แผลในปาก

ความหมาย แผลในปาก

แผลในปากเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างการกัดริมฝีปาก แผลจากรับประทานของร้อน โรคเชื้อราในปาก หรือแม้แต่การละเลยสุขอนามัยในช่องปาก แผลในปากอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองเมื่อรับประทานอาหารรสจัด และรู้สึกเจ็บขณะแปรงฟัน เคี้ยวอาหาร โดยปกติแผลในปากสามารถหายได้เอง แต่การใช้ยาร่วมกับการดูแลตนเองก็จะช่วยให้แผลสมานได้เร็วขึ้น

แผลในปาก

อาการของแผลในปาก

แผลในปากอาจเกิดขึ้นเพียงจุดเดียว หรือหลายจุดพร้อมกันได้จะรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการแปรงฟันและการเคี้ยวอาหาร โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารรสจัดหรือของร้อน

นอกจากนี้ ลักษณะอาการของแผลในปากอาจแบ่งได้ตามขนาดและชนิด ดังนี้

  • แผลขนาดเล็ก
    แผลในปากขนาดเล็กเป็นชนิดที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยแผลจะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีขนาดเล็ก สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
  • แผลขนาดใหญ่
    แผลในปากขนาดใหญ่มักพบได้น้อย มีลักษณะเป็นวงกลมและวงรีขนาดใหญ่และลึกกว่าแผลขนาดเล็ก ขอบแผลชัดแต่เมื่อแผลมีขนาดใหญ่มากขอบของแผลอาจมีลักษณะที่เปลี่ยนไป เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บมาก โดยอาจใช้เวลาราว 6 สัปดาห์ในการรักษาและอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้
  • แผลเฮอร์ปิติฟอร์ม (Herpetiform)
    เป็นแผลที่พบได้ยาก ขนาดเล็ก แต่มีจำนวนมากซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 10-100 จุด และอาจขยายรวมกันจนกลายเป็นแผลใหญ่แผลเดียว มีลักษณะขอบแผลที่ไม่แน่นอน สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น โดยแผลในปากชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเริม

อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์ เป็นแผลขนาดใหญ่ผิดปกติ มีแผลเกิดใหม่ในขณะที่แผลเก่ายังไม่หายและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ เมื่อสัมผัสแล้วไม่รู้สึกเจ็บ มีแผลเกิดขึ้นบริเวณริมฝีปาก ยาหรือการดูแลด้วยตนเองเบื้องต้นไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ มีปัญหาในการดื่มน้ำอย่างรุนแรงหรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ มีไข้สูงหรือท้องเสียร่วมกับเกิดแผลในปาก

สาเหตุของแผลในปาก

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดแผลในปากได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดแผลในปากได้ ดังนี้

  • การระคายเคืองในช่องปาก
    แผลในปากนั้นอาจเกิดจากการระคายเคืองในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันแรงเกินไป การเสียดสีกับลวดจัดฟัน แผลจากอุบัติเหตุ แผลจากทันตกรรม กัดปากหรือกระพุ้งแก้ม การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่ผสมสารเพิ่มฟอง (Sodium lauryl sulfate) อาการไวต่ออาหารบางชนิด อย่างถั่ว ไข่ ช็อกโกแลต กาแฟ หรืออาหารรสจัดและอาหารที่มีกรด
  • การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
    การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์อาจส่งผลให้เกิดแผลในปากได้ เช่น การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิค วิตามินบี 6 และ 12 การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในช่วงรอบเดือน พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด เป็นต้น
  • เชื้อโรคในช่องปาก
    เชื้อโรคในช่องปากและโรคจากการติดเชื้ออาจส่งผลให้เกิดแผลในปากได้ อย่างเชื้อเอชไพโลไร(Helicobacter pylori) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร โรคเริม เชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ โรคเชื้อราในปาก หรืออาจเกิดจากการแพ้เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราภายในช่องปาก นอกจากนี้ การละเลยการดูแลช่องปากก็อาจเป็นสาเหตุของแผลในช่องปากได้
  • เกิดจากโรคและสุขภาวะ
    แผลในปากอาจเป็นสัญญาณหรืออาการของโรค เช่น  โรคเบาหวาน โรคเซลิแอค(Celiac disease) หรือโรคแพ้กลูเตน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเบเซ็ท (Behcet’s disease) หรือโรคหลอดเลือดอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง โรคมะเร็งช่องปาก เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นอาจเกิดอาการแผลในช่องปากได้บ่อยกว่าคนกลุ่มอื่น โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แผลในปากนั้นอาจส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมหรือเกิดจากปัจจัยร่วมในครอบครัว อย่างสภาพแวดล้อมหรืออาหารที่รับประทานร่วมกันในครัวเรือน

การวินิจฉัยแผลในปาก

แพทย์อาจวินิจฉัยแผลในปากด้วยการสังเกตรอยแผลเท่านั้น แต่หากอาการอยู่ในขั้นรุนแรงอาจใช้วิธีอื่น ๆ ตรวจสอบตามดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาแผลในปาก

แผลในปากสามารถหายได้เองเมื่อผ่านไปสักระยะ แต่การใช้ยาและการรักษาด้วยตนเองก็อาจช่วยให้อาการแผลในปากหายได้เร็วขึ้น โดยวิธีที่อาจใช้ในการรักษามี ดังนี้

รักษาด้วยตนเอง

การรักษาแผลในปากด้วยตนเองสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปากอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกรดโฟลิค สังกะสี วิตามินบี 6 และ 12
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่นผสมเบกกิ้งโซดา
  • ประคบน้ำแข็ง โดยนำก้อนน้ำแข็งวางบริเวณแผลภายในปากอย่างเบามือ
  • ประคบแผลด้วยถุงชาหมาด ๆ
  • รักษาด้วยสมุนไพร อย่างชาคาโมมายล์ เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) มดยอบ และรากชะเอมเทศที่มีสรรพคุณทางยา

รักษาด้วยยาและอาหารเสริม

การใช้ยาและอาหารเสริมเพื่อรักษาแผลในปาก ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาและอาหารเสริม ซึ่งการรักษาด้วยยาและอาหารเสริมที่อาจช่วยบรรเทาอาการแผลปากอาจมี ดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด อย่างพาราเซตามอล
  • ใช้ยาเฉพาะจุดที่มีส่วนประกอบอย่างเบนโซเคน (Benzocaine) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinonide) และไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)
  • บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์อาจช่วยลดอาการปวดบวมได้
  • ทาแผลด้วยมิลค์ออฟแมกนีเซียม (Milk of magnesia) หรือยาที่ใช้ลดกรด และช่วยเรื่องการขับถ่าย
  • รับประทานอาหารเสริม อย่างกรดโฟลิค สังกะสี วิตามินบี 6 และ 12

อย่างไรก็ตาม เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา อาหารเสริม รวมถึงการรักษาด้วยตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตราย นอกจากนี้ ยังควรแปรงฟันอย่างเบามือและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดเพื่อช่วยให้แผลในปากหายได้เร็วขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของแผลในปาก

แผลในปากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบื่ออาหาร เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) การติดเชื้อในช่องปาก และโรคมะเร็งช่องปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การสัมผัสกับแผลในปากอาจเป็นการกระจายเชื้อของโรคติดต่อ

การป้องกันการเกิดแผลในปาก

เนื่องจากสาเหตุในการเกิดแผลในปากนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดจึงอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดแผลในปากได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานที่อาหารร้อนจัด และรับประทานอาหารรสจัดแต่พอดี
  • แปรงฟันอย่างเบามือ
  • ระมัดระวังขณะเคี้ยวอาหาร
  • รักษาความสะอาดช่องปากอยู่เสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด