หล่อฮังก๊วย สมุนไพรหลากสรรพคุณ

หล่อฮังก๊วย เป็นสมุนไพรจีนที่นิยมนำผลแห้งมาต้มน้ำแล้วบริโภคเป็นเครื่องดื่ม โดยมีความเชื่อว่าสมุนไพรชนิดนี้อาจมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำตาล

หล่อฮังก๊วย

นอกจากจะนิยมนำผลหล่อฮังก๊วยไปทำเป็นเครื่องดื่มแล้ว ยังนิยมนำไปสกัดเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากธรรมชาติที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 150-200 เท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของสารโมโกรไซด์ (Mogroside) อีกทั้งหล่อฮังก๊วยยังปราศจากแคลอรี่ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต โซเดียม รวมถึงสารสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น แอสปาร์แตม (Aspartame) หรือขัณฑสกร สารให้ความหวานจากหล่อฮังก๊วยจึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารแคลอรี่ต่ำและผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะนำไปประกอบอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มได้ แต่เนื่องจากสารให้ความหวานจากหล่อฮังก๊วยมีความหวานมากกว่าน้ำตาล เมื่อนำไปปรุงอาหารควรใส่ทีละน้อยและหมั่นชิมรสเพื่อให้ได้ความหวานในปริมาณที่พอดี

โดยมีงานค้นคว้าและหลักฐานทางการแพทย์ที่พิสูจน์สรรพคุณของหล่อฮังก๊วยในแง่ของประโยชน์ต่อสุขภาพไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้

หล่อฮังก๊วยส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน

แม้น้ำตาลไม่ใช่สาเหตุหลักของโรคเบาหวาน แต่หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไปก็อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ ดังนั้น คนทั่วไปรวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระมัดระวังในการบริโภคน้ำตาล จากการศึกษาหนึ่งสนับสนุนว่าสามารถใช้หล่อฮังก๊วยเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่สกัดจากธรรมชาติ โดยไม่กระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินในร่างกาย อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานยังรับประทานสารนี้ได้อย่างปลอดภัยด้วย

แม้หล่อฮังก๊วยจะปราศจากคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล แต่เครื่องดื่มหล่อฮังก๊วยบางชนิดอาจมีส่วนผสมอื่น ๆ ปะปนอยู่ด้วย เช่น น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต แคลอรี่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระดับอินซูลินในร่างกาย ดังนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อเครื่องดื่มหล่อฮังก๊วย และรับประทานผลิตภัณฑ์จากหล่อฮังก๊วยในปริมาณที่เหมาะสม

หล่อฮังก๊วยกับคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ

หากมีสารอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไป จะรบกวนการทำงานของเซลล์จนเซลล์ต่าง ๆ เกิดความเสียหายและส่งผลเสียต่อร่างกาย เชื่อกันว่าการรับประทานสมุนไพรอย่างหล่อฮังก๊วยอาจช่วยต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ มีการศึกษาเกี่ยวกับสารโมโกรไซด์ซึ่งเป็นเป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติในหล่อฮังก๊วยเกี่ยวกับคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การศึกษาดังกล่าวพบว่าหล่อฮังก๊วยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ แต่งานค้นคว้านี้เป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น ดังนั้น จำเป็นต้องศึกษาทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของหล่อฮังก๊วยให้ชัดเจน

หล่อฮังก๊วยกับคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งช่วยย่อยอาหาร กำจัดเซลล์มะเร็ง ทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อโรค รวมถึงให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่มีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคด้วย มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า ผลหล่อฮังก๊วยมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ไซไรทิฟลาวานไดออล (Siraitiflavandiol) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก เช่น เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ เชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส (Porphyromonas Gingivalis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ และยีสต์แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อราในช่องปาก นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าใบหล่อฮังก๊วยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียของหล่อฮังก๊วยไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของหล่อฮังก๊วยในด้านนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

หล่อฮังก๊วยกับคุณสมบัติต้านการอักเสบ

การอักเสบเป็นปฏิกิริยาที่เซลล์เม็ดเลือดขาวปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งหล่อฮังก๊วยเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่เชื่อกันว่าช่วยต้านการอักเสบ บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ และช่วยละลายเสมหะได้ จากการศึกษาพบว่าสารโมโกรไซด์ของหล่อฮังก๊วยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของหล่อฮังก๊วยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

รับประทานหล่อฮังก๊วยอย่างไรให้ปลอดภัย

แม้หล่อฮังก๊วยอาจมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย และยังไม่พบหลักฐานว่าการบริโภคหล่อฮังก๊วยก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ อีกทั้งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายังให้การรับรองว่าหล่อฮังก๊วยปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมถึงเด็กและผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบจากการบริโภคหล่อฮังก๊วยเป็นเวลานาน และการบริโภคหล่อฮังก๊วยอาจเสี่ยงเกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้พืชในวงศ์แตง (Curcurbitaceae) เช่น ฟักทอง แตงกวา เมลอน และน้ำเต้า โดยอาจส่งผลให้เกิดผื่นคันตามผิวหนัง วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ลิ้นบวม ปวดท้อง อาเจียน ชีพจรเต้นอ่อนหรือเร็วกว่าปกติ เป็นต้น

หล่อฮังก๊วยอาจดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการจำกัดปริมาณน้ำตาลในอาหาร แต่ในปัจจุบันยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลที่ชัดเจนของหล่อฮังก๊วย ดังนั้น ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานหล่อฮังก๊วย เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง