มะเร็งอัณฑะ

ความหมาย มะเร็งอัณฑะ

มะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่พบในเพศชายอายุระหว่าง 15-35 ปี สาเหตุเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูกอัณฑะซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในถุงอัณฑะ บริเวณด้านหลังอวัยวะเพศชายหรือองคชาต ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชายและสเปิร์มที่ใช้ในการสืบพันธุ์ อาการบ่งชี้ คือมีก้อนนูนที่รู้สึกเจ็บบริเวณลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะบวม เจ็บปวดภายในถุงอัณฑะ หรือรู้สึกหนักภายในถุงอัณฑะ ซึ่งมะเร็งอาจเกิดขึ้นกับลูกอัณฑะเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง โดยเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นของร่างกายได้

มะเร็งอัณฑะ

ประเภทของมะเร็งอัณฑะ

มะเร็งอัณฑะสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่มตามเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง ดังนี้

1. มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ (Germ Cell Tumors) มะเร็งอัณฑะชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากเจิมเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ร่างกายใช้ในการผลิตสเปิร์ม โดย 95% ของผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะเป็นมะเร็งอัณฑะชนิดนี้ มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • เซมิโนมา (Seminomas) มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ประเภทเซมิโนมามีอัตราการเติบโตหรือแพร่กระจายช้ากว่าประเภทนอนเซมิโนมา
  • นอนเซมิโนมา (Non-seminomas) มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ประเภทนอนเซมิโนมามีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่ออื่นเร็วกว่าประเภทเซมิโนมา โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลือง อีกทั้งยังสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ตับ ปอด สมอง

โดยส่วนใหญ่แล้วในผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะประเภทเจิมเซลล์ชนิดนอนเซมิโนมา จะพบเซลล์มะเร็งอัณฑะหลายชนิดพร้อมกัน ซึ่งในบางครั้งอาจมีเซลล์มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ประเภทเซมิโนมารวมอยู่ด้วย โดยเรียกมะเร็งอัณฑะที่มีเซลล์มะเร็งหลายชนิดว่ามะเร็งรูปผสม (Mixed Germ Cell Tomours) ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะชนิดนี้จะได้รับการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ประเภทนอนเซมิโนมา

2. มะเร็งอัณฑะชนิดสโทรมอล (Stromal Tomors) มะเร็งอัณฑะชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากสโทรมอลเซลล์ (Stromal Cell) หรือเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือเซลล์หลักในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมะเร็งอัณฑะชนิดสโทรมอลแบ่งออกเป็นประเภทหลัก ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่

  • มะเร็งเลย์ดิกเซลล์ มะเร็งอัณฑะประเภทนี้เกิดขึ้นมาจากเซลล์ที่ใช้ในการผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรือเลย์ดิกเซลล์
  • มะเร็งเซอร์โทไลเซลล์ มะเร็งอัณฑะประเภทนี้เกิดขึ้นมาจากเซอร์โทไลเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเจิมเซลล์ในการผลิตสเปิร์ม

3. มะเร็งอัณฑะทุติยภูมิ (Secondary Testicular Cancer) มะเร็งอัณฑะทุติยภูมิ คือมะเร็งอัณฑะที่เซลล์มะเร็งไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ของอัณฑะ แต่เกิดขึ้นจากการลุกลามมาจากอวัยวะอื่น โดยจะเรียกชื่อตามแหล่งกำเนิดของเซลล์มะเร็ง เช่น

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งอัณฑะทุติยภูมิที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นจากการลุกลามของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมายังอัณฑะ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น มะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นจากเซลล์ของอัณฑะเอง มักรักษาโดยการผ่าตัดอัณฑะ และใช้รังสีรักษาหรือเคมีบำบัด
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว บางครั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจก่อให้เกิดมะเร็งในอัณฑะได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กชาย ซึ่งส่วนใหญ่มักรักษาโดยการผ่าตัดอัณฑะหรือการใช้รังสีรักษา ควบคู่ไปกับการใช้เคมีบำบัด

อาการของมะเร็งอัณฑะ

หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายคลึงกับอาการของมะเร็งอัณฑะควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากการรับการรักษาที่รวดเร็วนั้นมีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา โดยผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะมักจะมีอาการดังนี้

  • มีอาการบวมหรือคลำเจอก้อนแข็งบริเวณอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งและมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจพบก้อนแข็งได้ในอัณฑะทั้งสองข้าง แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย
  • รู้สึกหนักหรือปวดบริเวณอวัยวะเพศชาย (องคชาติ) หรือบริเวณท้องน้อย
  • หน้าอกโตขึ้นหรือรู้สึกเจ็บปวดบริเวณหน้าอก เนื่องจากมะเร็งอัณฑะบางชนิดส่งผลต่อฮอร์โมนที่มีส่วนกระตุ้นพัฒนาการของหน้าอก
  • มีภาวะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควรในเด็กชาย เช่น เสียงแตกหรือมีขนขึ้นตามร่างกายก่อนวัยอันควร

ทั้งนี้ อาการดังกล่าวไม่ใช่อาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็งอัณฑะเพียงโรคเดียว ผู้ที่มีอาการข้างต้นอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคชนิดอื่น ดังนั้น หากมีอาการหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาได้ถูกวิธีที่สุด

สาเหตุของมะเร็งอัณฑะ

แม้จะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งอัณฑะ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ บุคคลที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอัณฑะสูงกว่าบุคลคลอื่น มักมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • มีภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ซึ่งเป็นภาวะที่ลูกอัณฑะหนึ่งหรือสองข้างไม่เข้าไปอยู่ในถุงอัณฑะตั้งแต่เป็นทารกก่อนคลอด
  • มีบุคคลในครอบครัวใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเป็นมะเร็งอัณฑะมาก่อน
  • บุคคลที่มีเชื้อ HIV
  • บุคคลที่พบ Carcinoma in Situ ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติและอาจก่อตัวเป็นมะเร็งได้
  • บุคคลที่เคยเป็นมะเร็งอัณฑะในอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งมาก่อน  
  • ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะมีอายุอยู่ในช่วง 20-34 ปี อย่างไรก็ตาม มะเร็งอัณฑะนั้นสามารถเกิดได้กับผู้ชายในทุกช่วงอายุ
  • งานวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่าชายที่มีรูปร่างสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะมากกว่าชายที่มีรูปร่างเตี้ย แต่ยังไม่มีงานวิจัยฉบับใดที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะ

ในปัจจุบัน นักวิจัยได้ศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางโครโมโซมของเซลล์ และพบว่าเซลล์มะเร็งอัณฑะส่วนใหญ่จะมีความผิดปกติของโครโมโซมลำดับที่ 12 โดยร่างกายได้สร้างบางส่วนของโครโมโซมลำดับที่ 12 ขึ้นมาเกินกว่าปกติ แต่ในบางครั้งความผิดปกติของโครโมโซมก็เกิดขึ้นในโครโมโซมลำดับอื่นหรือรูปแบบอื่น เช่น การมีจำนวนโครโมโซมมากเกินกว่าปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัยมะเร็งอัณฑะ

หากพบความผิดปกติของอัณฑะ เช่น อัณฑะมีก้อนนูน บวม แต่มักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย หรือมีอาการที่บ่งชี้ถึงความปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากมะเร็งอัณฑะสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้ ฉะนั้นการรักษาแต่เนิ่น ๆ ขณะที่มะเร็งอยู่ในระยะต้น ๆ และยังไม่ลุกลาม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ การวินิจฉัยมะเร็งอัณฑะมีดังนี้

  • อัลตราซาวด์ โดยการใช้คลื่นเสียงจำลองภาพถุงอัณฑะและลูกอัณฑะ ทำให้แพทย์ทราบถึงลักษณะโดยทั่วไปและตำแหน่งของก้อนที่เกิดขึ้น
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับสารบ่งชี้มะเร็ง แม้สารบ่งชี้มะเร็งสามารถปรากฏในเลือดเป็นปกติ แต่ระดับของสารบ่งชี้มะเร็งที่เปลี่ยนไปอาจบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้
  • ผ่าตัดอัณฑะ เป็นวิธีที่แพทย์แนะนำเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นมีโอกาสเป็นมะเร็ง เพื่อนำอัณฑะมาตรวจสอบและวินิจฉัยประเภทของมะเร็งอัณฑะ

เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นคือมะเร็ง แพทย์จะตรวจสอบอีกครั้งเพื่อบ่งชี้ระยะของมะเร็งที่เกิดขึ้น และเพื่อตรวจสอบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ โดยใช้วิธี ดังนี้

  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan นำมาใช้เพื่อตรวจสอบว่าเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่
  • การตรวจเลือด นำมาใช้เพื่อตรวจสอบว่าเมื่อผ่าตัดอัณฑะออกแล้วยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกายหรือไม่ โดยการตรวจค่าของสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด หากแพทย์ผ่าก้อนมะเร็งออกมาได้ ค่าของสารบ่งชี้มะเร็งจะค่อย ๆ ลดลง แต่หากยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกาย สารบ่งชี้มะเร็งอาจจะไม่มีค่าลดลงหรือมีโอกาสที่จะมีค่าสูงขึ้น

ระยะของมะเร็งอัณฑะ

ระยะของมะเร็งอัณฑะที่แตกต่างกันส่งผลให้การรักษาแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 : มะเร็งยังไม่ลุกลามออกไปนอกอัณฑะ
  • ระยะที่ 2 : มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
  • ระยะที่ 3 : มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น ปอด ตับ เป็นต้น

การรักษามะเร็งอัณฑะ

การรักษามะเร็งอัณฑะนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยวิธีการรักษามะเร็งอันฑะมีดังนี้

  • การผ่าตัด  การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งอัณฑะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
    • การผ่าตัดอัณฑะ วิธีนี้ใช้รักษามะเร็งอัณฑะได้ทุกระยะ โดยเฉพาะมะเร็งระยะเริ่มต้น วิธีการรักษาอาจทำแค่เพียงผ่าตัดอัณฑะออกโดยไม่ต้องใช้วิธีอื่นรักษาควบคู่ไปด้วย
    • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงจุดที่พบเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของมะเร็งที่พบ ซึ่งในบางครั้งการผ่าตัดอาจกระทบกระเทือนไปถึงเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยหลั่งน้ำอสุจิยากขึ้น
  • การใช้รังสีรักษา การใช้รังสีรักษาคือการใช้รังสีพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซเรย์ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ในบางครั้งจะใช้วิธีการนี้กับผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะชนิดเซโนมินา หรือหลังจากที่ผู้ป่วยผ่าตัดอัณฑะ เมื่อได้รับการฉายรังสี ผู้ป่วยอาจรู้สึกคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ผิวหนังบริเวณช่องท้องและต้นขาขึ้นผื่นแดงและระคายเคือง ในบางครั้งจะส่งผลให้มีจำนวนสเปิร์มน้อยลงในระยะสั้นๆ ซึ่งเป็นอาการโดยทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้
  • การใช้เคมีบำบัด การใช้เคมีบำบัดคือการใช้ยาทางเคมีฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายจะใช้วิธีนี้รักษาเพียงวิธีเดียว หรืออาจใช้กับผู้ป่วยก่อนหรือหลังผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับผลกระทบจากเคมีบำบัดแตกต่างกันไปตามชนิดของยาที่ได้รับ โดยทั่วไปอาจรู้สึกคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ผมร่วง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในบางรายอาจทำให้เกิดภาวะมีลูกยากและอาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นถาวร ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการเยียวยาที่ช่วยลดผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการใช้เคมีบำบัดได้

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งอัณฑะ

ผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะอาจมีอาการที่นอกเหนือจากอาการบ่งชี้มะเร็งอัณฑะ หากเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นของร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไป มักจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้ถุงอัณฑะและปอด มีส่วนน้อยที่เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังตับ สมอง และกระดูก โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะระยะลุกลามมีดังนี้

  • ปวดหลังช่วงล่าง หากมะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณส่วนหลังของช่องท้อง
  • หายใจถี่ เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง หรือไอมีเลือดปน หากมะเร็งลุกลามไปยังปอด
  • เจ็บช่องท้อง หากมะเร็งลุกลามไปยังตับ
  • ปวดหัวหรือมีภาวะมึนงง หากมะเร็งลุกลามไปยังสมอง

การติดตามผลภายหลังการรักษามะเร็งอัณฑะ    

ภายหลังเสร็จสิ้นการรักษามะเร็งอัณฑะ แพทย์จะนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษาซึ่งอาจนานต่อเนื่องหลายปี เพื่อสังเกตว่ามีสัญญาณการกลับมาของมะเร็งหรือไม่ หากผู้ป่วยพบอาการที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะควรปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ดังนี้

  • รักษาน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เกินมตรฐานสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและมะเร็งได้ ตรวจสอบน้ำหนักตัวว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่โดยใช้ค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI
  • ออกกำลังกาย ซึ่งในที่นี้การออกกำลังกายอาจหมายถึงการทำกิจกรรมบางอย่างที่ได้ใช้กำลัง เช่น การทำงานบ้าน เป็นต้น
  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ รับประทานผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเลอรี่ต่ำ รับประทานน้ำตาลแต่น้อย รวมถึงการรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ การสูบบุหรี่และควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากควันบุหรี่จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งอีกหลายชนิด

การป้องกันมะเร็งอัณฑะ

การป้องกันมะเร็งอัณฑะยังไม่มีวิธีที่เชื่อถือได้ เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยใดออกมาพิสูจน์ถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งอัณฑะที่แน่ชัด อีกทั้งบุคคลที่ไม่เข้าข่ายว่ามีปัจจัยเสี่ยง ก็อาจเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่ายกาย และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ เนื่องจากหากรักษาตั้งแต่เป็นมะเร็งระยะต้น ๆ จะส่งผลให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากกว่าในระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลาม