ลักษณะอุจจาระทารกท้องเสีย วิธีสังเกตและรับมือที่คุณแม่ควรรู้

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียได้ด้วยตนเอง โดยอุจจาระของทารกที่ท้องเสียมักมีความแตกต่างจากอุจจาระปกติของทารก ซึ่งการรู้จักลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลและบรรเทาอาการท้องเสียของลูกน้อยได้เร็วยิ่งขึ้น 

อาการท้องเสียของทารกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร การแพ้อาหารบางชนิด หรืออาการคันเหงือกที่ทำให้ทารกหยิบสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าปาก โดยเมื่อทารกมีอาการท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับอาการท้องเสียได้ด้วยตัวเองหลายวิธี เช่น ให้ทารกดื่มนม น้ำ หรือเหลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป การหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้ท้องเสียแย่ลง

ลักษณะอุจจาระทารกท้องเสีย

วิธีสังเกตลักษณะอุจจาระทารกท้องเสีย

อุจจาระปกติของทารกอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของนมที่ทารกกิน สำหรับทารกที่ดื่มนมแม่ อุจจาระของทารกอาจมีลักษณะนิ่ม มีสีเหลือง และมีการขับถ่ายหลายรอบต่อวัน แต่สำหรับทารกที่ดื่มนมผงหรือเริ่มกินอาหารตามวัยเด็กทารก (Solid foods) อาจมีอุจจาระเป็นก้อนมากขึ้นและมีสีน้ำตาล 

อย่างไรก็ตาม ลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียอาจสังเกตได้จากลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  • อุจจาระเหลวหรือมีลักษณะเป็นน้ำมากกว่าปกติ
  • อุจจาระมีปริมาณมากกว่าปกติ จนอาจล้นออกมาจากผ้าอ้อม
  • ขับถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ
  • อุจจาระเป็นสีเขียวหรือมีสีเข้มมากกว่าปกติ
  • อุจจาระมีกลิ่นเหม็นมากกว่าปกติ
  • อุจจาระมีมูกหรือเลือดปน

วิธีรับมือเมื่อทารกท้องเสียอย่างเหมาะสม

เมื่อสังเกตเห็นลักษณะอุจจาระทารกท้องเสีย คุณแม่อาจรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยอาการดีขึ้นและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น

  • ทารกที่ดื่มนมแม่ ควรให้ทารกดื่มนมแม่เพิ่มขึ้น หากทารกดื่มนมผง ควรชงนมผงให้ทารกดื่มเพิ่มขึ้น แต่สำหรับทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน คุณแม่ควรให้ดื่มแต่นมแม่เท่านั้น ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำชนิดอื่น ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • หากลูกน้อยเริ่มกินอาหารตามวัยเด็กทารกแล้ว ควรให้อาหารที่ช่วยให้อาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวดีขึ้น เช่น เนื้อไก่ กล้วย และขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อาการท้องเสียของลูกแย่ลง เช่น นมวัว น้ำผลไม้ น้ำหวาน อาหารทอด อาหารรสเผ็ด หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ต่าง ๆ สำหรับผู้ใหญ่
  • ควรให้ลูกน้อยดื่มเกลือแร่ ORS สำหรับเด็กหรือเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่เต็มไปด้วยสารเกลือแร่ต่าง ๆ เช่น น้ำมะพร้าว โดยให้ดื่มทุกครั้งหลังจากทารกขับถ่ายหรืออาเจียนเพื่อทดแทนของเหลวและเกลือแร่ที่สูญเสียไป อีกทั้งยังช่วยรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำได้อีกด้วย 
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ และพยายามทำให้ผ้าอ้อมแห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อม 
  • หลีกเลี่ยงการให้ยาแก้ท้องเสียที่ซื้อตามร้านขายยาแก่ทารก เพราะอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม หากทารกมีอายุน้อยกว่า 6 เดือนและอุจจาระมีลักษณะอุจจาระทารกท้องเสีย อาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะสีเข้มและน้อยกว่าปกติ มีอาการหงุดหงิด ปากแห้ง หรือทารกร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา รวมทั้งมีสัญญาณของอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง ง่วงซึม อาเจียนอย่างรุนแรง และอุจจาระมีสีดำ แดง หรือขาว ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

หากอาการท้องเสียของทารกเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะแก่ลูกน้อย นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจให้สารน้ำทางหลอดเลือด เพื่อรักษาอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและภาวะขาดน้ำของลูกน้อยให้ดีขึ้น