ลูกขี้อาย สาเหตุและเทคนิคเพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคม

ลูกขี้อายเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนอาจกังวล โดยเด็กมักรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจเมื่ออยู่ในสถานการณ์ใหม่ ๆ ร่วมกับคนที่ไม่คุ้นเคย และมักรู้สึกสบายใจมากกว่าเมื่อได้เป็นผู้ฟังหรือสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ โดยไม่เป็นจุดสนใจ แม้ว่าความประหม่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่นิสัยขี้อายของลูกอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตได้

ความขี้อายเป็นลักษณะนิสัย (Temperament) อย่างหนึ่งที่เด็กแต่ละคนแสดงออกแตกต่างกัน เด็กบางคนอาจปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ง่าย แต่เด็กบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสถานการณ์ พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลและฝึกฝนให้ลูกมีความมั่นใจ เพื่อให้ลูกใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ลูกขี้อาย สาเหตุและเทคนิคเพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคม

สาเหตุที่ทำให้ลูกขี้อาย

นิสัยขี้อายของเด็กอาจเกิดจากปัจจัยภายในอย่างลักษณะนิสัยส่วนตัว หรือปัจจัยภายนอกอย่างการเลี้ยงดูและสภาพสังคมที่เด็กเติบโตมา เด็กบางคนอาจมีนิสัยขี้อายที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งสันนิษฐานว่าพันธุกรรมมีผลต่อนิสัยของเด็ก โดยเด็กทารกประมาณร้อยละ 15 มีแนวโน้มที่จะมีนิสัยขี้อาย และทารกที่มีนิสัยหวาดกลัวและร้องไห้ง่ายอาจมีนิสัยขี้อายเมื่อเติบโตขึ้น

นอกจากนี้ พ่อแม่ที่มีนิสัยขี้อายหรือปกป้องลูกมากเกินไป (Overprotective Parents) มักเข้าไปกำกับและจัดการการใช้ชีวิตของลูก ทำให้ลูกไม่กล้าตัดสินใจหรือลงมือทำสิ่งต่าง ๆ และปรับตัวในการเข้าสังคมได้ยาก จึงอาจทำให้เด็กมีนิสัยขี้อาย รวมถึงการเติบโตมาในสภาพสังคมที่มีการกลั่นแกล้ง (Bullyจากญาติหรือเพื่อนที่โรงเรียน ทั้งการทำร้ายร่างกาย การพูดล้อเลียน ใส่ร้าย หรือนินทา อาจทำให้เด็กหวาดกลัว วิตกกังวล และกลัวการเข้าสังคมได้

7 เทคนิคเพิ่มความมั่นใจให้ลูกขี้อาย 

พ่อแม่ควรให้เวลาลูกในการปรับตัวเข้ากับคนหรือสถานที่ใหม่ ๆ โดยไม่ใช้คำพูดให้ลูกรู้สึกไม่ดี และสอนให้ลูกมีทักษะในการเข้าสังคมด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. ไม่ควรล้อเลียนหรือตำหนิเมื่อลูกขี้อาย ไม่กล้าเข้าหาผู้อื่น และระมัดระวังเมื่อคนใกล้ชิด อย่างเพื่อนที่โรงเรียนหรือญาติ กลั่นแกล้งและเรียกลูกว่าเป็นเด็กขี้อาย เพราะอาจเป็นการสร้างบาดแผลในใจของลูก และยิ่งสร้างความรู้สึกไม่มั่นใจในการเข้าสังคม
  2. กระตุ้นให้ลูกเล่าเรื่องที่ไม่สบายใจ และเล่าเหตุผลที่ทำให้ไม่กล้าทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ให้ฟัง โดยไม่คาดคั้นและให้ลูกเล่าเมื่อรู้สึกพร้อม ทั้งนี้ พ่อแม่อาจเล่าประสบการณ์ตัวเองและวิธีรับมือกับเรื่องน่าอายให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าความรู้สึกอายเกิดขึ้นได้กับทุกคนและเป็นสิ่งที่แก้ไขได้
  3. ฝึกให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นบ่อย ๆ เช่น ออกไปวิ่งเล่น เล่นกีฬากลางแจ้ง หรือไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านเพื่อน เป็นต้น
  4. เมื่อลูกไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นในสถานที่ใหม่ พ่อแม่อาจพาลูกเดินไปด้วยกันและอยู่ใกล้ ๆ ลูกจนกว่าลูกจะรู้สึกคุ้นเคย จากนั้นค่อย ๆ เว้นระยะและสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ
  5. สอนให้ลูกออกความคิดเห็นของตนเองในเวลาที่เหมาะสม โดยอาจเริ่มจากการกล่าวเสริมความคิดเห็นเมื่อเพื่อนในกลุ่มเว้นจังหวะในการพูดคุย และค่อย ๆ ฝึกให้ลูกเริ่มเสนอหัวข้อใหม่ที่สนใจในการพูดคุยกับเพื่อน
  6. ฝึกทักษะในการเข้าสังคม เช่น สอนให้ลูกสั่งอาหารที่อยากรับประทานเอง เลือกของที่ต้องการและนำไปจ่ายเงินด้วยตัวเอง และฝึกการพูดนำเสนอหน้าชั้นเรียน เป็นต้น
  7. ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นและชื่นชมเมื่อลูกเริ่มแสดงความกล้า การชมเชยในเรื่องเล็กน้อยจะเป็นแรงผลักดันให้ลูกไม่เขินอายและกล้าทำสิ่งที่ยากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่เริ่มกังวลกับปัญหาลูกขี้อายหรือนิสัยขี้อายของลูกส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน และการเข้าสังคม เช่น ไม่ยอมอยู่ห่างจากพ่อแม่ ไม่มีเพื่อน มีอาการเครียดหรือวิตกกังวลเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีคนแปลกหน้า ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา เนื่องจากเด็กที่มีนิสัยขี้อายอาจสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง (Self Esteem) มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือแยกตัวออกจากสังคม

วิธีรักษาอาการขี้อายที่อาจนำมาใช้ ได้แก่ การบำบัดแบบกลุ่ม (Group Therapy) การจัดการกับความเครียดและวิตกกังวล การเรียนรู้วิธีผ่อนคลาย (Relaxation Techniques) และการฝึกทักษะทางสังคม (Social Skills Training) 

นิสัยขี้อายอาจพบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากอุปนิสัยของตัวเองหรือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการเอาใจใส่และสนับสนุนให้ลูกมีความกล้าอย่างเหมาะสม หากพ่อแม่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและเสริมความมั่นใจให้ลูกได้ด้วยตัวเอง การปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอาจช่วยให้พ่อแม่รับมือกับปัญหาลูกขี้อายได้ดีขึ้น และทำให้ลูกสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างมีความสุข