เครื่องช่วยฟัง กับวิธีใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ขยายเสียงสำหรับผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน ทำให้สามารถได้ยินเสียงที่ดังและชัดเจนขึ้น ผู้ใช้งานจึงสามารถสื่อสารกับผู้อื่นและใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์หูคอจมูกหรือนักโสตสัมผัสวิทยา เพื่อเลือกใช้เครื่องช่วยฟังให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย

1547 เครื่องช่วยฟัง Resized

เครื่องช่วยฟัง คือ อะไร ?

เครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ขยายเสียงขนาดเล็กที่ใส่เข้าไปข้างในหรือคล้องไว้หลังใบหู ภายในเครื่องช่วยฟังจะมีไมโครโฟนขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เก็บเสียง ซึ่งชิปคอมพิวเตอร์และเครื่องขยายจะปรับและแปลงเสียงให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน ก่อนจะส่งคลื่นเสียงเข้าไปในหูโดยผ่านเครื่องขยาย เพื่อให้ผู้ที่ใช้งานสามารถรับฟังเสียงได้ดีขึ้น ลดเสียงรบกวนในหู ทำให้หูได้ทำตามหน้าที่สำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินเป็นเวลานาน ทั้งยังช่วยให้สามารถสื่อสารด้วยการฟัง พูด และใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกับคนปกติ

เครื่องช่วยฟังมีกี่ชนิด ?

เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้ที่มีปัญหาการได้ยินมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  • เครื่องช่วยฟังชนิดฟังเสียงทางอากาศ โดยใส่ไว้ที่หูเพื่อให้เสียงผ่านเข้าทางรูหู
  • เครื่องช่วยฟังชนิดฟังเสียงทางกระดูก โดยให้เสียงผ่านเข้าทางหลังใบหู

ทั้งนี้ เครื่องช่วยฟังมีทั้งชนิดที่ติดตั้งไว้ภายนอก และชนิดที่ต้องผ่าตัดฝังที่กะโหลกศีรษะโดยมีตัวรับเสียงอยู่ภายนอก ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่รูหูตีบ ไม่มีรูหู หรือมีหนองไหลออกจากรูหูตลอดเวลา

นอกจากนี้ เครื่องช่วยฟังแต่ละชนิดจะทำงานต่างกันไปตามเทคโนโลยีทั้ง 2 ชนิดหลักที่ติดตั้งภายในอุปกรณ์ ดังนี้

  • เครื่องช่วยฟังแบบอนาล็อก ทำงานโดยแปลงและขยายคลื่นเสียงให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ นักโสตสัมผัสวิทยาจะสั่งให้ทางผู้ผลิตตั้งโปรแกรมของเครื่องช่วยฟังตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย และผู้ใช้สามารถปรับโปรแกรมให้เข้ากับสถานการณ์ได้ ตั้งแต่ห้องเงียบ ๆ ไปจนถึงบรรยากาศและเสียงดังภายในร้านอาหารหรือโรงภาพยนตร์ ทั้งยังมีราคาถูกกว่าเครื่องช่วยฟังแบบดิจิทัล
  • เครื่องช่วยฟังแบบดิจิทัล คลื่นเสียงที่ผ่านเครื่องช่วยฟังชนิดนี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นรหัสตัวเลขก่อนจะถูกขยายขึ้น ซึ่งรหัสตัวเลขจะมีข้อมูลเกี่ยวกับระดับเสียงหรือความดังของเสียง และสามารถตั้งโปรแกรมพิเศษเพื่อขยายความถี่บางช่วงได้มากกว่าที่อื่น ๆ เน้นรับเสียงจากทิศทางที่เฉพาะเจาะจง ทั้งยังช่วยให้นักโสตสัมผัสวิทยาสามารถยืดหยุ่นและปรับเครื่องช่วยฟังให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะหรือความต้องการของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น

รูปแบบของเครื่องช่วยฟัง

ในปัจจุบันมีเครื่องช่วยฟังให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินได้เลือกใช้หลากหลายชนิด โดยขึ้นอยู่กับความต้องการ ราคา ขนาดของอุปกรณ์ รวมถึงลักษณะและวิธีการใช้งาน ดังนี้

  • เครื่องช่วยฟังแบบพกพา มีเครื่องขนาดใหญ่ ใช้เหน็บที่กระเป๋ากางเกงโดยมีสายต่อจากเครื่องเข้าหูฟัง ใช้งานง่าย ราคาถูก เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรง แต่มีสายรุงรังทำให้คนภายนอกทราบถึงความบกพร่องทางการได้ยินอย่างชัดเจน การฟังเสียงไม่เป็นธรรมชาติเพราะไมโครโฟนติดอยู่บริเวณหน้าอก และอาจเสียดสีกับเสื้อผ้าได้
  • เครื่องช่วยฟังแบบเกาะหลังใบหู ตัวเครื่องมีขนาดเล็กและโค้งเรียวเกาะอยู่หลังใบหู ไม่เกะกะรุงรังเพราะไม่มีสายไฟ ไมโครโฟนอยู่ที่หูจึงทำให้การฟังเสียงเป็นธรรมชาติ ใช้ได้กับผู้ที่สูญเสียการได้ยินเพียงเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง แต่ตัวเครื่องและปุ่มมีขนาดเล็ก ทำให้ต้องคลำหาปุ่มเพื่อปรับระดับเสียง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง
  • เครื่องช่วยฟังแบบใส่ในรูหู มี 3 แบบ คือ In The Ear (ITE) In The Canal (ITC) และ Complete In the Canal (CIC) มีไมโครโฟนอยู่ในรูหู จึงทำให้การฟังเสียงเป็นธรรมชาติมากขึ้นและเห็นความบกพร่องทางการได้ยินน้อยลง แต่เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็ก จึงทำให้ปรับระดับเสียงยาก ใช้ได้เฉพาะผู้ที่สูญเสียการได้ยินไม่มากหรือน้อยกว่า 70 เดซิเบล และมีราคาสูงเพราะต้องสั่งทำเฉพาะบุคคล
  • เครื่องช่วยฟังแบบรับเสียงข้ามหู เหมาะสำหรับผู้ที่หูหนวกข้างเดียวและอีกข้างได้ยินเสียงตามปกติ โดยติดไมโครโฟนไว้ในหูข้างที่หนวกเพื่อดักเสียง และส่งต่อไปยังหูข้างที่ปกติ ทำให้หูข้างที่มีปัญหาได้ยินเสียงผ่านไมโครโฟนในขณะที่หูอีกข้างได้ยินเสียงตามปกติ

ใครควรใช้เครื่องช่วยฟัง ?

ปัจจัยสำคัญในการเลือกเครื่องช่วยฟัง คือ ชนิดและความรุนแรงของปัญหาการได้ยิน รวมถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยฟังที่ต่างกันออกไป ซึ่งผู้ใช้จะเลือกเครื่องช่วยฟังภายใต้การดูแลของแพทย์หูคอจมูกหรือนักโสตสัมผัสวิทยา เพราะในปัจจุบันมีเครื่องช่วยฟังให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และมีรายละเอียดของอุปกรณ์ต่างกัน ดังนั้น ผู้ใช้จำเป็นต้องรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจ และผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟัง คือ บุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่สูญเสียการได้ยินและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่สูญเสียการได้ยินจากโรคหูแต่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น เป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่หูหนวกเพียงข้างเดียวแต่อีกข้างยังคงได้ยินเสียงตามปกติ เป็นต้น
  • ผู้ที่สูญเสียการได้ยินที่ส่งผลต่อการสื่อความหมายและการเข้าใจความหมาย
  • เด็กที่สูญเสียการได้ยินที่จะส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษา การพูด และการสื่อสาร

วิธีการดูแลรักษาเครื่องช่วยฟัง

เพื่อการทำงานที่เต็มประสิทธิภาพ อาจต้องดูแลรักษาเครื่องช่วยฟังเป็นพิเศษ ดังนี้

  • ตรวจสอบการทำงาน ทั้งประสิทธิภาพในการส่งเสียงที่ดังชัดเจน อุปกรณ์ไม่เสียดสีผิวหนังจนเป็นแผล อีกทั้งยังต้องตรวจสอบอายุการใช้งานของแบตเตอร์รี่ ถ้าแบตเตอร์รี่ใกล้หมดจะทำให้เครื่องช่วยฟังส่งเสียงได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องพกแบตเตอร์รี่สำรองไว้เพื่อใช้งานในกรณีฉุกเฉิน
  • ทำความสะอาดเป็นประจำ โดยใช้ผ้าที่แห้งและสะอาดเช็ดสิ่งสกปรกและกำจัดคราบขี้หูออก ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงความชื้นเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแผงวงจรหรือแบตเตอร์รี่ที่อยู่ภายในอุปกรณ์ และยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องช่วยฟังลดลงได้