วิธีเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้องและได้ผล

วิธีเช็ดตัวลดไข้เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายเมื่อมีไข้ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดที่ผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นิยมใช้ในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีไข้สูง ซึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้น และป้องกันภาวะชักจากไข้สูง (Febrile Seizures) ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก

ไข้ คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันพยายามกำจัดเชื้อโรค เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรียออกจากร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้ว ร่างกายของคนเราจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยราว ๆ 37 องศาเซลเซียส โดยอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ได้เล็กน้อยขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำและอาการเจ็บป่วย การเช็ดตัวลดไข้ร่วมกับการดูแลร่างกายด้วยวิธีอื่น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการตัวร้อนได้ดีขึ้น

Tepid Sponging

รู้จักวิธีเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้อง

การเช็ดตัวลดไข้มักใช้เมื่อผู้ป่วยมีไข้สูง โดยมีอุณหภูมิร่างกาย 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป วิธีเช็ดตัวลดไข้ มีดังนี้

1. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเช็ดตัว ได้แก่ กะละมังหรือภาชนะปากกว้างสำหรับใส่น้ำ ผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับชุบน้ำ และผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ซึ่งใช้เช็ดตัวผู้ป่วยให้แห้งหลังจากเช็ดตัวลดไข้เสร็จ

2. ปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นขณะใช้วิธีเช็ดตัวลดไข้

3. เตรียมน้ำประปาอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่น ไม่ใช้น้ำเย็นในการเช็ดตัวผู้ป่วย เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ร่างกายระบายความร้อนออกได้ยาก อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ปวดตามตัว และอาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกด้วย

4. นำผ้าขนหนูผืนเล็กจุ่มลงในน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นที่เตรียมไว้ บีบน้ำออกหมาด ๆ 

5. ใช้ผ้าเช็ดให้ทั่วบริเวณใบหน้า แขน ขาของผู้ป่วย โดยให้เช็ดย้อนรูขุมขนขน คือเช็ดจากปลายมือและเท้าเข้าหาลำตัว และให้ออกแรงเช็ดพอประมาณ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รูขุมขนขยายตัว และช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนดีขึ้น

6. นำผ้าไปชุบน้ำบ่อย ๆ ทุกประมาณ 2–3 นาที และเช็กอุณหภูมิน้ำ หากน้ำเย็นเกินไปควรเปลี่ยนน้ำ

7. เช็ดตัวซ้ำ โดยเน้นบริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่าง ๆ สลับกับวางผ้าไว้บริเวณหน้าผาก

8. หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นขณะใช้วิธีเช็ดตัวลดไข้ ให้หยุดและใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ซับน้ำตามผิวหนังออกให้แห้งจนกว่าจะหยุดหนาวสั่น

9. ระยะเวลาในการใช้วิธีเช็ดตัวลดไข้ควรอยู่ระหว่าง 10–15 นาที และไม่ควรเช็ดตัวนานเกิน 30 นาที จากนั้นใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ซับตัวผู้ป่วยให้แห้ง

10. ให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ควรให้ใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหลายชั้น เพราะจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอีก

11. ให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนในห้องที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ร้อนอบอ้าว และใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้หลังจากเช็ดตัวเสร็จประมาณ 15–30 นาที เพื่อดูว่าอุณหภูมิร่างกายลดลงแล้วหรือไม่

หากผู้ป่วยมีไข้ติดต่อกันเกิน 5 วัน มีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในผู้ใหญ่ หรือสูงเกิน 38–39 องศาเซลเซียสในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีผื่นตามตัว มีภาวะขาดน้ำ ปวดหัวหรือปวดท้องรุนแรง หายใจหอบหรือหายใจลำบาก สับสน คอแข็ง ผิวเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

การดูแลผู้ป่วยที่มีไข้สูงควรใช้วิธีเช็ดตัวลดไข้ควบคู่กับวิธีลดไข้อื่น เช่น ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ อย่างน้อย 7–9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว ดื่มน้ำเปล่า ชาสมุนไพร หรือซุปอุ่น ๆ เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ และรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลและไอบูโพรเฟน โดยไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย