ฟันเป็นรู รู้จักสาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ฟันเป็นรู คืออาการที่ฟันมีรูเกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นสัญญาณของโรคฟันผุ โดยในช่วงแรกรูมักมีขนาดเล็ก จึงอาจทำให้ผู้ที่มีฟันเป็นรูไม่สังเกตเห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไป รูอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น จนสังเกตเห็นได้ชัดหรือใช้ลิ้นสัมผัสรูบนฟันได้ ฟันเป็นรูเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น ปวดฟัน ฟันหลุด หรืออาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ฟันเป็นรูหรือฟันผุเป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถพบได้กับบุคคลทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนอาจไม่สังเกตเห็นอาการฟันผุ จนอาจทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น การรักษาความสะอาดภายในช่องปากและการพบทันตแพทย์เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาสุขภาพช่องปาก และช่วยป้องกันไม่ให้ฟันเป็นรูหรือฟันผุรุนแรงขึ้น

ฟันเป็นรู

รู้จักสาเหตุที่ทำให้ฟันเป็นรู

 ฟันเป็นรูมักเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการฟันผุ เมื่อกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือแป้ง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในปากอาจเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นจากการกินน้ำตาลจากเศษอาหารที่กินเข้าไป หากทำความสะอาดฟันได้ไม่ดี แบคทีเรีย เศษอาหาร กรด และน้ำลายอาจก่อตัวเป็นคราบพลัคบนฟัน โดยกรดจากคราบพลัคอาจกัดกร่อนชั้นเคลือบฟันและทำให้เกิดฟันเป็นรูได้

ฟันเป็นรูอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กินอาหารที่มีน้ำตาลหรืออาหารที่เป็นกรดบ่อย ไม่รักษาความสะอาดภายในช่องปาก หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การมีความผิดปกติเกี่ยวกับการกินต่าง ๆ การป่วยเป็นกรดไหลย้อน 

อย่างไรก็ตาม ฟันเป็นรูมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่เมื่อรูบนฟันถูกกรดกัดกร่อนจนมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเป็นรูลึกมากขึ้น อาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่โพรงประสาทฟัน และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เป็นอาการของโรคฟันผุ เช่น ปวดฟัน ปวดขณะเคี้ยวอาหาร เสียวฟัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

วิธีรับมือกับฟันเป็นรูอย่างเหมาะสม

ผู้ที่มีฟันเป็นรูยังอาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้หลายวิธี เช่น รักษาความสะอาดภายในช่องปาก กินยาแก้ปวดฟัน หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มเย็น บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ การรับมืออาการฟันเป็นรูหรือฟันผุอย่างถูกต้องและเหมาะสม คือการไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยวิธีรักษาฟันเป็นรูมีหลายวิธี เช่น 

  • การเคลือบฟลูออไรด์ หากฟันเป็นรูมีขนาดเล็กหรือมีอาการไม่รุนแรง ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์เพื่อซ่อมแซมชั้นเคลือบผิวให้กลับมาเป็นปกติ
  • การอุดฟัน ทันตแพทย์จะนำเนื้อฟันบริเวณที่ผุหรือเป็นรูออก และทำการอุดวัสดุสำหรับอุดฟันในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อให้ฟันกลับมามีรูปร่างตามปกติ
  • การรักษารากฟัน หากฟันเป็นรูลึกหรือแบคทีเรียลามจนถึงโพรงประสาทฟัน อาจจำเป็นต้องใช้วิธีรักษารากฟัน ซึ่งจะช่วยเก็บรักษาฟันซี่นั้นให้คงอยู่เหมือนเดิม โดยไม่จำเป็นต้องถอนฟัน
  • การถอนฟัน หากฟันเป็นรูมีอาการรุนแรงมาก จนอาจไม่สามารถทำการรักษาได้ ทันตแพทย์อาจต้องถอนฟันที่ผุออก เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียไปยังบริเวณอื่น

หลังจากเข้ารับการรักษาฟันเป็นรูแล้ว ควรรักษาความสะอาดภายในช่องปากด้วยวิธีการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟัน และไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพภายในช่องปาก วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันฟันเป็นรูในอนาคตได้