รู้จัก Impostor Syndrome อาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง กับเทคนิครับมือ

Impostor Syndrome เป็นภาวะที่บุคคลหนึ่งไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองและมักตั้งคำถามกับความสำเร็จที่ตัวเองได้รับ จึงตั้งมาตรฐานของตัวเองไว้สูงมากและพยายามทำงานหนักขึ้น ทำให้เกิดความกดดันในการทำงานและการใช้ชีวิต และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ทั้งนี้ Impostor Syndrome ไม่ได้จัดเป็นโรคและความเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความเครียด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลายด้าน ทั้งการทำงาน การทำสิ่งที่ตัวเองรัก และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แล้วอาการของ Impostor Syndrome เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร และรับมือได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

รู้จัก Impostor Syndrome อาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง กับเทคนิครับมือ

ลักษณะนิสัยของคนที่เป็น Impostor Syndrome

ผู้ที่เป็น Impostor Syndrome มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีลักษณะรักในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) บางคนชอบทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง และบางคนทุ่มเทอย่างหนักกับทุกหน้าที่ที่ตัวเองได้รับ ซึ่งหากทำไม่สำเร็จก็จะโทษตัวเองและคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ

โดยทั่วไป ผู้ที่เข้าข่าย Impostor Syndrome มักมีความคิดและความเชื่อดังนี้

  • คิดว่าตัวเองไม่ควรได้รับความสำเร็จ แม้จะได้รับคำชื่นชมจากคนอื่น ๆ คนกลุ่มนี้มักคิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความโชคดีและยกความดีความชอบให้กับคนที่ช่วยเหลือมากกว่าที่จะเห็นคุณค่าในตัวเอง
  • คิดว่าความสำเร็จไม่ใช่เรื่องสำคัญที่น่ายินดี เพราะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้
  • รู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ
  • กลัวคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองไม่เก่งจริง จึงพยายามปิดบังความรู้สึกและชดเชยด้วยการทำงานหนักขึ้น
  • แม้จะเกิดความผิดพลาดเล็กน้อย แต่รู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้ความสามารถ

ผู้ที่มีภาวะ Impostor Syndrome มักมีความมั่นใจในตัวเองและการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง และนำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตใจจากความเครียดและความวิตกกังวลได้

Impostor Syndrome เกิดจากอะไร

Impostor Syndrome อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น 

  • บุคลิกส่วนตัว โดยอาจพบในผู้มีปัญหาในการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) คนที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์  คนที่ขาดความทะเยอะทะยานและไม่สามารถทำตามแบบแผนที่ถูกกำหนดได้ หรือบางครั้งอาจพบในคนที่มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการจะรู้สึกไม่พอใจและโทษตัวเอง
  • การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก เช่น ความกดดันในการเรียน การถูกเปรียบเทียบกับลูกพี่ลูกน้อง ครอบครัวที่ควบคุมการใช้ชีวิต และครอบครัวที่ปกป้องดูแลลูกมากเกินไป
  • ปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้สภาพจิตใจของบุคคลนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดความสงสัยในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเองลดลง และกังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองไม่ดี

รับมืออย่างไรเมื่อเข้าข่าย Impostor Syndrome

Impostor Syndrome เป็นภาวะที่สามารถรับมือได้ โดยอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดด้วยวิธีดังนี้

  • Impostor Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง ข้อผิดพลาดและความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
  • ประเมินตัวเองข้อดีข้อด้อยของตัวเอง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
  • ชื่นชมความสำเร็จของตัวเองบ่อย ๆ เช่น นึกถึงผลงานที่ตัวเองทำได้ดี และคำชมเชยที่ได้รับจากหัวหน้างาน 
  • พ่อแม่ควรชื่นชมของลูกโดยให้ความสำคัญกับความพยายามมากกว่าการชมว่าเก่งเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำมีคุณค่า และสอนให้ลูกรู้จักรับมือกับความผิดหวังได้ด้วยตัวเอง
  • ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ เพราะทุกคนมีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบจะยิ่งทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง 
  • ปรึกษาคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น และอาจได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

แม้ Impostor Syndrome ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพในระยะยาว การปรับเปลี่ยนความคิดแง่ลบให้เป็นพลังบวกด้วยการเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และยอมรับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่หากรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยตัวเอง การปรึกษาแพทย์อาจเป็นวิธีที่ช่วยปรับความคิดและทัศนคติต่อตัวเองให้ดีขึ้น