ออกซิเจนในเลือดต่ำ สัญญาณแบบไหนที่ไม่ควรละเลย

ออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxemia) เป็นภาวะอันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำน้อยกว่าร้อยละ 90 หรือ 92 และหากระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงมากจนอวัยวะในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

นอกจากนี้ ออกซิเจนในเลือดต่ำยังอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหืด ปอดแฟบ ปอดติดเชื้อ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน โลหิตจาง หรืออาจเป็นผลมาจากโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจนได้เช่นกัน

ออกซิเจนในเลือดต่ำ สัญญาณแบบไหนที่ไม่ควรละเลย

ออกซิเจนในเลือดต่ำ อาการเป็นอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่าออกซิเจนเป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เมื่อระบบไหลเวียนโลหิตมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าระดับปกติย่อมส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย และอาการจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น 

  • ปวดหัว เวียนหัว
  • หายใจไม่อิ่ม หายใจเป็นเสียงหวีด หรือหายใจเร็วและแรงขึ้น
  • ไอ
  • มึนงง สับสน
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • เล็บ ริมฝีปากหรือผิวเป็นสีม่วง หรือเกิดภาวะตัวเขียว (Cyanosis) 
  • อ่อนเพลีย ไม่รู้สึกตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้สึกหายใจไม่อิ่มแม้กำลังพักผ่อนหรือหลังจากการออกแรงเพียงเล็กน้อย อาการรุนแรงขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือออกกำลังกาย มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รู้สึกคล้ายอาการสำลักหรือหายใจไม่อิ่มจนนอนหลับไม่ได้และตื่นกลางดึก ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษา

ทำอย่างไรเมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำ    

ผู้ป่วยที่มีภาวะออกซิเจนต่ำ แพทย์จำเป็นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการ ระดับความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์ 

หากผู้ป่วยแสดงอาการผิดปกติคล้ายกับภาวะดังกล่าว แพทย์จะตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหรือความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการ  ตัวอย่างเช่น หากออกซิเจนในเลือดต่ำจากโรคหอบหืดหรือภาวะหลอดลมตีบ แพทย์จะให้ยาขยายหลอดลมพ่นทางจมูก ซึ่งตัวยาจะทำให้หลอดลมขยายและช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น จึงสามารถเพิ่มออกซิเจนในเลือดได้

นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาด้วยการบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) โดยให้ผู้ป่วยรับออกซิเจนทดแทนผ่านอุปกรณ์ให้ออกซิเจน อาทิ สายหรือท่อให้ออกซิเจนทางจมูก (Oxygen Canula) หรือหน้ากากออกซิเจน (Oxygen Mask) ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับออกซิเจนทดแทนได้ทั้งที่บ้านและภายในโรงพยาบาล โดยระยะเวลาการรักษาและปริมาณออกซิเจนทดแทนที่ได้รับจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นภาวะอันตราย แต่สามารถลดความเสี่ยงโดยการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างเหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ ฝึกหายใจอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายไม่หักโหม ตรวจร่างกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ 

สำหรับที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรมีเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) ติดบ้าน เพื่อให้สามารถตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดได้ทันที