โป๊ยกั๊ก สารพันสรรพคุณจริงหรือ ?

โป๊ยกั๊ก เป็นสมุนไพรพื้นเมืองของจีนและเวียดนาม นิยมนำเมล็ดและน้ำมันสกัดจากโป๊ยกั๊กมาใช้ โดยเชื่อว่าอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อรา อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงถูกนำไปใช้เป็นสารแต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม สบู่ น้ำหอม และใช้ดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ของยาต่าง ๆ

โป๊ยกั๊ก

น้ำมันสกัดจากโป๊ยกั๊กประกอบไปด้วยสารหลายชนิด เช่น อนีโทล (Anethol) พอลีฟีนอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) แทนนิน (Tanins) กรดแกลลิก (Gallic Acid) รวมถึงกรดชิคิมิก (Shikimic Acid) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ มีความเชื่อว่าสารต่าง ๆ ที่อยู่ในโป๊ยกั๊ก อาจช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพได้อีกด้วย

คำกล่าวอ้างถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของโป๊ยกั๊กเป็นจริงหรือไม่ มีการศึกษาค้นคว้าและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนกล่าวถึงแง่มุมต่าง ๆ ของโป๊ยกั๊กไว้ ดังนี้

โป๊ยกั๊กกับคุณสมบัติลดการอักเสบ

ในประเทศแถบเอเชีย โป๊ยกั๊กถูกนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคปวดข้อ โรคหอบหืด และโรคหลอดลมอักเสบ มีงานค้นคว้าที่ทดลองกับเซลล์ผิวหนังมนุษย์ เพื่อพิสูจน์คุณสมบัติด้านการลดการอักเสบ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า โป๊ยกั๊กอาจช่วยลดการอักเสบ และอาจมีประสิทธิภาพทางการรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้

แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติลดการอักเสบของโป๊ยกั๊ก แต่เป็นเพียงผลการทดลองจากตัวอย่างเซลล์ในห้องปฏิบัติการ และยังไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะสรุปประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ควรศึกษาทดลองเพิ่มเติมต่อไป

โป๊ยกั๊กกับคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย

แม้เชื้อแบคทีเรียบางชนิดมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งช่วยย่อยอาหาร หรือทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แต่ยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหลายชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นต้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเชื้อจุลชีพที่เป็นภัยต่อสุขภาพได้พัฒนาตัวเองให้ดื้อยา และทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างรุนแรง จึงมีการศึกษาทดสอบประสิทธิภาพการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากโป๊ยกั๊ก พบว่าสารไดเอทิลอีเทอร์ (Diethyl Ether) ที่สกัดจากโป๊ยกั๊กมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิด จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่า สารสกัดจากโป๊ยกั๊กอาจมีประโยชน์ หากถูกนำไปพัฒนาและใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการป่วยจากเชื้อแบคทีเรียได้ในอนาคต

โป๊ยกั๊กกับคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัส

ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ทำให้มนุษย์ป่วยด้วยการเข้าโจมตีและทำลายเซลล์ในร่างกาย อีกทั้งไวรัสบางชนิดอาจเปลี่ยนเซลล์ปกติให้กลายเป็นเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งได้ ตัวอย่างโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์ อีสุกอีใส ไข้เลือดออก โรคเริม เป็นต้น

หลายคนเชื่อว่าโป๊ยกั๊กอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัสได้ จากการศึกษาที่ทดสอบประสิทธิภาพน้ำมันหอมระเหยโป๊ยกั๊ก พบว่าสารยูจีนอล (Eugenol) อาจมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเริมได้

แม้ผลการค้นคว้าจะแสดงให้เห็นว่า น้ำมันหอมระเหยโป๊ยกั๊กอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัส แต่การทดลองนี้เป็นเพียงงานวิจัยในหลอดทดลอง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะสรุปประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

โป๊ยกั๊กกับประโยชน์ทางการเกษตร

นอกจากคุณประโยชน์ทางการแพทย์บางด้านที่อาจเป็นไปได้ หลักฐานการทดลองบางส่วนได้พิสูจน์ว่า โป๊ยกั๊กอาจมีประโยชน์ทางการเกษตรด้วยเช่นกัน การศึกษาหนึ่งแสดงถึงคุณสมบัติด้านการต้านเชื้อราของน้ำมันหอมระเหยที่มีสารทรานส์อนีโทล (Trans-Anethole) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของโป๊ยกั๊ก จากการค้นคว้าพบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งอาจนำไปพัฒนาเป็นยาฆ่าเชื้อราจากธรรมชาติ เพื่อใช้รักษาโรคพืชและเป็นประโยชน์ต่อการเก็บรักษาผักผลไม้ได้

นอกจากข้อมูลด้านต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีบางความเชื่อที่ว่าโป๊ยกั๊กอาจช่วยรักษาโรคหวัด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อาการไอ อาการวัยทองในเพศชาย และช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ แต่ในทางการแพทย์ ยังไม่มีผลวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอรองรับการรักษาในด้านต่าง ๆ ดังกล่าว จึงยังจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิผลที่แน่ชัดของโป๊ยกั๊ก

รับประทานโป๊ยกั๊กอย่างไรให้ปลอดภัย

การรับประทานโป๊ยกั๊กในรูปแบบสารแต่งกลิ่นอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการบริโภคโป๊ยกั๊กเพื่อเป็นยารักษาโรค สายพันธุ์ของโป๊ยกั๊กชนิดที่รับประทานได้และไม่มีพิษคือโป๊ยกั๊กจีน ซึ่งเป็นพืชคนละชนิดกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นที่เป็นพืชมีพิษ จึงควรระมัดระวังในการเลือกบริโภคโป๊ยกั๊กหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตามเสมอ

ข้อควรระวังในการรับประทานโป๊ยกั๊ก

บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการบริโภคโป๊ยกั๊กเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานโป๊ยกั๊กหากกำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทารกได้
  • เด็ก แม้อาจมีการใช้โป๊ยกั๊กจีนกับเด็กทารก แต่โป๊ยกั๊กจีนที่รับประทานได้อาจปนเปื้อนกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นชนิดที่มีพิษ ทั้งยังเคยมีรายงานว่า เด็กที่ดื่มชาโป๊ยกั๊กมีอาการงอแง อาเจียน และชัก ซึ่งคล้ายกับอาการของผู้ที่ได้รับพิษจากโป๊ยกั๊กญี่ปุ่น ส่วนในเด็กโต ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอด้านความปลอดภัยในการบริโภค ดังนั้น ไม่ควรให้ทารกและเด็กโตรับประทานโป๊ยกั๊กในทุกรูปแบบ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้