วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำเป็นแค่ไหน ?

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นจำเป็นหรือไม่ ใครบ้างที่ควรฉีด และควรฉีดบ่อยแค่ไหน ?

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ฉีดเข้าร่างกายบริเวณต้นแขน เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์ก่อนจะออกฤทธิ์ วัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 3-4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธ์ุที่มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดในช่วงนั้น ๆ

จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ?

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นแนวทางการป้องกันที่ดีสำหรับทุกครอบครัว เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา มักเป็นนานกว่า 1 สัปดาห์หรืออาจมากกว่านั้นจึงจะหายเป็นปกติ  หากผู้สูงอายุป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้

ใครควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง ?

วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่คนทั่วไปฉีดได้ แต่ควรมีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนนี้ปีละ 1 เข็มอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยป้องกันความรุนแรงและการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยกลุ่มเสี่ยงที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ ได้แก่

  • เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • สตรีมีครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
  • ผู้ป่วยที่พักฟื้นในสถานพยาบาลหรือสถานที่สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • เด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือโรคหอบหืด
  • เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีโรคเรื้อรังและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นประจำ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • ผู้ป่วยอายุ 6 เดือน-18 ปีที่ต้องรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นประจำและเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye's Syndrome) จากการเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้ตับและสมองบวมได้
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล เพราะหากเป็นไข้หวัดใหญ่อาจแพร่เชื้อไปสู่คนไข้ที่เสี่ยงติดเชื้อสูง
  • ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่ตรวจและควบคุมโรค
  • เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโดยตรง

ใครบ้างที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ?

บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่หรือส่วนประกอบของวัคซีนชนิดนี้อย่างรุนแรง
  • ผู้ที่กำลังป่วยหรือเคยป่วยด้วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré Syndrome: GBS)
  • ผู้ที่เพิ่งหายจากอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันไม่เกิน 7 วัน
  • ผู้ที่เพิ่งนอนพักรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลมาได้ไม่เกิน 14 วัน
  • ผู้ที่ยังควบคุมอาการของโรคประจำตัวไม่ได้ หรือมีอาการกำเริบในช่วงที่เข้ารับการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีไข้สูงหรือมีอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนนี้จนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ่อยแค่ไหน ?

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ รวมทั้งบุคคลทั่วไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ?

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรทำเป็นประจำทุกปี เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปสักระยะ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคจะค่อย ๆ ลดลง นอกจากนี้ ในแต่ละปีสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดอาจเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องฉีดวัคซีนซ้ำเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และป้องกันได้ตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาด

ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อไร ?

ปกติแล้ววัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นควรฉีดตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแพร่ระบาดของโรค เพื่อให้วัคซีนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในช่วงที่มีการระบาด ซึ่งในประเทศไทยมักเป็นช่วงฤดูฝน คือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และฤดูหนาวในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม

ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

จากการศึกษาพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 40-60 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ตรงกับวัคซีน นอกจากนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันยังมีแนวโน้มช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บีและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (H1N1) ได้ดี แต่มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่ H3N2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง อาการที่พบบ่อยคือเจ็บหรือบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน แต่บางรายอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ต่ำ หรือรู้สึกปวดเมื่อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน  ส่วนอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ผู้ป่วยที่แพ้จะเริ่มแสดงอาการภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีน