ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty)

ความหมาย ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty)

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty) เป็นภาวะที่เด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนวัยในช่วงวัยก่อน 8 ปีในเด็กผู้หญิง และวัยก่อน 9 ปีในเด็กผู้ชาย เช่น ร่างกายโตเร็วผิดปกติ มีขนขึ้นบริเวณหัวหน่าวหรือใต้วงแขน หรืออาจมีประจำเดือนก่อนวัยในกรณีที่เป็นเด็กผู้หญิง 

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยมักเกิดได้บ่อยในเด็กผู้หญิง เป็นภาวะที่เกิดจากกระบวนการผลิตฮอร์โมนเพศทำงานก่อนวัย โดยอาจส่งผลกระทบหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อเด็กในระยะยาว เช่น เด็กอาจมีรูปร่างเตี้ยกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันเมื่อโตขึ้น หรือเกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ อย่างการขาดความมั่นใจในตนเองหรือภาวะเครียด เป็นต้น

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty)

อาการของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

เด็กที่มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย มักพบความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางด้านร่างกายที่บ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย โดยจะเกิดขึ้นในช่วงวัยก่อน 8 ปีในเด็กผู้หญิง และในช่วงวัยก่อน 9 ปีในเด็กผู้ชาย ได้แก่ ตัวยืดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีขนขึ้นบริเวณหัวหน่าวและใต้วงแขน มีสิวขึ้น มีกลิ่นตัวคล้ายผู้ใหญ่ และความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ตามเพศของเด็ก เช่น

  • เด็กผู้หญิงอาจพบว่าเด็กมีหน้าอกใหญ่ขึ้น มีขนที่อวัยวะเพศ มีสิว สูงเร็ว มีตกขาว หรือมีประจำเดือน
  • เด็กผู้ชายอาจพบว่าอัณฑะและอวัยวะเพศมีการขยายตัวขึ้น มีหนวดขึ้น หรือเสียงแตกหนุ่ม

อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนอาจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างในข้างต้นแตกต่างกัน เช่น เด็กผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่พบความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอื่น ๆ ซึ่งหากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานมีลักษณะในข้างต้น ควรพาบุตรหลานไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหรือการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

สาเหตุของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยเกิดจากการที่รังไข่หรืออัณฑะผลิตฮอร์โมนเพศออกมาก่อนวัย เนื่องจากสมองผลิตโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมน (Gonadotropin–Releasing Hormone: GnRH) ออกมาไวเกินไป หรือในช่วงก่อนวัย 8 ปีในเด็กผู้หญิงและก่อนวัย 9 ปีในเด็กผู้ชาย ส่งผลให้รังไข่หรืออัณฑะผลิตฮอร์โมนเพศก่อนวัยตามมา และมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายไวกว่าเกณฑ์ปกติ 

โดยส่วนมากแพทย์มักหาสาเหตุของการเกิดกลไกนี้ไม่พบ และมักไม่ได้เป็นผลมาจากความผิดปกติอื่นทางด้านร่างกาย ในบางกรณี กลไกดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • พันธุกรรม
  • มีเนื้องอกบริเวณสมองหรือไขสันหลัง
  • สมองมีภาวะผิดปกติตั้งแต่เกิด เช่น ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
  • การใช้รังสีรักษาบริเวณสมองหรือไขสันหลัง
  • สมองหรือไขสันหลังเกิดความเสียหาย
  • โรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น โรค McCune–Albright Syndrome หรือโรค Gonadotropin–Independent Familial Sexual Precocity ที่ส่งผลให้เกิดกระบวนการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเด็กผู้ชายไวกว่าปกติ 
  • โรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนผิดปกติ อย่างโรค Congenital Adrenal Hyperplasia
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)

นอกจากนี้ การผลิตฮอร์โมนเพศของรังไข่หรืออัณฑะที่เกิดขึ้นก่อนวัย อาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมนของสมอง เช่น  เกิดความผิดปกติหรือเนื้องอกบริเวณรังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน

ทั้งนี้ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่มีแนวโน้มหรืออาจพบได้มากในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น 

  • เด็กผู้หญิง
  • เด็กที่คนในครอบครัวมีประวัติการเกิดภาวะ Precocious Puberty
  • เด็กที่มีภาวะอ้วน
  • เด็กที่ใช้ผลิตภัณฑ์ อย่างครีม ยารับประทาน หรืออาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือเทสโทสเทอโรน
  • เด็กที่มีภาวะผิดปกติทางร่างกายหรือป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรค McCune-Albright syndrome โรค Congenital Adrenal Hyperplasia หรือภาวะขาดไทรอยด์ เป็นต้น
  • เด็กมีประวัติการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษาบริเวณสมองและไขสันหลัง

การวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

ในการวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติและประวัติของเด็ก เช่น ประวัติการเกิดโรคต่าง ๆ ของเด็กและคนในครอบครัว รวมถึงมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน และเอกซเรย์ (X–Ray) บริเวณมือและข้อมือเพื่อดูอายุและการเจริญเติบโตของกระดูก 

หากแพทย์เห็นว่าเด็กมีแนวโน้มเป็นภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย แพทย์จะตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย (GnRH Stimulation Test) ด้วยการฉีดโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมนเป็นช่วง ๆ เพื่อดูการตอบสนองของฮอร์โมนในร่างกาย และนำผลที่ได้ไปใช้ในการพิจารณาวิธีการตรวจอื่นเพิ่มเติม ดังนี้

  • หากระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายของเด็กเพิ่มขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าสมองของผู้ป่วยผลิตโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมนออกมาไวเกินไป แพทย์อาจตรวจสมองผู้ป่วยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจดูความผิดปกติ หรือในบางกรณี แพทย์อาจตรวจต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย หากเด็กมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดไทรอยด์ เช่น อ่อนเพลีย เซื่องซึม หนาวง่าย ท้องผูก มีปัญหาด้านการเรียน ผิวแห้งหรือซีด
  • แต่หากระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายของผู้ป่วยคงที่ อาจเป็นไปได้ว่าอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วยเป็นต้นเหตุ แพทย์อาจพิจารณาการตรวจตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนชนิดอื่น หรือในกรณีเด็กผู้หญิง แพทย์อาจอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีซีสต์หรือเนื้องอกบริเวณรังไข่หรือไม่ เป็นต้น

การรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือมีอายุใกล้ถึงวัยเจริญเติบโตตามเกณฑ์อาจไม่จำเป็นต้องรักษา หรือหากแพทย์วินิจฉัยแล้วไม่พบสาเหตุ แพทย์อาจเพียงสังเกตอาการของผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ เท่านั้น ในกรณีที่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เป็นต้นเหตุของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย แพทย์จะรักษาตามสาเหตุ เช่น 

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยจากเนื้องอกในร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกออก 
  • หากสมองของผู้ป่วยผลิตโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมนออกมาไวเกินไป แพทย์อาจรักษาด้วยยาฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ชื่อว่า GnRH Agonist เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง โดยแพทย์อาจเลือกยาชนิดฉีดที่ต้องฉีดทุก ๆ 1 เดือน หรือยาชนิดฝังที่มีอายุยาประมาณ 1 ปี และแพทย์จะให้หยุดใช้ยาเมื่อผู้ป่วยใกล้เข้าสู่วัยเจริญเติบโตตามเกณฑ์ปกติประมาณ 3–6 เดือน 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยอาจส่งผลให้เด็กตัวเตี้ยเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เนื่องจากแผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth Plate) หรือกระดูกบริเวณที่เติบโตได้มักปิดหรือหยุดการเจริญเติบโตเร็วก่อนอายุตามเกณฑ์ ส่งผลให้เด็กที่ป่วยตัวเตี้ยกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันในระยะยาว

นอกจากนี้ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยอาจส่งผลกระทบในด้านจิตใจ อารมณ์ และการเข้าสังคมของเด็ก เนื่องจากเด็กอาจรู้สึกแตกต่างจากเด็กทั่วไปคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน เช่น เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง เครียด มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัย มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติด หรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า เป็นต้น

การป้องกันภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

การป้องกันภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยอาจทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ อย่างเอสโตรเจนและเทสโทสเทอโรน หากไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ รวมไปถึงช่วยควบคุมน้ำหนักตัวของเด็ก เนื่องจากภาวะบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กได้ โดยเฉพาะภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือเบาหวาน