น้ำในหูไม่เท่ากัน

ความหมาย น้ำในหูไม่เท่ากัน

น้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน โดยปกติหูชั้นในจะมีน้ำในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ สูญเสียการได้ยิน รู้สึกถึงแรงดันภายในหู เป็นต้น อาการมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ต่อเนื่อง และเกิดขึ้นที่หูข้างใดข้างหนึ่ง ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจเสี่ยงต่อการล้มเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือในระหว่างการทำงานกับเครื่องจักรได้ รวมถึงอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินไปอย่างถาวร  

น้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการของน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการของน้ำในหูไม่เท่ากันมักเกิดขึ้นที่หูข้างใดข้างหนึ่งแบบกะทันหันและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ บางรายอาจมีอาการนานเป็นชั่วโมง จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป มักจะมีอาการหรือสัญญาณเตือนเกิดขึ้นก่อน เช่น วิงเวียนศีรษะ  บ้านหมุน เซ ปวดศีรษะ รู้สึกถึงแรงดันภายในหู หูอื้อ รู้สึกไม่สบายใจ เป็นต้น ควรหาที่นั่งพักหากมีอาการข้างต้น

อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน มักแบ่งได้ 3 ระยะ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ระยะแรกเริ่ม จะมีอาการวิงเวียนศีรษะแบบไม่ทันตั้งตัว โดยปกติมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่อาจเกิดขึ้นได้นานถึง 24 ชั่วโมง มักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมึนหัว อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินหรือหูอื้อร่วมด้วยในเวลาเดียวกัน
  • ระยะกลาง ยังคงวิงเวียนศีรษะอย่างต่อเนื่อง อาจมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่หูอื้อและปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินมักจะแย่ลง บางรายอาจไม่พบอาการนานหลายเดือน หรืออาจจะยังรู้สึกวิงเวียนศีรษะ ไวต่อเสียง สูญเสียการทรงตัวหรือเซร่วมด้วย
  • ระยะหลัง อาการวิงเวียนศีรษะจะลดน้อยลง อาจพบอาการได้บ้างในช่วงหลายเดือนหรืออาจนานหลายปี ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว รู้สึกไม่มั่นคงที่เท้าเวลายืนหรือเดิน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มืด แต่อาการหูอื้อและปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินมีแนวโน้มที่จะแย่ลง
อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ ดังนั้นควรไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการดังกล่าวเพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไป

สาเหตุของน้ำในหูไม่เท่ากัน

ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำในหู โดยหูชั้นในจะประกอบด้วยโคเคลีย (Cochlea) ซึ่งเป็นท่อที่มีลักษณะเป็นเกลียวและมีช่องเก็บของเหลว มีหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และเวสทิบิวล่าร์แอพพาราตัส (Vestibular Apparatus) มีลักษณะเป็นท่อ ช่วยควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว ซึ่งถ้าแรงดันของน้ำในหูมีมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและหูอื้อได้ ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน ได้แก่

  • การระบายของเหลวในหูชั้นในที่ไม่ปกติ อาจเกิดจากการอุดตันหรือความผิดปกติของร่างกาย
  • การตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
  • โรคภูมิแพ้ 
  • การติดเชื้อไวรัส
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • ความบกพร่องทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังสมาชิกรุ่นอื่น ๆ ในครอบครัวได้
  • การปวดศีรษะไมเกรน 
  • สารเคมีของน้ำในหูไม่สมดุล เช่น ระดับโซเดียมหรือโปแทสเซียมในร่างกายมีมากหรือน้อยเกินไป
การวินิจฉัยน้ำในหูไม่เท่ากัน

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติและอาการของผู้ป่วย เช่น วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ หรือสูญเสียการได้ยิน อาจมีการสอบถามประวัติทางการแพทย์หรือการตรวจร่างกายร่วมด้วย รวมถึงการทดสอบอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรค โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

  • การตรวจการได้ยิน โดยผู้ป่วยจะได้ยินเสียงในระดับและความดังที่แตกต่างกันออกไป และให้สัญญาณโดยการยกมือหรือกดปุ่มเมื่อได้ยินเสียง
  • การตรวจการทรงตัว เช่น
    • การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน (Videonystagmography: VNG) เซนเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวจะอยู่ภายในหูชั้นในซึ่งจะเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา ซึ่งจะทดสอบโดยให้ผู้ป่วยมองที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วโยกศีรษะไปในทิศทางต่าง ๆ
  • การตรวจการทำงานของหูชั้นในแบบ Rotary-Chair Testing จะมีลักษณะคล้ายกับการตรวจแบบ VNG โดยให้ผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้หมุน เพื่อตรวจการทำงานของหูชั้นในจากการเคลื่อนไหวของลูกตา
  • การตรวจประสาทการทรงตัวในหูชั้นในโดยการวัดคลื่นไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อคอ (Vestibular Evoked Myogenic Potentials: VEMP) วิธีนี้นอกจากจะช่วยวินิจฉัยอาการแล้ว ยังสามารถช่วยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในหูของผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันได้อีกด้วย
  • การทดสอบการทรงตัวด้วยเครื่อง Posturography ใช้วินิจฉัยว่าอวัยวะที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวส่วนไหนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โดยผู้ป่วยจะสวมใส่อุปกรณ์และยืนเท้าเปล่าทรงตัวบนอุปกรณ์จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ
  • การตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (Electrocochleography: ECoG) เพื่อตรวจสอบการตอบสนองต่อเสียงของหูชั้นใน และวินิจฉัยหากพบความผิดปกติของของเหลวที่ก่อตัวขึ้นในหูชั้นใน
  • การตรวจทางรังสี เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่บริเวณศีรษะเพื่อตรวจหาความผิดปกติของสมองที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำในหูไม่เท่ากัน เช่น เนื้องอกบนเส้นประสาทหู (Acoustic Neuroma) เป็นต้น
การรักษาน้ำในหูไม่เท่ากัน

การรักษาสามารถทำได้หลายวิธีเพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการวิงเวียนศีรษะ เช่น การใช้ยา ทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีด การบำบัด หรือการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การรับประทานยา แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน และป้องกันการคลื่นไส้ อาเจียน ได้แก่
    • ยารักษาอาการป่วยจากการเคลื่อนไหวหรือยาแก้เมารถเมาเรือ เช่น มีไคลซีน
    • ยาต้านการอาเจียน เช่น โปรเมทาซีน
    • ยาขับปัสสาวะ เป็นการรักษาในระยะยาว เพื่อช่วยรักษาระดับของเหลวในหูและบรรเทาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยรับประทานยาควบคู่ไปกับการลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
    • ยาสเตียรอยด์ หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • การบำบัดหรือการรักษาแบบ Noninvasive Therapies ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
  • การฟื้นฟูระบบการทรงตัว (Vestibular Rehabilitation Therapy) สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวจากอาการวิงเวียนศีรษะ
  • การใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะช่วยพัฒนาการได้ยิน โดยนักโสตสัมผัสวิทยาจะช่วยเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • การใช้ Meniett Device เพื่อช่วยปรับความดันในหูชั้นกลาง ทำให้ของเหลวในหูไหลเวียนได้ดีขึ้น
หากการรักษาแบบประคับประคองด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่พบอาการที่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาแบบเชิงรุกดังต่อไปนี้
  • การฉีดยา แพทย์จะฉีดเจนตามัยซิน (Gentamicin) หรือสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน เข้าที่หูชั้นกลางให้ดูดซึมเข้าไปที่หูชั้นใน เพื่อช่วยบรรเทาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน การใช้ยาเดกซาเมทาโซนจะทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้น้อยกว่าเจนตามัยซิน แต่ก็อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาที่น้อยกว่าเช่นเดียวกัน
  • การผ่าตัด มักใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ตอบสนอง โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
    • การผ่าตัดแบบ Endolymphatic Sac Procedure โดยผ่าตัดกระดูกบางส่วนออก หรืออาจใส่ท่อเพื่อช่วยระบายน้ำส่วนเกินออกจากหูชั้นใน ควบคุมระดับของเหลวด้วยการเพิ่มหรือลดน้ำในหูชั้นใน ทำให้อาการวิงเวียนศีรษะดีขึ้น
    • การผ่าตัดแบบ Vestibular Nerve Section โดยการตัดเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นในและสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ
    • การผ่าตัดแบบ Cochleosacculotomy เป็นการผ่าตัดที่มีจุดประสงค์เพื่อระบายน้ำในหูชั้นใน ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน
    • การผ่าตัดแบบ Labyrinthectomy โดยผ่าตัดอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินและทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน วิธีการนี้มักทำในผู้ป่วยที่เกือบจะสูญเสียการได้ยินทั้งหมดหรือสูญเสียการได้ยินไปทั้งหมดแล้ว
ผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันสามารถดูแลรักษาตัวเองเพิ่มเติมได้ที่บ้าน ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ ผงชูรส ช็อกโกแลต คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำประมาณ 6-8 แก้ว ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • นั่งพักหากพบว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ
  • จัดการกับความเครียด 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ภาวะแทรกซ้อนของน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการของน้ำในหูไม่เท่ากันสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาจทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศีรษะอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการล้มลงไปที่พื้น เกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือในระหว่างการทำงานกับเครื่องจักรได้ รวมถึงอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินไปอย่างถาวร เป็นต้น

การป้องกันน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการของน้ำในหูไม่เท่ากันมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ดังนั้นวิธีการป้องกันสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และไม่ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างตกอยู่ในอันตรายหรือสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิต เช่น การว่ายน้ำ การทำกิจกรรมผาดโผน การยกของหนัก การทำงานกับเครื่องจักร รวมถึงการขับขี่ยานพาหนะ เป็นต้น