หูตึง

ความหมาย หูตึง

หูตึง เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจเกิดขึ้นช้า ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากหลายสาเหตุ เช่น อายุมากขึ้น ได้ยินเสียงที่ดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีภาวะที่ส่งผลกระทบต่อหู หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจป้องกันอาการหูตึงได้โดยการแคะหูหรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดัง แต่หากภาวะดังกล่าวเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่สามารถป้องกันและรักษาอาการให้หายขาดได้ แต่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังหรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยให้ได้ยินเสียงชัดเจนยิ่งขึ้นได้

อาการหูตึง

อาการของหูตึงอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรืออาจเกิดขึ้นอย่างถาวรได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • มักขอให้ผู้อื่นพูดซ้ำ ๆ ช้า ๆ และดัง ๆ เพราะคิดว่าคนอื่นพูดพึมพำหรือพูดไม่ชัดพอ
  • มีปัญหาด้านการได้ยิน โดยเฉพาะเวลาที่มีเสียงรบกวนแทรกหรือเมื่ออยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก
  • ได้ยินเสียงพยัญชนะต่าง ๆ ไม่ถนัดชัดเจน
  • เอามือป้องหูไปด้วยในขณะที่ฟังคนอื่นพูด ต้องหันหน้าไปหาคนพูด หรือต้องโน้มตัวไปใกล้ ๆ ต้นเสียงจึงจะได้ยิน
  • เร่งเสียงโทรทัศน์ วิทยุ หรือฟังเพลงในระดับเสียงที่ดังกว่าปกติ
  • รู้สึกวิงเวียน ได้ยินเสียงกริ่ง หรือเสียงหึ่ง ๆ อยู่ในหู
  • อาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องพูดคุยกับคนอื่น ๆ เพราะมีปัญหาด้านการได้ยิน
  • ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฟังคนอื่นพูด จนอาจทำให้รู้สึกเครียดหรือเหนื่อยได้

1914 หูตึง rs

สาเหตุของหูตึง

หูตึงอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • หูชั้นในเสื่อม เนื่องจากอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง จนอาจทำให้เซลล์ประสาทหูชั้นในได้รับความเสียหาย โดยอาจเกิดขึ้นได้จากการฟังเสียงนั้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน อย่างการทำงานในสถานที่ก่อสร้างหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเสียงเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ หรืออาจเกิดจากการฟังเสียงที่ดังมากเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด เป็นต้น  
  • ใช้ยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของหูชั้นใน อย่างยาปฏิชีวนะเจนตามัยซินหรือยาเคมีบำบัดบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงแว่วในหูชั่วคราว นอกจากนี้ การรับประทานยาแอสไพริน ยาต้านมาลาเรีย ยาขับปัสสาวะ หรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้สูญเสียการได้ยินชั่วคราวเช่นกัน
  • มีโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่อาจทำให้หูตึงข้างใดข้างหนึ่งแบบฉับพลัน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน ติดเชื้อที่หู แก้วหูทะลุ ขี้หูอุดตัน มีถุงน้ำในหู โรคหินปูนเกาะกระดูกหู โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
  • ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณศีรษะ
  • มีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้เสี่ยงสูญเสียการได้ยินมากกว่าคนทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือเมื่อได้ยินเสียงที่ดังเกินไป

การวินิจฉัยอาการหูตึง

เมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและอาการของผู้ป่วย จากนั้นอาจตรวจร่างกายและตรวจดูที่หูของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุของอาการ โดยอาจดูว่ามีขี้หูอุดตัน ติดเชื้อในหู หรือมีปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายในหูหรือไม่ จากนั้นอาจตรวจการได้ยินทั่วไป โดยแพทย์อาจทดสอบว่าผู้ป่วยสามารถได้ยินเสียงกระซิบหรือเสียงเบา ๆ อย่างเสียงถูมือได้ดีเพียงใด นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

ตรวจด้วยหูฟัง
เป็นการทดสอบความสามารถในการได้ยินที่หูทีละข้าง โดยการฟังเสียงในระดับและโทนเสียงที่ต่างกันด้วยหูฟัง ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องใส่อุปกรณ์ไว้ที่กระดูกหลังหู เพื่อดูว่าการสั่นของเสียงสามารถลอดผ่านเข้าไปในหูของผู้ป่วยได้มากเพียงใด

ตรวจด้วยส้อมเสียง
แพทย์อาจถือส้อมสำหรับทดสอบการได้ยินไว้ที่หูทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย จากนั้นจึงเคาะส้อมเสียง แล้วสอบถามว่าผู้ป่วยได้ยินเสียงของส้อมหรือรู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือนในหูแต่ละข้างหรือไม่

ตรวจหูชั้นกลาง
เป็นการใส่อุปกรณ์ตรวจเข้าไปในหูของผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะสร้างแรงดันที่ทำให้แก้วหูเกิดการสั่นสะเทือน

การรักษาอาการหูตึง

การรักษาอาการหูตึงอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งอาจทำได้ดังนี้

  • การกำจัดขี้หูที่อุดตัน หากผู้ป่วยหูตึงเนื่องจากมีขี้หูอุดตัน อาจรักษาได้โดยการล้างหู ใช้ยาหยอดหู หรือใช้อุปกรณ์สุญญากาศดูดขี้หูออกมา
  • การใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นการใส่อุปกรณ์สำหรับช่วยฟังขนาดพอดีกับหู เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงชัดเจนมากขึ้น โดยมักนำไปใช้กับผู้ป่วยที่หูตึงเนื่องจากหูชั้นในได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ เครื่องช่วยฟังบางชนิดจะช่วยให้ได้ยินเสียงได้ดีขึ้น หากต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวน โดยเครื่องมือนี้สามารถนำไปใช้กับโทรศัพท์มือถือหรือประสาทหูเทียมได้
  • การฝังประสาทหูเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือขนาดเล็กที่เรียกว่าประสาทหูเทียมเข้าไปที่หูชั้นใน โดยประสาทหูเทียมจะทำหน้าที่แทนบริเวณหูชั้นในที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งวิธีการรักษานี้มักนำไปใช้กับผู้ป่วยหูตึงที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณประสาทรับเสียงเท่านั้น
  • การผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหากอาการหูตึงเกิดจากบางสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในหูซ้ำ ๆ อาการบาดเจ็บที่หูอย่างรุนแรง หรือโรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะใส่ท่อเล็ก ๆ ในหูของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและช่วยระบายของเหลวในหูออกมา

ภาวะแทรกซ้อนของอาการหูตึง

อาการหูตึงมักส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย โดยอาจทำให้มีปัญหาในการเข้าใจผู้อื่น และผู้ป่วยบางรายอาจเกิดความเครียด รู้สึกหดหู่ หรือคิดว่าคนอื่นโกรธที่ตนเองไม่ได้ยิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่หูตึง ซึ่งบางรายก็ไม่ยอมรับว่าตนไม่ได้ยินและปฏิเสธการรักษา คนรอบข้างจึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความจำเป็นในการตรวจรักษาและพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพราะอาจช่วยให้ผู้ป่วยสื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจมากขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและกลับมามีความมั่นใจในการพูดคุยอีกครั้ง

การป้องกันอาการหูตึง

อาการหูตึงที่เกิดขึ้นจากบางสาเหตุอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้ยาก อย่างไรก็ตาม วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหู ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหูตึงที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นได้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน ซึ่งหากเสียงที่ได้ยินมีความดังเกิน 85 เดซิเบล อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้ยินเสียงนั้นเป็นเวลานาน เช่น เสียงการจราจรบนท้องถนน เสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงเพลงระดับที่ดังที่สุดจากหูฟัง หรือเสียงเครื่องบินกำลังบินขึ้น เป็นต้น  
  • หากต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังรบกวน อาจใช้หูฟังชนิดครอบหู เพื่อกันเสียงรบกวนจากภายนอกแทนการเพิ่มเสียงเพลงเพื่อกลบเสียงรบกวน และใส่ที่อุดหูเมื่ออยู่ในคอนเสิร์ต เมื่อไปว่ายน้ำ หรือเมื่อต้องทำงานเป็นนักดนตรี
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อการได้ยิน เช่น การฟังเพลง ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ในระดับเสียงที่ดังจนเกินไป เป็นต้น
  • เข้ารับการทดสอบการได้ยินอย่างสม่ำเสมอหากต้องทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดัง ซึ่งอาจช่วยให้ตรวจพบอาการได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และอาจป้องกันอาการรุนแรงขึ้นได้
  • ไม่ยัดสิ่งของเข้าไปในหู เช่น นิ้วมือ ที่ปั่นหู สำลี หรือกระดาษทิชชู่ เป็นต้น   
  • หากเกิดการติดเชื้อในหู ควรไปพบแพทย์ เพราะภาวะหูติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้หูได้รับความเสียหายอย่างถาวรได้