สิวข้าวสาร

ความหมาย สิวข้าวสาร

สิวข้าวสาร (Milia) เป็นสิวเม็ดเล็ก ๆ สีขาว ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร โดยส่วนใหญ่ปรากฏขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าผาก แก้ม จมูก หรือเปลือกตา พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ซึ่งสิวชนิดนี้อาจหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน หรืออาจต้องไปรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ตามแต่กรณี

สิวข้าวสาร

อาการของสิวข้าวสาร

สิวข้าวสารเป็นสิวที่มีลักษณะตื้นและแข็ง มีขนาดเล็กประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เป็นตุ่มสีขาวหรือเหลืองคล้ายสีไข่มุก ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย หากสงสัยเกี่ยวกับอาการของสิวข้าวสารที่ปรากฏ หรือเป็นสิวข้าวสารนานเกิน 3 เดือนแล้วยังไม่หายหรืออาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการตรวจรักษา

สาเหตุของสิวข้าวสาร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสิวข้าวสาร แต่จากการศึกษาพบว่าสาเหตุอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของสิวข้าวสาร ดังนี้

  • สิวข้าวสารในเด็กแรกเกิด พบมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ของทารกแรกเกิด เชื่อว่าอาจเกิดจากต่อมไขมันของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โดยมักปรากฏบริเวณจมูก ศีรษะ ใบหน้า ภายในปาก หรือช่วงบนของลำตัว ซึ่งอาจหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด
  • สิวข้าวสารปฐมภูมิในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเส้นใยเคราตินที่ติดอยู่ใต้ผิวหนังสะสมจนเกิดเป็นสิว โดยมักปรากฏบริเวณเปลือกตา หน้าผาก หรืออวัยวะเพศ และบริเวณรอยพับจมูกในเด็กเล็ก ซึ่งอาจหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจคงอยู่นานหลายเดือน
  • สิวข้าวสารในวัยหนุ่มสาว อาจเกิดขึ้นจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาการการ์ดเนอร์ (Gardner Syndrome) มะเร็งผิวหนังบางชนิด หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น ๆ ซึ่งอาจปรากฏขึ้นเองเมื่อเป็นทารกแรกเกิดหรือในช่วงวัยอื่น ๆ
  • สิวข้าวสารชนิดแบนราบ เป็นสิวที่เจริญเติบโตมาจากการติดเชื้อจนปรากฏเป็นปื้นผิวหนังกว้างหลายเซนติเมตร และอาจเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังบางชนิดแต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดได้อย่างแน่ชัด มักปรากฏบริเวณหลังหู เปลือกตา แก้ม และกราม โดยอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยกลางคน
  • สิวข้าวสารชนิดบาดแผล เกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่น ผื่นพุพอง เป็นแผลไฟไหม้รุนแรง หรือแผลจากการขัดถูเสียดสีซ้ำ ๆ ของผิวหนังบริเวณนั้น เป็นต้น และอาจรบกวนรูขุมขนและต่อมไขมันจนทำให้เกิดสิวข้าวสารได้บ่อยขึ้น โดยสิวข้าวสารชนิดนี้มักปรากฏบริเวณหลังมือหรือนิ้วมือ  
  • สิวข้าวสารชนิดแตกได้ เป็นชนิดที่พบได้ยากแต่เกิดปริมาณมากเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน โดยสิวที่แตกเป็นแผลอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้ และมักปรากฏบริเวณใบหน้า แขนช่วงบน หรือลำตัวช่วงบน
  • สิวข้าวสารที่เกิดจากยา การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดสิวข้าวสารได้ เช่น ยาไฮโดรควิโนน ยาฟลูออโรยูราซิล หรือครีมสเตียรอยด์ เป็นต้น

การวินิจฉัยสิวข้าวสาร

เนื่องจากสิวข้าวสารมีลักษณะเฉพาะ แพทย์จึงวินิจฉัยได้จากการสังเกตอาการโดยไม่ต้องทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ในบางกรณีแพทย์อาจทดสอบผิวหนังด้วยการใช้อุปกรณ์เฉพาะสะกิดชิ้นเนื้อตัวอย่างไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาภาวะที่ทำให้เกิดลักษณะตุ่มที่ใกล้เคียงกับสิวข้าวสาร เช่น สิวอุดตัน หรือไขมันที่หนังตา เป็นต้น

การรักษาสิวข้าวสาร

โดยทั่วไป สิวข้าวสารอาจหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน และอาจไม่จำเป็นต้องรักษาหรือกำจัดออกไป แต่หากสิวข้าวสารสร้างความรำคาญใจหรือส่งผลต่อภาพลักษณ์และความงาม ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ดูแลตนเอง หรือดูแลเด็กที่เป็นสิวข้าวสารโดยการล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นหรือสบู่เด็กอ่อนทุกวันแล้วซับหน้าให้แห้งอย่างอ่อนโยน หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่นหรือออยล์บนใบหน้า และห้ามกดหรือเจาะสิว
  • ใช้ยา เช่น ใช้ยาทาเรตินอยด์เพื่อลดการแพร่กระจายของสิว หรือยามิโนไซคลีนเพื่อรักษาสิวข้าวสารชนิดแบนราบ
  • กำจัดสิ่งอุดตันภายในสิว หากสิวข้าวสารแตก ให้ใช้เข็มหรือใบมีดปลอดเชื้อกดหรือสะกิดเอาวัตถุภายในสิวออกมา
  • กำจัดสิว อาจกำจัดสิวข้าวสารโดยการลอกหน้าด้วยสารเคมี การยิงเลเซอร์ การใช้ความเย็นจัดทำลายสิว การใช้ความร้อนจากกระแสไฟฟ้า รวมถึงการขัดหรือขูดผิวหนัง เป็นต้น

การป้องกันสิวข้าวสาร

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกันการเกิดสิวข้าวสารได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและสิวข้าวสารแต่ละชนิดอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่อาจดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ล้างหน้าให้สะอาด ระมัดระวังการบาดเจ็บทางผิวหนัง และระมัดระวังในการใช้ยาต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดสิวได้ เป็นต้น