ริดสีดวงจมูก

ความหมาย ริดสีดวงจมูก

ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyp)  คือ การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส แต่ไม่ใช่มะเร็ง มีลักษณะเหมือนหยดน้ำหรือเมล็ดองุ่น เกิดขึ้นที่บริเวณโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส อาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน เป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังจากโรคหอบหืด ภูมิแพ้ หรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน อาจไม่ทำให้เกิดอาการ แต่หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ จะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก มีปัญหาในการดมกลิ่น หรือเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้มากในผู้ใหญ่ที่เป็นเพศชาย

ริดสีดวงจมูก

อาการของริดสีดวงจมูก

ริดสีดวงจมูกจะเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ไม่มีเซลล์มะเร็ง มีลักษณะเหมือนหยดน้ำหรือเมล็ดองุ่น หากมีขนาดเล็กอาจไม่ทำให้รู้สึกถึงก้อนเนื้อและไม่ทำให้เกิดอาการ หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่จะไปบังทางเดินหายใจ รวมถึงสามารถพบอาการต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • น้ำมูกไหล คัดจมูก น้ำมูกลงคอ
  • หายใจลำบาก
  • มีปัญหาในการรับกลิ่นหรือรสชาติ
  • ปวดศีรษะหรือปวดที่บริเวณใบหน้า
  • ปวดฟันบน
  • รู้สึกถึงแรงกดปวดแน่นที่บริเวณใบหน้าและหน้าผาก
  • หยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • นอนกรน

ควรไปพบแพทย์หากมีอาการของริดสีดวงจมูกนานกว่า 10 วัน หรือหากพบว่ามีอาการแย่ลง หายใจลำบากมากขึ้น เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด ขยับดวงตาได้น้อยลง มีอาการบวมอย่างรุนแรงที่ดวงตา รวมถึงมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง หรือไม่สามารถเอนศีรษะไปด้านหน้าได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

สาเหตุของริดสีดวงจมูก

ริดสีดวงจมูกเป็นผลมาจากการติดเชื้อและอักเสบของเยื่อบุจมูก ปัจจุบันยังบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่าริดสีดวงจมูกเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติการติดเชื้อที่จมูกมาก่อน แต่มีหลักฐานบางอย่างแสดงให้เห็นว่าในผู้ป่วยริดสีดวงจมูกมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและตัวบ่งชี้ทางเคมีที่แตกต่างจากคนอื่น โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูกและพัฒนาไปสู่โรคริดสีดวงจมูกมีดังนี้

  • โรคหอบหืด เป็นสาเหตุการอักเสบของทางเดินหายใจ โดยประมาณร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยริดสีดวงจมูกจะมีอาการของโรคหอบหืดร่วมด้วย
  • การแพ้ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ชนิดอื่น ๆ เช่น ไอบูโปรเฟน 
  • ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา เป็นอาการแพ้เชื้อราในอากาศ
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic Fibrosis) ที่มีความผิดปกติของเยื่อเมือก รวมถึงโพรงจมูกและโพรงไซนัส ทำให้ผลิตเมือกออกมาเหนียวข้นกว่าปกติ
  • โรคหลอดเลือดอักเสบในปอด (Churg-Strauss Syndrome) ซึ่งพบได้น้อยมากในเด็ก

การวินิจฉัยริดสีดวงจมูก

ริดสีดวงจมูกวินิจฉัยได้โดยแพทย์จะสอบถามเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจโพรงจมูกเพื่อหาตำแหน่งและลักษณะของก้อนเนื้อต่อไป โดยอาจมีแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy) โดยใช้เครื่องตรวจที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กและเลนส์ขยายพร้อมไฟส่องสว่างหรือกล้องขนาดเล็ก ส่องเข้าไปที่โพรงจมูกหรือโพรงไซนัส
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาขนาดและตำแหน่งที่ชัดเจนของก้อนเนื้อ ประเมินขอบเขตของการอักเสบ ตรวจหาสิ่งกีดขวาง ความผิดปกติของโพรงจมูก รวมถึงชนิดของก้อนเนื้อที่อาจมีเซลล์มะเร็ง
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หากโรคภูมิแพ้เป็นสาเหตุการอักเสบเรื้อรัง ด้วยการหยดสารก่อภูมิแพ้ที่บริเวณท้องแขนหรือแผ่นหลัง ใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังเบา ๆ และทิ้งไว้ 15 นาทีเพื่อดูอาการแแพ้
  • การตรวจเลือด เพื่อคัดกรองสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody) จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้

การรักษาริดสีดวงจมูก

การรักษาริดสีดวงจมูกทำได้ 2 วิธีคือ เริ่มต้นจากการรักษาโดยใช้ยา หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

การรักษาโดยใช้ยา เพื่อทำให้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลง ลดอาการอักเสบ และบรรเทาอาการ ยาที่ใช้ในการรักษามีด้วยกัน 3 ลักษณะคือ

  • ยาพ่นหรือยาหยอดจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์ รวมถึง ฟลูติคาโซน บูเดโซไนด์ ฟลูนิโซไลด์ โมเมทาโซน ไตรแอมซิโนโลน บีโคลเมทาโซน ยาพ่นจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้หากใช้ไม่ถูกวิธี เช่น ระคายเคืองจมูก เลือดกำเดาไหล เจ็บคอ เป็นต้น
  • ยารับประทานคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน อาจรับประทานยาอย่างเดียวหรือร่วมกับการใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก ช่วงเวลาของการใช้ยาจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 วัน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กระดูกพรุน ความดันเลือดสูง เบาหวาน น้ำหนักเพิ่ม เป็นต้น หรืออาจมีการฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
  • ยาอื่น ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาแอสไพริน เป็นต้น

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แพทย์จะรักษาด้วยวิธีนี้เมื่อการรักษาโดยการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะผ่าตัดโพรงจมูกและโพรงไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery) โดยส่องกล้องเข้าไปทางรูจมูกเพื่อหาตำแหน่งของก้อนเนื้อ และผ่าตัดก้อนเนื้อ หลังการผ่าตัดแพทย์จะสังเกตอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าไม่พบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการผ่าตัด ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ แต่การผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น

  • จมูกแห้ง ซึ่งอาการจะดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์
  • เลือดกำเดาไหลเป็นประจำ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในอนาคต
  • การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด ซึ่งรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรใช้ยาพ่นจมูกหรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ รวมถึงรับประทานยาแก้แพ้ จะช่วยลดการอักเสบบวม และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูกได้

ภาวะแทรกซ้อนของริดสีดวงจมูก

ภาวะแทรกซ้อนของริดสีดวงจมูกเกิดขึ้นได้จากก้อนเนื้อที่ขวางทางเดินหายใจและของเหลว หรือเป็นผลมาจากสาเหตุของการอักเสบเรื้อรัง โดยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้

  • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจบ่อยขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย
  • โรคหอบหืดกำเริบ ทำให้โรคหอบหืดกำเริบขึ้นมาอีกครั้งหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้
  • การติดเชื้อที่โพรงไซนัส ทำให้ไซนัสอักเสบหรือเรื้อรัง

รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา โดยเฉพาะการผ่าตัด อาจทำให้มีเลือดออกที่จมูก เกิดการติดเชื้อ สูญเสียการรับกลิ่น และร้อยละ 15 ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดอาจเกิดริดสีดวงจมูกขึ้นซ้ำได้ หรือการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อาจทำให้ภูมิต้านทานการติดเชื้อที่โพรงไซนัสลดลง ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

การป้องกันริดสีดวงจมูก

ในการป้องกันริดสีดวงจมูก ทำได้โดยการลดโอกาสเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดริดสีดวงจมูกหรือลดการเกิดซ้ำหลังการรักษา โดยมีแนวทางดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดในการรักษาโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด
  • หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้จมูกเกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบ เช่น สารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ ควันจากสารเคมี ฝุ่นละออง เป็นต้น
  • การรักษาสุขอนามัยที่ดี ด้วยการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ
  • เพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อป้องกันการอุดตันและการอักเสบของทางเดินอากาศในจมูก
  • ล้างจมูก โดยใช้น้ำเกลือ เพื่อชะล้างน้ำมูก สารก่อภูมิแพ้ และลดการระคายเคืองของจมูก