ยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ทางเลือกเมื่อท้องไม่พร้อม

หลังจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ มาตรา 305 ที่มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2564 ทำให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและดำเนินการโดยแพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้หรือมีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2548–2562 พบว่ามีหญิงไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยจำนวนมากกว่า 30,000 รายต่อปี แต่จำนวนค่อย ๆ ลดลงจนเหลือประมาณ 20,000 ราย ในปี พ.ศ. 2562 หลังจากทางเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (RSA) ที่จัดตั้งโดยกรมอนามัย ได้ริเริ่มโครงการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์

ยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ทางเลือกเมื่อท้องไม่พร้อม

การที่กฎหมายถูกแก้ไขใหม่สำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อมและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยมากพอ สองปัจจัยนี้อาจช่วยลดปัญหาการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ซึ่งวิธีการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ในปัจจุบันอย่างการใช้ยาและใช้เครื่องดูดสุญญากาศนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัยหากอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย 

การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ผิดกฎหมายต้องทำโดยแพทย์และได้รับความยินยอมจากผู้เข้ารับบริการเท่านั้น โดยเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

  • อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
  • อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ และต้องผ่านการปรึกษาทางเลือกจากแพทย์เพื่อยุติการตั้งครรภ์
  • ผู้ตั้งครรภ์มีโรคทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตที่เสี่ยงอันตรายหากตั้งครรภ์
  • ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงว่าจะพิการหรือทุพลภาพ
  • ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน ล่อลวง อนาจาร

นอกจากบริการทางการแพทย์ที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ผู้หญิงควรเข้าถึงสถานบริการสำหรับยุติการตั้งครรภ์ที่มีความปลอดภัยด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยลดปัญหาการพยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองในวิธีผิด ๆ หรือซื้อยามารับประทานเองจนเป็นอันตรายต่อตัวผู้ตั้งครรภ์เอง

โดยทางเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานบริการสำหรับยุติการตั้งครรภ์ไว้ว่า ผู้รับบริการสามารถติดต่อสอบถามและนัดหมายก่อนเข้ารับบริการได้ที่ คลินิกเวชกรรม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชม (PDA) คลินิกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ (สวท) ทั้ง 9 สาขา คลินิกวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลคลองตัน หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://rsathai.org 

ในกรณีที่ผู้รับบริการไม่สามารถเข้าไปสอบถามรายละเอียดได้ จะต้องติดต่อประสานงานผ่านสายด่วน 1663 หรือหน่วยบริการปรึกษาก่อนเข้ารับบริการเท่านั้น โดยทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลภาครัฐ

ข้อควรทราบก่อนเลือกยุติการตั้งครรภ์

ก่อนเลือกยุติการตั้งครรภ์ ผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องมีการพูดคุยและปรึกษากับทางทีมแพทย์ โดยแพทย์จะต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจในด้านอื่นร่วมด้วย เช่น ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติของมดลูก ทารกในครรภ์ หรือรก เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังยุติการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยาได้หากตรงกับเงื่อนไขต่อไปนี้

  • อายุครรภ์เกิน 9 สัปดาห์ แต่อาจเป็นไปได้ที่อายุครรภ์เกิน 9 สัปดาห์ในบางกรณี ซึ่งจะใช้ยาร่วมกับวิธีอื่นด้วย
  • ผู้ตั้งครรภ์ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดอยู่
  • ผู้ตั้งครรภ์มีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก 
  • ผู้ตั้งครรภ์มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต โรคปอดชนิดรุนแรง โรคลมชัก หรือโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
  • ผู้ตั้งครรภ์กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อยู่
  • ผู้ตั้งครรภ์ไม่สามารถมาตามนัดเพื่อติดตามอาการหลังการยุติการตั้งครรภ์ หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางแพทย์หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น
  • ผู้ตั้งครรภ์แพ้ยาที่ใช้ยุติการตั้งครรภ์

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังยุติการตั้งครรภ์

การยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์จะไม่มีผลต่อสุขภาพระยะยาวของผู้เข้ารับบริการ เพราะมีผลลัพธ์คล้ายกับการแท้งธรรมชาติ หลังยุติการตั้งครรภ์แล้วจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1–2 วัน หากมีไข้อ่อน ๆ หรืออาการปวดเล็กน้อย แพทย์อาจให้ยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการ

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังยุติการตั้งครรภ์ เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอดและรู้สึกตึงที่หน้าท้องอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ มีอาการอ่อนเพลียปานกลาง หรือรู้สึกหดหู่ใจเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หากยังมีเลือดออกจากช่องคลอดอยู่

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ เช่น การยุติการตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์หรือแท้งไม่ครบ การติดเชื้อ อาการบาดเจ็บบริเวณมดลูกหรือบริเวณอื่น ๆ รวมถึงภาวะเลือดออกมากผิดปกติจากช่องคลอด

ฉะนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง หน้าท้องแข็งตึงหรือกดแล้วรู้สึกเจ็บ มีเลือดออกทางช่องคลอดติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนหรือวิงเวียนศีรษะมาก หรือท้องร่วง ควรรีบไปพบแพทย์

ภายหลังการยุติการตั้งครรภ์ ผู้เข้ารับบริการต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายแม้ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพื่อติดตามว่ายุติการตั้งครรภ์ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ และวางแผนการคุมกำเนิดในบางราย

การคุมกำเนิดหลังยุติการตั้งครรภ์จำเป็นแค่ไหน

การยุติการตั้งครรภ์มักไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต ผู้ที่เคยยุติการตั้งครรภ์สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้งแม้ว่าประจำเดือนจะยังไม่มาก็ตาม ในกรณีที่ไม่อยากตั้งครรภ์ซ้ำ แพทย์จะแนะนำให้คุมกำเนิดทันทีหลังยุติการตั้งครรภ์ โดยมีอยู่หลายวิธี เช่น 

  • ใช้ถุงยางอนามัย
  • ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ฉีด ฝัง หรือแปะผิวหนัง
  • ใช้วงแหวนสอดช่องคลอดสำหรับคุมกำเนิด
  • ใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
  • ทำหมัน 

ทั้งนี้ การคุมกำเนิดอาจได้ผลช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประเภทของการคุมกำเนิด และวิธีที่ยุติการตั้งครรภ์ด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการคุมกำเนิดเพื่อความปลอดภัย

การยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นบริการทางสุขภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม หากผู้ใดมีคำถามหรือต้องการปรึกษาเบื้องต้น สามารถติดต่อไปที่สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 บริการปรึกษาออนไลน์ของกรมอนามัยทางเว็บไซต์ https://abortion.rsathai.org/ หรือหน่วยบริการที่เข้าร่วม