อาหารบำรุงเลือด กินแบบใดได้ประโยชน์

เลือดหรือโลหิต คือ สารเหลวที่ไหลเวียนไปตามอวัยวะทั่วร่างกายผ่านทางเส้นเลือดต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย

  • เซลล์เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปทั่วร่างกาย
  • เซลล์เม็ดเลือดขาว สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านทาน และกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
  • เกล็ดเลือด ช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผล ป้องกันภาวะมีเลือดออก
  • น้ำเลือด มีหน้าที่ขนส่งสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

หากการทำงานของระบบเลือดผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ ดังนั้น อาหารบำรุงเลือดจึงช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายที่ดีได้ด้วยเช่นกัน และเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

อาหารบำรุงเลือด

นอกจากการไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและตรวจเลือดอยู่เสมอแล้ว สารอาหารและโภชนาการต่าง ๆ ที่เราบริโภคในชีวิตประจำวัน อาจมีส่วนช่วยในการบำรุงเลือดให้มีสุขภาพที่ดีได้ด้วย โดยมีงานค้นคว้าวิจัยมากมายเกี่ยวกับสารอาหารจากการบริโภคอาหารแต่ละประเภท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารอาหารบางอย่างจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย แต่ในแง่การบำรุงเลือดนั้น อาหารบำรุงเลือดประเภทใดบ้างที่อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพเลือดได้ ?

อาหารบำรุงเลือดที่อาจช่วยกระตุ้นดูแลระบบเลือด

เนื้อปลา เนื้อปลาเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่ให้แคลอรี่ต่ำ และอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารอาหารที่พบได้ในไขมันปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาแซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน แมคเคอเรล งานค้นคว้าส่วนใหญ่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ควรบริโภคปลาในมื้ออาหารอย่างน้อย 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้ได้รับสารโอเมก้า-3 ในปริมาณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ธัญพืช ธัญพืชเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งโปรตีน เส้นใยอาหาร วิตามินบี สารต้านอนุมูลอิสระ ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียม โดยสามารถรับประทานธัญพืชได้อย่างหลากหลาย เช่น ขนมปังธัญพืช ถั่ว งา เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ จมูกข้าว ข้าวกล้อง ข้าวฟ่าง เป็นต้น

เนื้อปลาและธัญพืชกับการบำรุงเลือด

จากการศึกษาผลลัพธ์ของการบริโภคธัญพืชร่วมกับเนื้อปลาและพืชบิลเบอร์รี่ ที่มีผลทางการรักษาต่อกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่าอาหารเหล่านี้จะทำให้เกิดไขมันดี (HDL) ในเลือด ช่วยป้องกันการสะสมของคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอุดตันสะสมของไขมันในเลือดได้

และอีกหนึ่งงานค้นคว้าประโยชน์จากเนื้อปลา ก็สนับสนุนผลลัพธ์ที่ว่า การบริโภคเนื้อปลาอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดไขมันชนิดเลว (LDL) ในเลือดของผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอกลิกลงได้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลดีในการป้องกันความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

ผักและผลไม้ พืช ผัก ผลไม้ เป็นแหล่งอาหารที่มีเส้นใยสูง อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้า แคโรทีน การบริโภคผักและผลไม้หลากหลายชนิด จึงเป็นการบำรุงส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพดี ซึ่งสามารถรับประทานได้ในรูปแบบผักสด นำไปประกอบอาหาร ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แปรรูป และน้ำผักผลไม้ เป็นต้น

ผักผลไม้กับการบำรุงเลือด

มีงานทดลองที่ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคผักผลไม้ที่มีสารแคโรทีนสูงกับการลดปริมาณของ Plasma C-reactive ซึ่งเป็นโปรตีนในเลือดที่ทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อกระบวนการอักเสบของร่างกาย ในกลุ่มตัวอย่างเพศชายผู้มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ พบว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารแคโรทีนจะมีสัญญาณการอักเสบและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังคงคาดว่าการบริโภคผักผลไม้ทั่วไปในปริมาณมาก อาจช่วยลดกระบวนการอักเสบได้ด้วยการลดปริมาณของโปรตีนในเลือดที่ตอบสนองต่อกระบวนการอักเสบของร่างกาย

นมแพะและนมวัว

นมแพะกับนมวัวเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง มีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน โดยนมแพะจะมีแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 6 ไนอะซิน โพแทสเซียม ทองแดง และสารต้านอนุมูลอิสระเซเลเนียมมากกว่านมวัวเล็กน้อย ในขณะที่นมวัวจะมีปริมาณวิตามินบี 12 และกรดโฟลิคสูงกว่านมแพะมาก

นมแพะและนมวัวกับการบำรุงเลือด

มีงานค้นคว้าหนึ่งที่ทดลองประสิทธิผลทางการรักษาของนมแพะและนมวัว ในการฟื้นฟูฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก พบว่าการบริโภคนมแพะหรือนมวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการบริโภคนมแพะ จะช่วยฟื้นฟูฮีโมโกลบิน และเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กที่ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารประกอบโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ดังนั้น นมแพะจึงเป็นอาหารที่นักวิจัยแนะนำให้รับประทานในปริมาณที่พอดีเพื่อบำรุงเลือดในคนทั่วไป และในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

แม้จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่สารอาหารบางอย่างในนมแพะก็มีน้อยกว่าที่พบได้ในนมวัว โดยเฉพาะกรดโฟลิค ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อกระบวนการตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรรับประทานนมวัว หรือรับประทานนมแพะเสริมด้วยการบริโภคกรดโฟลิครูปแบบอาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์กำหนด เพื่อป้องกันการขาดกรดโฟลิค และต้องรับประทานนมแต่ละชนิดที่ผ่านการพลาสเจอร์ไรซ์แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารอื่น ๆ ที่ทำจากแพะหรือแกะด้วย เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ และสำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนในนมวัว ก็อาจมีโอกาสแพ้นมแพะด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ ในการบริโภคนมแต่ละชนิดว่าเหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ทั้งหมดนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า อาหารบางจำพวกอาจเป็นอาหารบำรุงเลือดได้ในบางแง่ที่ได้รับการศึกษาค้นคว้า และแม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน แต่สารอาหารที่ได้จากการรับประทานอาหารเหล่านี้ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม หากผู้บริโภครู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม

นอกจากอาหารบำรุงเลือด เราสามารถดูแลรักษาระบบเลือดให้มีสุขภาพดีได้อย่างไร ?

  • ตรวจเลือด การตรวจเลือดใช้เวลาเพียงไม่นาน แพทย์จะใช้เข็มเจาะเก็บตัวอย่างเลือดไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ บุคคลทั่วไปแม้ไม่ใช่ผู้ป่วยก็สามารถตรวจเลือดได้ เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายในปัจจุบัน ตรวจหาการติดเชื้อหรือสัญญาณการเจ็บป่วย ตรวจการทำงานของอวัยวะภายในระบบต่าง ๆ หรือตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น
  • ดูแลสุขภาพร่างกาย และหมั่นสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการป่วย รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการป่วยหรือโรคภัยต่าง ๆ ด้วยการรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ มีประโยชน์ทางโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รู้จักบริหารจัดการและผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และอาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย ตรวจสุขภาพประจำปี และที่สำคัญ คือ หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วยใด ควรปรึกษาหรือไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
  • ป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคโลหิตจาง ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในช่วงที่เสียเลือด เช่น ช่วงมีประจำเดือน ช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด เป็นต้น หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็นโลหิตจาง โดยอาหารที่ควรรับประทานเพื่อช่วยป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อไก่ ตับ ปลาแซมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ฟักทอง งา ซีเรียล เป็นต้น