พรหมจรรย์ขาดได้จริงหรือไม่

พรหมจรรย์ คือเยื่อบาง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบหรือปกคลุมบริเวณปากช่องคลอด มีรูปร่างแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงมักมีเยื่อพรหมจรรย์เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ซึ่งเป็นรูปร่างของพรหมจรรย์ปกติ พรหมจรรย์ที่มีลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้ระดูไหลออกมาจากช่องคลอดเมื่อมีรอบเดือน

พรหมจรรย์พรหมจรรย์มีกี่ชนิด

โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงมักมีพรหมจรรย์เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ซึ่งจัดเป็นพรหมจรรย์รูปร่างปกติ ช่วยให้ร่างกายสามารถขับเลือดประจำเดือนผ่านออกจากช่องคลอดได้ นอกจากนี้ ยังมีพรหมจรรย์รูปร่างอื่นที่แตกต่างไปตามชนิดของพรหมจรรย์ ได้แก่ เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด เยื่อพรหมจรรย์ที่เปิดเล็กน้อย และเยื่อพรหมจรรย์ที่มีแถบกั้น โดยพรหมจรรย์แต่ละชนิดมีลักษณะ ดังนี้

  • เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด (Imperforate Hymen) เยื่อพรหมจรรย์ชนิดนี้จะปกคลุมปากช่องคลอดไว้ทั้งหมด ส่งผลให้เลือดประจำเดือนไม่สามารถไหลผ่านจากช่องคลอดได้ ทำให้เลือดคั่งอยู่ภายในช่องคลอด ซึ่งมักกลายเป็นก้อนในท้อง (Abdominal Mass) หรือเกิดอาการปวดท้อง และปวดหลัง บางรายอาจรู้สึกเจ็บเมื่อขับถ่ายหรือปัสสาวะลำบาก แพทย์สามารถวินิจฉัยว่ามีเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิดได้ตั้งแต่เกิด แต่ส่วนใหญ่ มักวินิจฉัยเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้ ผู้ที่มีพรหมจรรย์ชนิดนี้สามารถเข้ารับการผ่าตัด เพื่อนำเนื้อเยื่อพรหมจรรย์ส่วนเกินออกไป รวมทั้งตกแต่งศัลยกรรมปากช่องคลอดให้มีขนาดปกติสำหรับขับเลือดประจำเดือน
  • เยื่อพรหมจรรย์ที่เปิดเล็กน้อย (Microperforate Hymen) เยื่อพรหมจรรย์ชนิดนี้จะปกคลุมปากช่องคลอดเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาที่ปากช่องคลอดได้เล็กน้อย ผู้ที่มีเยื่อพรหมจรรย์ชนิดนี้จะใช้ผ้าอนามัยแบบสอดสอดเข้าไปในช่องคลอดไม่ได้ รวมทั้งอาจไม่รู้ว่าปากช่องคลอดของตนแคบ หากสอดผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดได้ ก็อาจนำผ้าอนามัยที่ซับเลือดประจำเดือนจนเต็มแล้วออกมาไม่ได้ ผู้ที่มีเยื่อพรหมจรรย์เปิดเล็กน้อยสามารถเข้ารับการผ่าตัด เพื่อนำเนื้อเยื่อพรหมจรรย์ส่วนเกินออกไป และศัลยกรรมปากช่องคลอดให้มีขนาดปกติ สามารถให้ร่างกายขับระดูผ่านช่องคลอดออกมาได้
  • เยื่อพรหมจรรย์ที่มีแถบกั้น (Septate Hymen) เยื่อพรหมจรรย์ชนิดนี้จะมีกลุ่มเนื้อเยื่อส่วนเกินปกคลุมตรงกลางช่องคลอด ซึ่งทำให้เกิดปากช่องคลอดเล็ก ๆ สองอัน ผู้ที่มีเนื้อเยื่อพรหมจรรย์ขึ้นมากั้นในลักษณะดังกล่าวจะใช้ผ้าอนามัยแบบสอดลำบาก ต้องเข้ารับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนเกินที่กั้นตรงกลางช่องคลอดออกไป และตกแต่งให้ปากช่องคลอดมีขนาดปกติ

ข้อเท็จจริงและความเชื่อเกี่ยวกับพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ถือเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายผู้หญิง ซึ่งควรให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลไม่ต่างจากอวัยวะส่วนอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้คนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง โดยความเชื่อและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพรหมจรรย์ที่กล่าวโดยทั่วไปนั้น ปรากฏประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  • ผู้หญิงบริสุทธิ์จะมีเลือดออกเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เมื่อมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดเลือดออกจากช่องคลอดได้ เนื่องจากอวัยวะเพศชายสอดใส่ผ่านเยื่อพรหมจรรย์ที่ปกคลุมช่องคลอด อย่างไรก็ตาม มีปรากฏงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีเลือดออกเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกนั้นมีเพียงร้อยละ 43
  • หญิงสาวแรกรุ่นมักมีช่องคลอดที่กระชับแน่น ทำให้ร่วมเพศลำบาก ผู้คนเชื่อว่าหญิงสาววัยรุ่นมีเยื่อพรหมจรรย์ที่ทำให้ช่องคลอดกระชับแน่น ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายหรือลำบากเมื่อต้องสอดใส่มีเพศสัมพันธ์ แท้จริงแล้ว อาการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเยื่อพรหมจรรย์ แต่เกิดจากภาวะช่องคลอดหดเกร็ง (Vaginismus) ภาวะนี้เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพจิต โดยกล้ามเนื้อจะหดเกร็งเมื่อมีสิ่งกระตุ้นมาสัมผัสช่องคลอด ผู้ที่ประสบภาวะช่องคลอดหดเกร็งสามารถแก้ไขได้ โดยทำตัวให้ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รู้สึกไม่สบายหรือเจ็บเมื่อต้องสอดใส่ขณะร่วมเพศบางราย อาจมีสาเหตุมาจากเยื่อพรหมจรรย์ ซึ่งต้องผ่าตัดนำออกไปเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ เยื่อพรหมจรรย์ที่เกิดการฉีก อาจมีติ่งของเยื่อพรหมจรรย์ยื่นออกมา ซึ่งอยู่บริเวณด้านล่างช่องคลอด (Hemeanal Tags) ทำให้รู้สึกไม่สบายหรือเจ็บขณะที่ฝ่ายชายสอดใส่อวัยวะเพศเข้ามาในช่องคลอด ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว อาจใช้สารหล่อลื่นช่วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือเข้ารับการผ่าตัดติ่งเยื่อพรหมจรรย์นั้นออกไป
  • ผู้หญิงแรกรุ่นจะมีเยื่อพรหมจรรย์ปกคลุมช่องคลอดทั้งหมด โดยทั่วไปแล้ว หญิงสาววัยเจริญพันธุ์จะมีช่องหรือโพรงที่เยื่อพรหมจรรย์ โดยเยื่อนี้ไม่ได้ปกคลุมช่องคลอดทั้งหมด โพรงบนเยื่อพรหมจรรย์จะช่วยให้ขับเลือดประจำเดือนออกจากช่องคลอดได้ตามปกติ ผู้ที่เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิดจะเกิดอาการอื่น ๆ ของผู้ที่มีรอบเดือนตามปกติ แต่ไม่มีระดูออกจากช่องคลอด ส่งผลให้เลือดประจำเดือนสะสมมากขึ้นเป็นเวลานาน และคั่งอยู่ภายในช่องคลอด มดลูก หรือปีกมดลูก เกิดภาวะเลือดประจำเดือนค้างในช่องคลอด (Haematocolpos)
  • เยื่อพรหมจรรย์มีลักษณะรูปร่างแบบเดียว พรหมจรรย์เป็นเยื่อบาง ออกสีชมพู มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ทั้งนี้ อาจปรากฏเยื่อพรหมจรรย์ที่มีรูปร่างแตกต่างไปจากนี้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตามชนิดของพรหมจรรย์ตามที่กล่าวไปข้างต้น

พรหมจรรย์ขาดได้จริงหรือไม่

เยื่อพรหมจรรย์ขาดได้หรือไม่ หลายคนมักกล่าวว่า การทำกิจกรรมผาดโผน เล่นกีฬา ได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะทำให้เยื่อพรหมจรรย์ขาดได้ โดยทั่วไปแล้ว เยื่อพรหมจรรย์ปกติจะเป็นเยื่อบาง มีโพรงที่ปล่อยให้ขับเลือดประจำเดือนออกมา การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือทำกิจกรรมผาดโผนที่ทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณหัวหน่าว จะไม่ทำให้เยื่อพรหมจรรย์เปลี่ยนแปลง ส่วนการสอดใส่อวัยวะเพศชายผ่านปากช่องคลอดเข้าไปนั้นอาจทำให้เยื่อพรหมจรรย์ยืดออกหรือทำให้เกิดรอยฉีกเล็กน้อยเพื่อให้เยื่อพรหมจรรย์ขยาย รวมทั้งอาจเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเยื่อพรหมจรรย์ไปบ้าง ซึ่งผู้คนมักเข้าใจว่าเยื่อพรหมจรรย์ขาด

นอกจากนี้ โพรงที่เยื่อพรหมจรรย์จะขยายใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตของร่างกาย อย่างไรก็ตาม เยื่อพรหมจรรย์สามารถขาดหรือเสียหายได้ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการประสบอุบัติเหตุบางอย่าง เช่น ตกลงมากระแทกกับของแหลมหรือวัตถุมีคม