การรักษา อีสุกอีใส
การรักษาอีสุกอีใส สามารถรักษาแบบประคับประคองอาการควบคู่กับการใช้ยาบรรเทาอาการ ในรายที่สุขภาพแข็งแรงและมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองได้เองที่บ้าน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก สตรีตั้งครรภ์ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำควรไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
การรักษาด้วยการใช้ยาเป็นการบรรเทาอาการของโรคให้รุนแรงน้อยลงหลังการติดเชื้อ และเมื่อหายขาดจากโรคจะช่วยเสริมภูมิป้องกันโรคให้แก่ร่างกาย ซึ่งระยะเวลาการใช้ยาและชนิดของตัวยาจะขึ้นอยู่อายุผู้ป่วย ระยะเวลาการติดเชื้อ สุขภาพร่างกาย หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยแบ่งการรักษาตามอาการได้ เช่น
- ในกรณีที่ไข้ขึ้นจะใช้ยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่แอสไพริน (Non-aspirin Medications) เช่น ยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยบรรเทาความไม่สบายตัวจากอาการไข้ขึ้น เนื่องจากการใช้ยาแอสไพรินหรือยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของแอสไพรินในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) ที่กระทบต่อการทำงานของตับ สมอง และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การรับประทานยาในกลุ่มแก้แพ้ (Antihistamine) หรือใช้ยาทาภายนอกตามร่างกาย เช่น คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) เพื่อลดอาการคันและกักเก็บความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง เพราะการคันบริเวณแผลอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางผิวหนัง
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหลังจากการติดเชื้อภายใน 3-5 วัน อาจช่วยให้อาการป่วยทุเลาลงได้
- การใช้ยาในกลุ่มต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น ผู้ป่วยควรได้รับยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเกิดผื่น ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
- การฉีดอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อช่วยต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจดจำและทำลายเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่พบในร่างกาย เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม เช่น หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคอีสุกอีใสสูง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ซึ่งจะช่วยให้อาการรุนแรงน้อยลงหลังการฉีด นอกจากนี้ตัวยายังมีราคาค่อนข้างสูง