Albendazole (อัลเบนดาโซล)

Albendazole (อัลเบนดาโซล)

Albendazole (อัลเบนดาโซล) เป็นยารักษาการติดเชื้อที่เกิดจากพยาธิตัวกลมทุกชนิด เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย และพยาธิแส้ม้า เป็นต้น โดยยาจะออกฤทธิ์ด้วยการทำให้พยาธิไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลในร่างกายไปใช้ จนพยาธิไม่มีพลังงานและตายลงในที่สุด

Albendazole

 เกี่ยวกับ Albendazole

กลุ่มยา ยาถ่ายพยาธิ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคพยาธิทุกชนิด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด


คำเตือนการใช้ยา Albendazole

  • ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ และตลอดการใช้ยาควรมีการคุมกำเนิดจนกระทั่งหยุดใช้ยาไปแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นระหว่างนี้ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หญิงที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ยานี้เป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ห้ามแบ่งให้ผู้อื่นรับประทานโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ผู้ที่แพ้ยาอัลเบนดาโซลหรือส่วนผสมภายในยา รวมถึงยาชนิดอื่นที่คล้ายกัน เช่น มีเบนดาโซล (Mebendazole) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคตับหรือเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคตับ โรคจอประสาทตา รวมทั้งผู้ที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ไม่เว้นแม้แต่การผ่าตัดทางทันตกรรมควรแจ้งให้แพทย์ที่ให้การรักษาทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่กำลังใช้หรือคิดจะใช้ โดยเฉพาะยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) ไซเมทิดีน (Cimetidine) เดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) และพราซิควอนเทล (Praziquantel) แพทย์อาจต้องเปลี่ยนปริมาณยาที่ใช้หรือเฝ้าดูผลข้างเคียงจากการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ที่ใช้ยาอัลเบนดาโซลเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากไข่ของพยาธิตัวตืด แพทย์อาจให้รับประทานยาอื่นร่วมด้วยเพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบประสาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา ทั้งนี้หากมีอาการชัก อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลียอย่างมาก หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงควรไปพบแพทย์ทันที
  • ผู้ใช้ยาอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดบ่อย ๆ เนื่องจากยานี้สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงได้ โดยควรตรวจเลือดทุก 2 สัปดาห์ เพื่อดูการทำงานของตับ

ปริมาณการใช้ยา Albendazole

รักษาโรคพยาธิไฮดาติด (Echinococcosis) ในกรณีที่เป็นถุงน้ำในตับ ปอด ช่องท้อง โดยมีสาเหตุมาจากถุงซีสต์ของพยาธิตัวตืด

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 800 มิลลิกรัม/วัน รับประทานติดต่อกัน 28 วัน จำนวน 3 รอบ แต่ละรอบเว้นระยะห่าง 14 วัน

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัม/วัน รับประทานติดต่อกัน 28 วัน จำนวน 3 รอบ แต่ละรอบเว้นระยะห่าง 14 วัน

รักษาโรคจากไข่พยาธิตัวตืด (Neurocysticercosis) กรณีที่มีอาการทางสมอง

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 800 มิลลิกรัม/วัน รับประทานติดต่อกัน 8-30 วัน

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัม/วัน รับประทานติดต่อกัน 8-30 วัน

ผู้ป่วยโรคนี้ยังควรได้รับยาสเตียรอยด์และยาต้านอาการชัก โดยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบรับประทานและแบบฉีดจะช่วยป้องกันภาวะความดันในสมองสูงที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงสัปดาห์แรกของการรักษา

รักษาโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous Larva Migrans)

    ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 400 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3-7 วัน

    เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน

รักษาโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง

รักษาโรคพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย (Pinworm Infection)

    ผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง แล้วรับประทานซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ถัดมา

    เด็กน้ำหนักน้อยกว่า 20 กิโลกรัม รับประทาน 200 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง แล้วรับประทานซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ถัดมา

    เด็กน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม รับประทาน 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง แล้วรับประทานซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ถัดมา

รักษาโรคเท้าช้าง (Filariasis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

รักษาโรคพยาธิปากขอ (Hookworm Infection)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง

รักษาโรคลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8-14 วัน

โรคพยาธิทริโคสตรองจิลอยด์ (Trichostrongylosis)

เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง เด็กรับประทานพร้อมอาหาร

โรคพยาธิแส้ม้า (Whipworm Infection)

เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน

โรคพยาธิแคพิลลาเรีย (Capillariasis)

    เด็กและผู้ใหญ่ รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

โรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 21 วัน

โรคพยาธิตืดหมู (Cysticercus cellulosae)

    ผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8-30 วัน

    เด็กรับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8-30 วัน ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 800 มิลลิกรัม/วัน

โรคไมโครสปอริดิโอซิส (Microsporidiosis)

    ผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

    เด็กรับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 800 มิลลิกรัม/วัน

โรคพยาธิตัวกลมในสุนัขและแมว (Toxicariasis)

    เด็กและผู้ใหญ่รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

การใช้ยา Albendazole

  • เป็นยารับประทานพร้อมมื้ออาหาร
  • รับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่แนะนำบนฉลาก ไม่รับประทานมากเกิน น้อยเกิน หรือนานกว่าระยะเวลาที่กำหนด
  • กรณีที่ลืมรับประทานยาให้รับประทานทันที หรือข้ามไปรับประทานมื้อต่อไปหากใกล้ถึงเวลาแล้ว ห้ามเพิ่มปริมาณยาทดแทน
  • เด็กหรือผู้ที่ไม่สามารถกลืนยาอัลเบนดาโซลลงไปทั้งเม็ดได้สามารถบดหรือเคี้ยวยาก่อนกลืนแล้วดื่มน้ำเปล่าตาม
  • ยานี้ควรรับประทานให้ครบตามกำหนด เพราะแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วแต่เชื้อก็อาจยังไม่ถูกกำจัดจนหมดดี การหยุดใช้ยาก่อนกำหนดอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะได้
  • แพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดอื่นให้รับประทานด้วย เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาอัลเบนดาโซลหรือผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีพยาธิตายในร่างกาย
  • หากระหว่างการใช้ยามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากปริมาณการใช้ยาอัลเบนดาโซลนั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ใช้
  • ระหว่างใช้ยาควรเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ และแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเมื่อพบว่าตนเองมีอาการติดเชื้อ
  • ยานี้ควรเก็บรักษาที่อุณภูมิห้อง ห่างจากความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Albendazole

หากมีอาการบ่งบอกถึงการแพ้ยา ได้แก่ หายใจลำบาก ลมพิษ มีอาการบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก ใบหน้า หรือลำคอ ให้ไปพบแพทย์โดยด่วน ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาชนิดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ไขกระดูกทำงานผิดปกติและตับอักเสบ ผู้ใช้ยาควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการใด ๆ ต่อไปนี้

  • อาการที่บ่งบอกถึงภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ คือ
    • รู้สึกอ่อนแรงคล้ายไม่สบาย
    • มีไข้ หนาวสั่น
    • แผลที่ปาก เหงือกบวมหรือแดง
    • เจ็บคอ กลืนลำบาก
    • ฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย
  • อาการที่บ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับตับ ได้แก่
    • อาการคัน
    • ปวดท้องบริเวณส่วนบน
    • คลื่นไส้
    • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร
    • ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระสีคล้ายดิน
    • ดีซ่าน (ผิวหรือตาเป็นสีเหลือง)

อัลเบนดาโซลยังอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ผมร่วงชั่วขณะ