โรคเบเช็ท (Behcet’s Disease)

ความหมาย โรคเบเช็ท (Behcet’s Disease)

Behcet’s Disease หรือโรคเบเซ็ท เป็นความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ​หลายตำแหน่งในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะพบแผลอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ อย่างเยื่อบุในช่องปาก ตา ระบบประสาท เส้นเลือด ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศและข้อต่อ โดยอาการของโรคจะเกิดซ้ำ ๆ และอาการอาจรุนแรงขึ้นในบางราย

Behcet’s Disease เป็นโรคที่พบได้น้อย โดยคาดกันว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สามารถเกิดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เพศชายจะมีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่า และอาการของโรคมักจะแสดงในช่วงอายุ 20–30 ปี 

Behcet’s Disease

อาการของ Behcet's Disease 

ผู้ป่วยจะมีอาการต่างกันไปขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดการอักเสบ และอาการของโรคจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยตัวอย่างอาการของ Behcet's Disease ที่พบได้ เช่น

ปาก

แผลบริเวณปากเป็นอาการแรกที่สามารถสังเกตได้ง่ายและเกิดขึ้นก่อนอาการอื่น ๆ โดยในช่วงแรกจะมีแผลเกิดภายในปากหลายจุด มีลักษณะเป็นวงกลมนูนคล้ายแผลร้อนใน แต่แผลจะหายไปเองและอาจกลับมาเกิดซ้ำภายใน 1–3 สัปดาห์

ผิวหนัง

มีแผลคล้ายสิวตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดการอักเสบของชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เกิดรอยแดงและตุ่มนิ่มบริเวณผิวโดยเฉพาะขาช่วงด้านล่าง หรืออาจมีแผลตื้นและลึกที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด หากมีการทดสอบ Pathergy หรือการทดสอบปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังผิวหนังได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะมีรอยนูนแดงหรือตุ่มหนองบริเวณที่ทดสอบ

อวัยวะเพศ

เกิดแผลที่อวัยวะเพศลักษณะคล้ายแผลบริเวณช่องปาก มีอาการเจ็บและอาจกลายเป็นรอยแผลเป็น โดยในเพศชายพบได้บริเวณถุงอัณฑะและในเพศหญิงพบได้บริเวณผิวด้านนอกอวัยวะเพศ 

ตา

มีอาการม่านตาอักเสบ เจ็บบริเวณตา ตามัวและไวต่อแสง มีน้ำตา ตาแดง และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยมักเกิดอาการขึ้นกับตาทั้ง 2 ข้าง และอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ

ข้อต่อ

มีอาการข้อบวม แดง และเจ็บโดยเฉพาะบริเวณหัวเข่า ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและข้อสะโพก โดยอาการจะคงอยู่ประมาณ 1–3 สัปดาห์และหายไปเอง

หลอดเลือด

เกิดการอักเสบของหลอดเลือดที่อยู่บริเวณชั้นตื้นและชั้นลึกของผิวหนัง โดยจะมีการตีบตัน เกิดลิ่มเลือด หรืออาจหลอดเลือดถูกอุดกั้น ส่งผลให้เกิดรอยแดง มีอาการเจ็บและบวมตามแขนหรือขา กรณีที่เกิดความผิดปกติในหลอดเลือดใหญ่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น หลอดเลือดโป่งพอง เกิดการตีบแคบหรืออุดตันของหลอดเลือด เป็นต้น 

ระบบทางเดินอาหาร

มีแผลในระบบทางเดินอาหารคล้ายกับแผลที่เกิดบริเวณปากและบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือดหรือท้องเสีย นอกจากนี้ แผลในทางเดินอาหารอาจก่อให้เกิดเลือดออกในลำไส้หรือลำไส้ฉีกขาดซึ่งเป็นภาวะที่เป็นอันตราย 

สมอง

เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหัว คอแข็งหรือมีการร่างกายเคลื่อนไหวไม่ประสานกัน หากหลอดเลือดบริเวณสมองเกิดการอุดตันหรือฉีกขาดอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

นอกเหนือจากอาการที่กล่าวมา ความผิดปกติที่มีสาเหตุมาจาก Behcet's Disease อาจพบได้ในบริเวณปอด ไตหรือหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาได้เช่นกัน หากสังเกตเห็นความผิดปกติที่คล้ายกับอาการของโรค Behcet's Disease หรือพบความผิดปกติเกิดขึ้นใหม่ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย 

สาเหตุของ Behcet's Disease 

การเกิด Behcet's Disease ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายทำลายเนื้อเยื่อที่สุขภาพดีจนเกิดการอักเสบตามมา

นอกจากนี้ การติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคในผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางราย และปัจจัยจากพันธุกรรมร่วมกับสภาพแวดล้อมอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการของโรคได้เช่นกัน โดยผู้ที่เสี่ยงต่อโรคมักพบในกลุ่มคนต่อไนี้

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรค Behcet’s Disease จำนวนมาก 
  • ผู้ที่มีอายุ 20–40 ปี 
  • ผู้ที่มียีน HLA-B5 หรือ HLA-B51 ซึ่งตรวจพบได้ในผู้ป่วยบางราย

การวินิจฉัย Behcet's Disease 

แพทย์จะวินิจฉัย Behcet's Disease จากอาการที่เกิดขึ้นและความถี่ของอาการ โดยจะตรวจร่างกายเพื่อค้นหาบาดบาดแผลภายในช่องปาก โดยเฉพาะบาดแผลที่กลับมาเกิดซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อปีร่วมกับการเกิดแผลบริเวณอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง ตาหรืออวัยวะเพศ เป็นต้น 

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยเพิ่มเติมวิธีต่าง ๆ เช่น

  • การตรวจเลือดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตัดความผิดปกติอื่นออก เนื่องจากแผลที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่พบได้ในหลายโรค เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคโครห์น (Crohn's Disease) และโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดต่าง ๆ เป็นต้น 
  • การทดสอบ Pathergy เพื่อตรวจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยใช้อุปกรณ์หรือเข็มปลอดเชื้อจิ้มบริเวณผิวหนังให้เกิดบาดแผลขนาดเล็ก ซึ่งผู้ป่วยโรคดังกล่าวมักตรวจพบตุ่มแดงหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังภายในเวลา 24–48 ชั่วโมง

การรักษา Behcet's Disease 

Behcet's Disease ไม่มีการรักษาด้วยวิธีเฉพาะทาง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บและควบคุมผื่นอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาโดยใช้ยาตามใบสั่งแพทย์เพื่อควบคุมอาการในส่วนต่าง ๆ ตามร่างกาย และใช้ยารักษาอาการผื่นแดง โดยวิธีการรักษามีรายละเอียดดังนี้

การรักษาอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่

ในระหว่างที่ผู้ป่วยมีผื่นแดง แพทย์จะใช้ยาชนิดต่าง ๆ ตามความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • ครีม เจลหรือขี้ผึ้งบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) สำหรับทาลงบนผิวและแผลบริเวณอวัยวะเพศโดยตรงเพื่อลดอาการเจ็บและการอักเสบ
  • น้ำยาบ้วนปากชนิดพิเศษที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์และสารชนิดอื่น ๆ เพื่อลดอาการเจ็บจากแผลในปาก
  • ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบชนิดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บและอาการตาแดงเนื่องจากการอักเสบที่ไม่รุนแรง
  • ยาชนิดรับประทาน อย่างยาอะพรีมิลาสต์ (Apremilast) เพื่อรักษาแผลในปาก

การรักษาอาการที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย

กรณีที่ยารักษาเฉพาะที่ใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาโคลชิซิน (Colchicine) เพื่อไม่ให้แผลในปากและอวัยวะเพศเกิดซ้ำ และอาจช่วยบรรเทาอาการบวมบริเวณข้อ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยการใช้ยาชนิดต่าง ๆ เช่น 

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่างยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อช่วยบรรเทาการอักเสบและอาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ เพื่อกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่การใช้ยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยน้ำหนักเพิ่ม มีอาการแสบร้อนกลางอก ความดันโลหิตสูงและมีภาวะกระดูกพรุน
  • ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดี ทำให้ช่วยลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรค เช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) ทั้งนี้ การใช้ยากดภูมิคุ้มกันจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ตับและไตทำงานผิดปกติ เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและจำนวนเซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ เป็นต้น
  • ยาที่เปลี่ยนแปลงการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ควบคุมการอักเสบ อย่างยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alfa-2b) โดยอาจใช้ยาชนิดนี้เพียงชนิดเดียวหรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ เพื่อควบคุมแผลบริเวณผิวหนัง อาการเจ็บข้อ การอักเสบในดวงตา อย่างไรก็ตาม ตัวยาอาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยและอ่อนเพลีย 

ในการรักษาในผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือรักษาด้วยยาอื่น ๆ ไม่ได้ผล แพทย์จะใช้ยาต้านสาร TNF (Tumor Necrosis Factor: TNF) ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ยาอินฟลิซิแมบ (Infliximab) และยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) เป็นต้น 

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองระหว่างการรักษาได้ดังนี้

  • ควรพักผ่อนร่างกายในระหว่างที่มีอาการผื่นแดง และพยายามไม่เครียด
  • ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว อาทิ การออกกำลังกายด้วยการเดิน ว่ายน้ำ เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้น และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการความแข็งแรงของร่างกาย เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์และติดตามอาการกับแพทย์ทุกครั้ง
  • เข้าร่วมกลุ่มกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกันหรือกลุ่มที่ช่วยสนับสนุนด้านจิตใจในขณะมีอาการป่วย 

ภาวะแทรกซ้อนของ Behcet's Disease 

ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก Behcet's Disease แตกต่างกันไปตามอาการของแต่ละคน อย่างการมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็นเมื่อไม่ได้รับการรักษาภาวะม่านตาอักเสบ นอกจากนี้ การใช้ยาชนิดต่าง ๆ ในการรักษาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัว ผื่นผิวหนัง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดปัญหาต่อการทำงานของตับ ไต ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและความดันโลหิตสูง เป็นต้น

การป้องกัน Behcet's Disease 

เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค ทำให้ยากต่อการป้องกัน แต่หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นคล้ายกับอาการของโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยป้องกันอาการลุกลามหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิมกรณีที่ตรวจพบว่าเป็น Behcet's Disease