สุขภาพจิตกับสัญญาณเตือนของปัญหาที่ไม่ควรละเลย

สุขภาพจิต เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเทียบเท่ากับสุขภาพกาย เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็อาจส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ซึ่งในปัจจุบันนี้มีคนที่ต้องเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิตมากมาย และหากความผิดปกตินั้นสะสมไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้เจ็บป่วยทางจิตประสาทได้ 

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตนั้นอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน การเรียน ไปจนถึงการดูแลคุณภาพชีวิตให้ดี และเมื่อกระทบต่อคุณภาพชีวิตแล้วก็อาจทำให้รู้สึกไม่มีความสุขได้ ถึงแม้ว่าสุขภาพจิตของเราเกิดอาการผิดปกติก็ยังสามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาสังเกตถึงความผิดปกติของสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว

2951-สุขภาพจิต

สุขภาพจิต ผิดปกติอย่างไรได้บ้าง ?

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตนั้นมีอยู่หลากหลาย ทั้งโรคและภาวะที่พบได้มาก อาทิ ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล (Anxiety Disorders) โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD) โรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือโรคจิต (Psychosis) ซึ่งลักษณะอาการโดยทั่วไปของปัญหาทางจิตเวชเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับความคิด การรับรู้ อารมณ์ รวมถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย

แม้ว่าทางการแพทย์จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตได้อย่างชัดเจน แต่ก็พบข้อมูลว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม สารเคมีในสมอง หรืออาจเกิดจากสาเหตุทั้ง 3 อย่างรวมกัน โดยสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของสุขภาพจิต ได้แก่ การได้รับบาดแผลทางจิตใจ การถูกทอดทิ้ง การเกิดภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมหรือความเปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง ทั้งนี้ การรู้ถึงสัญญาณของความผิดปกติถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมในเวลาอันรวดเร็ว 

สุขภาพจิตและสัญญาณของการเกิดปัญหา

โดยทั่วไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมก่อนที่ความเจ็บป่วยด้านจิตใจจะเกิดขึ้นมักมีสัญญาณเตือนบางอย่าง เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • มีความคิดในด้านลบเกี่ยวกับตนเอง
  • รู้สึกกังวลหรือหนักใจบ่อยครั้ง
  • รู้สึกสิ้นหวังหรือกดดันเป็นอย่างมาก
  • รู้สึกหวาดระแวง สงสัย หรือวิตกกังวลต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น
  • ฉุนเฉียวหรืออารมณ์แปรปรวน
  • ไม่มีสมาธิ
  • ไม่มีความสุขกับชีวิตอย่างที่เคย
  • มีความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นเรื่องยากลำบาก
  • มักมีความคิดใหม่ ๆ หรือมีความรู้สึกแปลก ๆ เกิดขึ้น หรืออาจไม่มีความรู้สึกใดเลย
  • นอนหลับมากเกินไปหรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • ไม่ดูแลตนเองและความสะอาด
  • แยกจินตนาการกับความจริงได้ลำบาก 
  • พูดจาสับสนหรือมีปัญหาด้านการสื่อสาร
  • แยกตัวออกจากสังคมหรือใช้วลาอยู่กับตัวเองมากกว่าปกติ
  • มีปัญหาผลการเรียนหรือการทำงานแย่ลง

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีพฤติกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องหรือพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพราะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตนั้นได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสในการรักษาหายก็จะสูงตามไปด้วย

สุขภาพจิตมีปัญหา ควรทำอย่างไร ?

หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับสุขภาพจิตแล้ว การเริ่มพูดคุยกับจิตแพทย์ในช่วงแรกอาจเป็นเรื่องยาก ผู้ป่วยควรวางเป้าหมายในการพูดคุยแต่ละครั้ง จดบันทึกข้อมูลสำคัญที่คาดว่าก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต และควรเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาในระหว่างการพูดคุยให้มากที่สุด เพื่อการเลือกใช้ยารักษาได้อย่างเหมาะสม ให้คำปรึกษาหรือแนะนำการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตได้ตรงจุด หรือส่งต่อการรักษาให้แพทย์เฉพาะทางที่เป็นประโยชน์ต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ในระหว่างการรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิต ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรเว้นช่วงหรือหยุดรับประทานยาเอง เพราะอาจทำให้อาการกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้งหรืออาจทำให้มีอาการคล้ายกับอาการถอนยาได้หากหยุดรับประทานยาอย่างกะทันหัน 

อย่างไรก็ตาม สุขภาพจิตที่มีความผิดปกติอาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและการใช้ชีวิต หากปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธี ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่ออารมณ์ พฤติกรรมและร่างกายที่ร้ายแรง นั่นก็เพราะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตนั้นไม่สามารถหายไปได้เอง ยิ่งปล่อยทิ้งไว้ก็จะยิ่งยากต่อการรักษา ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขภาพดีและมีความสุข