เครื่องดื่มชูกำลังดีต่อสุขภาพหรือไม่

เครื่องดื่มชูกำลัง คือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า และมีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ การบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังจึงเป็นตัวเลือกของคนที่ต้องการพลังงานและสมาธิเพื่อจดจ่อในการทำงาน เช่น ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่ต้องทำงานข้ามคืน แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน

เครื่องดื่มชูกำลัง

เครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมอะไรบ้าง

การบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวได้ดี ทั้งยังเสริมสมรรถภาพในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ชนิด ดังนี้

  • คาเฟอีน คือส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งจัดเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้มีแรงและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า โดยทั่วไปแล้ว กาแฟปริมาณ 230 มิลลิลิตร มีคาเฟอีนประมาณ 95-200 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มชูกำลังยังมีกัวรานา (Guarana) ซึ่งเป็นคาเฟอีนจากธรรมชาติชนิดหนึ่งผสมอยู่ด้วย ผู้บริโภคจึงอาจได้รับคาเฟอีนมากเกินไปได้ ซึ่งหากร่างกายได้รับคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัม อาจทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจลำบาก ท้องร่วง ไข้ขึ้น และใจสั่น นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ผู้ที่มีภาวะไวต่อคาเฟอีน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตหรือหัวใจเต้นผิดปกติ และสตรีมีครรภ์
  • สารให้ความหวานและสารกระตุ้น เป็นอีกหนึ่งส่วนผสมสำคัญของเครื่องดื่มชูกำลัง สารกระตุ้นนั้นช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการเสริมพลังงานและความตื่นตัว แต่อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการทำปฏิกิริยากับคาเฟอีนได้ ส่วนน้ำตาลก็เป็นส่วนประกอบที่พบในปริมาณมากเช่นกัน โดยเครื่องดื่มชูกำลัง 1 หน่วยบริโภคอาจมีน้ำตาลมากกว่า 30 กรัม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง รวมทั้งเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
  • ส่วนประกอบอื่น ๆ คือส่วนผสมเพิ่มเติมของเครื่องดื่มชูกำลังแต่ละยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองสรรพคุณและความปลอดภัยในการบริโภค เช่น คาร์นิทีน (Carnitine) กลูโคโรโนแลคโตน (Glucuronolactone) อิโนซิทอล (Inositol) สารสกัดจากโสม (Panax Ginseng) ซุปเปอร์ ซิตริแมกซ์ (Super Citrimax) ทอรีน (Taurine) เป็นต้น

เครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มเกลือแร่ต่างกันอย่างไร

คนส่วนใหญ่บริโภคเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพและฟื้นฟูพลังให้แก่ร่างกาย โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มกำลังและความตื่นตัวได้เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วสรรพคุณของเครื่องดื่มทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกัน และไม่อาจบริโภคทดแทนกันได้

เครื่องดื่มชูกำลังคือเครื่องดื่มสำหรับเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย ทั้งนี้ หลายคนยังเชื่อว่ามีสรรพคุณเพิ่มความทนทานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น เครื่องดื่มชนิดนี้มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมหลัก และอาจประกอบด้วยสารสกัดจากกัวรานา กรดอะมิโนทอรีน น้ำตาล และวิตามิน ทั้งนี้ เด็กและวัยรุ่นไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากมีส่วนประกอบที่อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากได้รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการวิตกกังวล อารมณ์เสีย ท้องปั่นป่วน ท้องร่วง และปวดศีรษะ นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัม เนื่องจากอาจเสี่ยงแท้งบุตรได้สูงและส่งผลต่อการนอนหลับของทารกในครรภ์และตัวคุณแม่เอง

ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่คือเครื่องดื่มสำหรับทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ระดับของเหลวในร่างกายกลับมาสมดุล และช่วยทดแทนคาร์โบไฮเดรตที่ถูกนำไปใช้เป็นพลังงาน โดยเครื่องดื่มเกลือแร่มักมีน้ำตาล เกลือแร่ โปรตีน หรือวิตามินเป็นส่วนประกอบ เด็กและวัยรุ่นที่เป็นนักกีฬาหรือต้องทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายค่อนข้างหนักเป็นเวลานานอาจดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนพลังงานได้ อย่างไรก็ตาม วิธีทดแทนน้ำและเกลือแร่หลังออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือการดื่มน้ำเปล่า เนื่องจากเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางสารอาหารน้อย อีกทั้งอาจทำให้เสี่ยงน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีปัญหาสุขภาพช่องปากได้

เครื่องดื่มชูกำลังส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

เครื่องดื่มชูกำลังประกอบด้วยคาเฟอีน น้ำตาล และสารกระตุ้นอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย โดยผลจากการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

ผลดีต่อสุขภาพ

  • กระตุ้นการทำงานของสมอง ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าเครื่องดื่มชูกำลังช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการอ่อนล้า รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองในด้านต่าง ๆ เช่น ความจำ สมาธิ และการตอบสนองต่อกิจกรรมต่าง ๆ
  • เพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย งานวิจัยที่ศึกษาสรรพคุณของเครื่องดื่มชูกำลังพบว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมีสมรรถภาพในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งไม่ทำให้รู้สึกง่วงนอน อย่างไรก็ตาม หลายคนมักมีปัญหาด้านการนอนหลับเมื่อถึงเวลาต้องพักผ่อน

ผลเสียต่อสุขภาพ

  • ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ ผู้ที่ได้รับคาเฟอีนมากเกินไปอาจเสี่ยงเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเหล่านี้อยู่แล้ว อีกทั้งอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการด้านระบบหัวใจและระบบประสาทของเด็ก
  • มีปัญหาการนอนหลับ  เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว จึงอาจส่งผลให้นอนหลับยากและพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ
  • ส่งผลต่อโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังประกอบด้วยน้ำตาลปริมาณมาก
  • เมาช้า การผสมเครื่องดื่มชูกำลังกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้เมาช้าและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เนื่องจากคาเฟอีนทำให้ร่างกายตื่นตัว ซึ่งหากร่างกายได้รับแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจเสี่ยงได้รับบาดเจ็บหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายได้
  • น้ำหนักขึ้น เครื่องดื่มชูกำลังผสมน้ำตาลในปริมาณมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับพลังงานสูง มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ เป็นต้น
  • เกิดผลข้างเคียงเมื่อหยุดดื่ม การหยุดดื่มหรือพยายามเลิกดื่มเครื่องดื่มชูมักส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ และอารมณ์เสียง่าย อันเป็นผลข้างเคียงจากการถอนคาเฟอีน
  • เสี่ยงแท้ง สตรีมีครรภ์ที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังหรือได้รับคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัม อาจเสี่ยงแท้งบุตรได้สูง ทั้งยังส่งผลต่อการนอนหลับของตนเองและทารกในครรภ์ได้

บริโภคเครื่องดื่มชูกำลังอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

เครื่องดื่มชูกำลังมีสรรพคุณกระตุ้นร่างกายให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้มีส่วนผสมที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย จึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยและบริโภคอย่างเหมาะสม ดังนี้

  • ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังไม่เกินวันละประมาณ 450 มิลลิลิตร
  • เด็กและวัยรุ่นไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของหัวใจและสมอง รวมทั้งทำให้เสพติดคาเฟอีนได้
  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
  • ไม่ผสมเครื่องดื่มชูกำลังกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ตื่นตัวและเมาช้า ส่งผลให้ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
  • ห้ามรับประทานเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อทดแทนน้ำหรือเกลือแร่ที่สูญเสียจากการออกกำลังกาย

วิธีเพิ่มพลังโดยไม่ต้องใช้เครื่องดื่มชูกำลังมีอะไรบ้าง

การบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังในปริมาณพอเหมาะนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายอย่างได้ผลและปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า ดังนี้

  • ดื่มน้ำเปล่าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกาย โดยดื่มน้ำ 1 แก้วเมื่อตื่นนอน ขณะรับประทานอาหาร และในช่วงก่อนและระหว่างออกกำลัง รวมทั้งหลังจากออกกำลังกาย
  • ออกกำลังกาย เคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อให้รู้สึกสดชื่นและมีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
  • รับประทานโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรต เช่น นมช็อกโกแลต ผลไม้ ไข่ต้ม เนยถั่ว เป็นต้น เนื่องจากโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตนั้นให้พลังงานและสร้างกล้ามเนื้อ
  • รับประทานผักผลไม้สด ถั่ว และโยเกิร์ต เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างเพียงพอ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินเสริมในกรณีที่รู้สึกไม่มีแรง