ผู้ชายมีลูกยาก เข้าใจสาเหตุและแนวทางการรักษา

ผู้ชายมีลูกยาก หรือภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย (Male Infertility) คือภาวะที่คู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้หลังจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและไม่ได้มีการคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ การหลั่งฮอร์โมนเพศ โรคประจำตัว การใช้ยา และการได้รับสารเคมีที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการมีลูก

ภาวะมีลูกยากเกิดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยอาจเกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเกิดจากทั้งสองฝ่ายร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีลูกยากสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อตรวจประเมินภาวะมีลูกยากและรับการรักษา ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการแพทย์หลายวิธี ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของการมีลูกได้

ผู้ชายมีลูกยาก

สาเหตุของผู้ชายมีลูกยาก

ภาวะมีบุตรยากเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลักษณะทางกายภาพที่เกิดการปิดกั้นไม่ให้ตัวอสุจิหลั่งออกมาได้ตามปกติ หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่มีผลกับคุณภาพและการผลิตอสุจิ โดยสาเหตุและปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก มีดังนี้

ความผิดปกติของสเปิร์ม

สเปิร์ม (Sperm) คือเซลล์สืบพันธุ์ที่จะปฏิสนธิกับไข่ เพื่อพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนและทารกต่อไป ผู้ชายบางคนอาจมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการทำงานของสเปิร์ม เช่น สเปิร์มไม่แข็งแรง สเปิร์มเคลื่อนที่ช้า ปริมาณของสเปิร์มน้อยกว่าปกติ หรือไม่มีสเปิร์มในน้ำอสุจิเลย

ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรม หรือปัญหาสุขภาพ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ จึงสร้างแอนติบอดี (Antibody) ขัดขวางการทำงานของสเปิร์ม โรคเบาหวาน การติดเชื้อคลามัยเดีย โรคหนองใน โรคคางทูม เอดส์ และหลอดเลือดดำในอัณฑะขอด (Varicocele) 

ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ

ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิที่ทำให้ผู้ชายมีลูกยาก มีดังนี้

  • ปัญหาทางเพศ เช่น การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การหลั่งเร็ว (Premature Ejaculation) และการหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง (Retrograde Ejaculation) ซึ่งหมายถึงมีการหลั่ง แต่น้ำอสุจิย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
  • การอุดตันในท่อนำอสุจิ ซึ่งเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ การติดเชื้อ การผ่าตัด และโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์
  • ปัญหาทางสรีระ เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ถูกทำลาย ถูกกระทบกระเทือน หรือได้รับบาดเจ็บ

ความผิดปกติของอัณฑะ

ความผิดปกติของลูกอัณฑะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะอัณฑะค้าง (Undescended Testis) ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนตัวลงไปในถุงอัณฑะตามปกติ โดยติดอยู่ในบริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน

รวมทั้งการติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บ และรักษามะเร็งอัณฑะด้วยเคมีบำบัด การฉายแสง และการผ่าตัดลูกอัณฑะ

ความผิดปกติของฮอร์โมน

หากสมองส่วนไฮโปธาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ และต่อมหมวกไตเกิดความผิดปกติ อาจส่งผลต่อการมีลูกยากได้ เนื่องจากทำหน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศชาย จึงทำให้มีฮอร์โมนเพศชายต่ำ

ความผิดปกติของพันธุกรรม

ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจทำให้ผู้ชายมีลูกยาก เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter Syndrome) เป็นภาวะที่ผู้ชายเกิดมาพร้อมกับโครโมโซม X 2 แท่ง ซึ่งปกติจะมีโครโมโซม X เพียง 1 แท่ง ทำให้การพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชายผิดปกติ

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก

ปัจจัยภายนอกอาจส่งผลให้ผู้ชายมีลูกยากได้เช่นกัน ได้แก่

  • การใช้ยากำจัดศัตรูพืช หรือสารเคมีต่าง ๆ เป็นประจำ 
  • การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ฮอร์โมนทดแทน ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคข้ออักเสบ และการใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาว เป็นต้น
  • ร่างกายสัมผัสกับความร้อนสูง เช่น อบซาวน่า หรือแช่น้ำร้อน จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการผลิตอสุจิได้

สาเหตุอื่น ๆ

ผู้ชายมีลูกยากอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ตนเองมีอายุมากกว่า 40 ปี และคู่สมรสมีอายุมากกว่า 35 ปี โรคอ้วน โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติต่อโปรตีนกลูเตนในพืชจำพวกข้าว ภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ (Hypospadias) และปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ ผู้ชายบางคนอาจมีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic) อีกด้วย

วิธีรักษาภาวะผู้ชายมีลูกยาก

การรักษาภาวะมีลูกยากในผู้ชายอาจรักษาด้วยการใช้ยา และการผ่าตัด ควบคู่กับให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง ดังนี้

การใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาผู้ชายมีลูกยาก เช่น การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) กรณีที่ฮอร์โมนเพศผิดปกติ การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ และการใช้ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การรักษาโดยแพทย์

การผ่าตัดและการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยในการรักษาผู้ชายมีลูกยากมีหลายวิธี เช่น 

  • การผ่าตัดรักษาภาวะหลอดเลือดอัณฑะขอด 
  • การแก้หมันชาย (Vasectomy Reversal)
  • การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การผสมเทียม (Artificial Insemination) การทำอิ๊กซี่  (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) และการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro fertilisation: IVF)

ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

ผู้ชายมีบุตรยากควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของภรรยา ดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์บ่อยขึ้น เช่น ทุกวันหรือวันเว้นวัน โดยเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในช่วงไข่ตกจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
  • ควบคุมน้ำหนักตัว ผู้ชายที่มีค่า BMI เท่ากับ 30 หรือมากกว่า อาจเพิ่มโอกาสของภาวะมีบุตรยาก ซึ่งผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวมากควรดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูงก็จะสามารถช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่ ผักผลไม้ คาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อร่างกาย เช่น ขนมปังโฮลวีตและข้าวกล้อง และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา และถั่ว 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการความเครียดย่างเหมาะสม เพราะความเครียดอาจทำให้มีเพศสัมพันธ์ได้ไม่ต่อเนื่อง มีผลต่อการหลั่งอสุจิ และคุณภาพของอสุจิ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมอาจช่วยป้องกันผู้ชายมีลูกยากได้ หากคู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำโดยไม่มีการป้องกันเป็นเวลาหนึ่งปี หรือตนเองปัญหาสุขภาพ เช่น ความต้องการและสมรรถภาพทางเพศลดลง มีก้อนบวมและรู้สึกปวดบริเวณอัณฑะ หรือเคยผ่าตัดบริเวณอัณฑะและอวัยวะเพศชาย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา