วิธีละลายเสมหะ เคล็ดลับบรรเทาอาการไอมีเสมหะได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง

เสมหะ (Phlegm) เป็นสารคัดหลั่งหรือของเหลวชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ช่องปาก ลำคอ โพรงจมูก และปอด ในช่วงที่สุขภาพแข็งแรงดี เสมหะจะดูใส มีปริมาณน้อย และมีหน้าที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในลำคอและดักจับสิ่งแปลกปลอม อย่างฝุ่นผงและเชื้อโรค แต่เมื่อระบบทางเดินหายใจผิดปกติจากการเจ็บป่วยก็อาจส่งผลให้ลักษณะของเสมหะเปลี่ยนไปจากเดิม

ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอาการไอและมีเสมหะ ไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ด้วย โดยในเบื้องต้นอาการเหล่านี้อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีธรรมชาติและการใช้ยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

วิธีละลายเสมหะ

เสมหะกับโรคที่พบได้บ่อย

โรคและความผิดปกติที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตเสมหะมากขึ้นและทำให้เสมหะข้นหนืดกว่าปกติที่พบได้ทั่วไป เช่น 

  • โรคภูมิแพ้
  • โรคไข้หวัด
  • โรคไข้หวัดใหญ่
  • โรคคออักเสบ
  • โรคไซนัสอักเสบ

บางครั้งเสมหะเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุทั่วไปที่พบได้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน โดยอาจจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด การสูบบุหรี่ หรือการสูดดมสารเคมีจนทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง นอกจากนี้ การมีเสมหะมากกว่าปกติเป็นเวลานานอาจเป็นสัญญาณของโรคเรื้อรัง อย่างโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน หรือโรคปอดชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน

วิธีกำจัดเสมหะด้วยตนเอง

ปริมาณและความข้นหนืดของเสมหะที่มากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ ในเบื้องต้นอาจใช้วิธีธรรมชาติและการรับประทานยาเพื่อลดความข้นหนืดและปริมาณของเสมหะ ดังนี้

การกำจัดเสมหะด้วยวิธีธรรมชาติ

อาการไอ มีเสมหะ สามารถบรรเทาอาการด้วยตนเองได้ดังนี้

1. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
ทางการแพทย์เชื่อกันว่าน้ำเกลือมีสรรพคุณในการทำความสะอาด ลดการอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งการกลั้วคอเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือประมาณ 30-60 วินาที อาจช่วยให้ลำคอชุ่มชื้นและเสมหะหลุดออกได้ง่ายขึ้น หากมีอาการเจ็บคอและคออักเสบร่วมด้วยก็อาจใช้น้ำเกลือช่วยบรรเทาการอักเสบภายในลำคอและการติดเชื้อได้

2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อวัน โดยจิบน้ำเป็นประจำในระหว่างวันอาจช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้ขับออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะน้ำอุ่นและน้ำอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมยังช่วยให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติอีกด้วย

3. เพิ่มความชื้นภายในห้อง
อากาศที่แห้งและปริมาณความชื้นในอากาศที่น้อยกว่าปกติอาจส่งผลให้โพรงจมูกและลำคอขาดความชุ่มชื้นและเกิดการระคายเคือง เมื่อระบบทางเดินหายใจแห้งและระคายเคือง ร่างกายจะผลิตเสมหะมากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ในบางครั้งร่างกายอาจผลิตเสมหะมากเกินไปจนทำให้มีเสมหะติดค้างอยู่ในลำคอ ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะขาดความชุ่มชื้นภายในลำคอ อาจใช้เครื่องทำความชื้นหรือการเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความชื้นของอากาศภายในห้องควรคำนึงถึงสภาพอากาศในแต่ละฤดูด้วย

4. รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสมุนไพร
มีสมุนไพรหลายชนิดเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการต้านโรค บรรเทาการอักเสบในลำคอ รวมถึงลดปริมาณเสมหะ ไม่ว่าจะเป็นมะนาว ขิง ชะเอม กระเทียม กานพลู และน้ำผึ้ง จึงอาจเลือกรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีวัตถุดิบเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ แต่ควรระวังไม่ให้รสชาติจัดจนเกินไป เพราะอาจทำให้ระคายคอมากขึ้นได้ รวมทั้งควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม อย่างชาร้อน น้ำซุป หรืออาหารอ่อนที่เหมาะกับผู้ที่ไม่สบาย

5. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการมีเสมหะอาจมีสาเหตุจากการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การสูบบุหรี่หรือการสูดดมควันบุหรี่ เป็นต้น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็สามารถสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นควัน ละอองเกสรดอกไม้ หรือสารเคมี เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองและอาการแพ้

การกำจัดเสมหะด้วยการใช้ยา

นอกจากวิธีธรรมชาติแล้ว วิธีละลายเสมหะอาจใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปได้ดังนี้

  • ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
    ยาละลายเสมหะมีสรรพคุณลดความข้นหนืด ยากลุ่มนี้ทั้งแบบออกฤทธิ์กับเสมหะ และออกฤทธิ์ปรับสมดุลของต่อมผลิตเสมหะโดยตรง ซึ่งช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดของเสมหะผิดปกติ ทั้งแบบที่ข้นเหนียวกว่าปกติและแบบที่เหลวเกินให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ โดยตัวยาชนิดนี้ยังกระตุ้นการทำงานของเนื้อเยื่อในลำคอ ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยาละลายเสมหะบางชนิดยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณในการลดอักเสบอีกด้วย
  • ยาขับเสมหะ (Expectorants)
    ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ส่งผลให้เสมหะชุ่มชื้นและอ่อนตัวลง ทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งตัวยายังช่วยกระตุ้นอาการไอเพื่อให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้มากขึ้น เมื่อร่างกายขับเสมหะออกแล้ว อาการไอและเสมหะจะบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะข้างเคียงอย่างระคายทางเดินอาหารหรือทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้

ยาที่ใช้ขจัดเสมหะนั้นมีหลายรูปแบบ อย่างยาน้ำชนิดไซรัปหรือน้ำเชื่อมที่นิยมใช้กันมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และยาขับเสมหะชนิดผงที่ใช้ผสมน้ำสะอาดแล้วดื่ม โดยทั้งยาชนิดน้ำเชื่อมและชนิดผงละลายน้ำอาจช่วยให้เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีปัญหาในการกลืนรับประทานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยาที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบอาจซึมเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วกว่าชนิดเม็ดและชนิดแคปซูล อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

สุดท้ายนี้ อาการมีเสมหะเป็นครั้งคราวอาจไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แต่หากลองทำตามวิธีละลายเสมหะด้วยตนเองในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือเป็นติดต่อกันนานเป็นเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด