พยาธิปากขอ (Hookworm Infections)

ความหมาย พยาธิปากขอ (Hookworm Infections)

พยาธิปากขอ (Hookworm Infections) คือ พยาธิชนิดตัวกลมชนิดหนึ่งซึ่งก่อโรคติดเชื้อพยาธิปากขอในลำไส้เล็ก ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ อย่างปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือภาวะโลหิตจาง เป็นต้น

พยาธิปากขอเป็นพยาธิที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งพบได้มากในดินหรือปุ๋ยที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อพยาธิปากขอ โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่พยาธิไชเข้าสู่ผิวหนังจากการสัมผัสดินหรือปุ๋ยที่มีพยาธิ

พยาธิปากขอ (Hookworm Infections)

อาการของการติดเชื้อพยาธิปากขอ

ในกรณีที่การติดเชื้อพยาธิปากขอไม่รุนแรง อาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการใด ๆ นอกจากอาการคันหรือผื่นขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่พยาธิไชเข้าสู่ร่างกาย แต่หากการติดเชื้อมีความรุนแรง อาจพบการเกิดอาการต่าง ๆ เช่น

  • เกิดรอยนูนแดงเป็นทางคดเคี้ยวบริเวณผิวหนัง
  • จุกเสียด ปวดท้อง 
  • ท้องเสีย 
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ไอ ระคายเคืองบริเวณลำคอ
  • มีไข้ อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร 
  • น้ำหนักตัวลด

นอกจากนี้พยาธิปากขอที่ดูดกินเลือดอยู่ในลำไส้อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ผิวซีด หรืออาการต่าง ๆ จากการสูญเสียเลือด รวมถึงอาจทำให้มีปัญหาด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองเมื่อเกิดการติดเชื้อพยาธิปากขอในเด็ก หากพบอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

สาเหตุของการติดเชื้อพยาธิปากขอ

พยาธิปากขอมีอยู่หลายชนิด สามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยชนิดที่พบการติดเชื้อในคนได้บ่อย ได้แก่ Necator americanus และ Ancylostoma duodenale แต่ในบางกรณี การติดเชื้อก็อาจเกิดจากพยาธิปากขอชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน 

การติดเชื้อพยาธิปากขอเกิดจากการที่ตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในดินหรือปุ๋ยไชเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจกลืนอาหารและน้ำดื่มที่มีตัวอ่อนของพยาธิปนอยู่ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิเข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยและเติบโตในบริเวณลำไส้เล็กจนส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

นอกจากนี้การติดเชื้อพยาธิปากขอจะเพิ่มมากขึ้นหากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ไม่สวมรองเท้าขณะเดินนอกสถานที่พักอาศัย มือสัมผัสกับดินที่มีการปนเปื้อนของอุจจาระโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

การวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิปากขอ

การวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิปากขอเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการความผิดปกติและประวัติการเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น สถานที่ที่อยู่อาศัย ประวัติการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ประวัติการเลี้ยงสัตว์อย่างสุนัขและแมว หรือประวัติการสัมผัสดินที่อาจมีการปนเปื้อนพยาธิ เป็นต้น จากนั้นแพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยเพื่อไปตรวจหาไข่พยาธิด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่การติดเชื้อไม่รุนแรงอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แสดงออกมา 

ในบางกรณีแพทย์อาจตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อดูความผิดปกติ เช่น ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เนื่องจากระดับเซลล์เม็ดเลือดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยมีการติดเชื้อพยาธิ หรือตรวจดูว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางหรือไม่ เป็นต้น

การรักษาการติดเชื้อพยาธิปากขอ

ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิปากขอ แพทย์จะเน้นการกำจัดพยาธิในร่างกาย และบรรเทาอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานเพื่อถ่ายพยาธิ เช่น ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) ยามีเบนดาโซล (Mebendazole) ยาไพแรนเทล พาโมเอต (Pyrantel Pamoate) หรือยาไทอะเบนดาโซล (Thiabendazole) โดยการติดเชื้อจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1–3 วัน หลังรับประทานยา

สำหรับผู้ป่วยที่พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจรักษาเพิ่มเติมตามอาการดังกล่าว เช่น ยาเสริมธาตุเหล็กเพื่อรักษาภาวะโลหิตจาง ยาแก้ปวด ยาลดไข้ หรือหากผู้ป่วยมีภาวะน้ำคั่งในช่องท้อง (Ascites) แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้น เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อพยาธิปากขอ

หากผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิปากขอเป็นเวลานาน หรือไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) ซึ่งหากภาวะดังกล่าวมีความรุนแรงหรือเรื้อรัง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยหัวใจวายได้ (Heart Failure)
  • ภาวะขาดสารอาหาร 
  • ภาวะน้ำคั่งในช่องท้อง จากการที่ร่างกายขาดโปรตีน

เด็กที่ติดเชื้อพยาธิปากขอเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการทางด้านสมองจากการขาดสารอาหารที่สำคัญ อย่างธาตุเหล็กและโปรตีน

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิปากขอ

เนื่องจากพยาธิปากขอเป็นพยาธิที่แพร่กระจายผ่านทางอุจจาระของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ อุจจาระดังกล่าวมักปนเปื้อนอยู่ในดินหรือปุ๋ย ดังนั้น การรักษาความสะอาดและสุขอนามัยจึงเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อพยาธิปากขอได้อย่างดี โดยอาจปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้ เช่น

  • สวมรองเท้าเมื่อต้องออกนอกบ้านหรือไปในสถานที่ที่สกปรก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือปุ๋ยที่อาจมีการปนเปื้อนอุจจาระ
  • ดื่มน้ำสะอาดหรือรับประทานอาหารที่ผ่านการล้างและปรุงสุกแล้ว
  • หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำที่บ้าน
  • ในกรณีที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรทำความสะอาดหรือเก็บอุจจาระสัตว์บ่อย ๆ โดยสวมถุงมือขณะทำความสะอาดเสมอ
  • หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ หลังเล่นกับสัตว์ หรือหลังสัมผัสกับดินหรือสิ่งสกปรก