แม้จะเป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไป แต่ควรใช้ตามที่เภสัชกรแนะนำหรือใช้ตามฉลากยาเพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง

เมื่อคุณไปพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไซนัสอักเสบจริง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนเพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือหากสาเหตุของการอักเสบมาจากเชื้อราอาจได้รับยาต้านเชื้อรา ผู้ป่วยควรใช้ยาจนหมดตามที่แพทย์แนะนำแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือหายแล้วก็ตาม เพราะการหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้โพรงไซนัสกลับมาติดเชื้อและอักเสบอีกครั้งได้

นอกจากการใช้ยาและการดูแลตัวเองแล้ว ควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตร่วมด้วย โดยให้ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และงดสูบบุหรี่

ภายหลังการรักษาจากแพทย์ หากอาการไซนัสอักเสบไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น เป็นไข้ติดต่อกันหลายวัน หรือพบอาการอื่น ๆ ควรไปกลับพบแพทย์ กรณีที่พบอาการรุนแรง เช่น เป็นไข้สูง ไข้ไม่ลด ตาบวม หน้าผากบวม ปวดหัวรุนแรง ตาพร่า คอแข็ง โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย ควรไปพบแพทย์ทันที