อาการท้องผูก สัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลย

อาการท้องผูก เป็นการถ่ายอุจจาระน้อยครั้งกว่าปกติ และอาจส่งผลให้ถ่ายอุจจาระลำบากร่วมด้วย โดยทั่วไป จะถือว่ามีอาการท้องผูกเมื่อไม่ขับถ่ายอุจจาระนานเกิน 3 วัน แต่บางคนอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดร่วมด้วยและแตกต่างกันไปในแต่ละคน 

สาเหตุของอาการท้องผูกในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน หรือใช้ยาบางชนิด เป็นต้น แม้ว่าอาการท้องผูกเป็นครั้งคราวจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางรายอาจมีอาการท้องผูกเรื้อรังจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยในเบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับการรับประทานอาหาร แต่หากมีอาการเรื้อรังควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม 

2526-อาการท้องผูก

อาการท้องผูกมีอะไรบ้าง 

อาการท้องผูกนั้นเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก ผู้หญิงและสตรีมีครรภ์อาจเสี่ยงต่ออาการท้องผูกมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งนอกเหนือจากการไม่ถ่ายอุจจาระนานกว่า 3 วันแล้ว ผู้ที่มีอาการท้องผูกยังอาจเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น 

  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็งหรือก้อนเล็ก ๆ
  • ต้องใช้แรงมากในการเบ่งอุจจาระ
  • รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออกหรือถ่ายไม่สุด เจ็บขณะถ่ายอุจจาระ 
  • ต้องกดหน้าท้องหรือใช้มือช่วยล้วงขณะถ่ายอุจจาระ
  • ใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระนานกว่าการขับถ่ายปกติ
  • ท้องอืด 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการข้างต้นมากกว่า 2-3 ข้อเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกเรื้อรัง และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะหากมีอาการท้องผูกร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น

  • ถ่ายอุจจาระปนเลือด 
  • ท้องผูกอย่างเฉียบพลันร่วมกับอาการปวดท้องหรือปวดเกร็งหน้าท้อง
  • ไม่ถ่ายอุจจาระร่วมกับไม่ผายลมออกมา
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ขนาด รูปร่าง หรือความอ่อนนุ่มของอุจจาระเปลี่ยนไปอย่างมาก  
  • ลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แล้วไม่ได้ผล

เคล็ดลับง่าย ๆ ป้องกันอาการท้องผูก 

อาการท้องผูกที่ไม่รุนแรงสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้หลากหลายวิธี ซึ่งเราสามารถทำได้เองง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน  

  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง วันละ 25-30 กรัม เช่น ถั่ว ผัก ผลไม้ ธัญพืช ซีเรียล หรือรำข้าว เป็นต้น
  • ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนที่อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ  
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน
  • ไม่กลั้นอุจจาระและควรขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเวลาหลังมื้ออาหาร
  • ลองรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกอย่างน้อยวันละ 10 กรัม เนื่องจากอาจช่วยให้อุจจาระนิ่มลงและเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ให้มากขึ้น
  • รับประทานยาระบาย แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังในระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่ใช้ติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม หากวิธีข้างต้นยังไม่ได้ผลและยังคงมีอาการท้องผูก ท้องผูกเรื้อรัง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการที่ต้องการรักษาที่แตกต่างกันไป