ผื่นแพ้เสื้อผ้า สาเหตุและวิธีรักษาที่คุณควรรู้

อาผื่นแพ้เสื้อผ้า (Textile Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังในกลุ่มผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) ซึ่งทำให้เกิดผื่นแดงและคันหลังสัมผัสกับเส้นใยผ้าบางชนิด หรืออาการระคายเคืองอาจเกิดจากการแพ้สารเคมีในกระบวนการผลิตเสื้อผ้า และสารเคมีในผลิตภัณฑ์ซักผ้า อย่างผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม

ผื่นแพ้เสื้อผ้าพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่มีโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคอ้วน ผู้มีผิวแพ้ง่ายอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการผื่นแพ้เสื้อผ้ามากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีอากาศร้อน อับชื้น และผู้ที่ทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า ซึ่งสัมผัสสารเคมีและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเย็บเป็นประจำถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคผื่นแพ้เสื้อผ้าได้ง่ายเช่นกัน

ผื่นแพ้เสื้อผ้า สาเหตุและวิธีรักษาที่คุณควรรู้

ผื่นแพ้เสื้อผ้าเกิดจากอะไรบ้าง

บางคนอาจเข้าใจผิดว่าการเกิดผื่นแดงคันจากเหงื่อและการสวมใส่เสื้อผ้าคับเกินไปเป็นอาการที่เกิดจากผื่นแพ้เสื้อผ้า แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผื่นแพ้เสื้อผ้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ผื่นแพ้เสื้อผ้าจัดเป็นโรคผื่นระคายสัมผัสที่เกิดจากสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis) 

โดยเนื้อผ้าที่ผลิตจากใยสังเคราะห์มักทำให้เกิดผื่นแพ้เสื้อผ้าได้ง่าย เช่น โพลีเอสเตอร์ (Polyester) เรยอน (Rayon) ไนลอน (Nylon) สแปนเดกซ์ (Spandex) และยาง เพราะเนื้อผ้าเหล่านี้ระบายอากาศได้ไม่ดี จึงทำให้เกิดการอับชื้นเหงื่อได้มากกว่าการสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากใยธรรมชาติ นอกจากนี้ สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้า อย่างผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และสารฟอกผ้าขาว อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้เช่นกัน

ในบางกรณี ผู้ที่มีโรคผื่นระคายสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) อย่างนิกเกิล (Nickel) ที่มักพบในหัวเข็มขัด กระดุมกางเกงยีนส์ และเครื่องประดับ รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ย้อมผ้าและใช้ในการตัดเย็บ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehydeกาว สีย้อมผ้า และสารที่ใช้ในการฟอกหนัง ก็อาจเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ 

สังเกตอาการบ่งบอกว่าคุณเป็นผื่นแพ้เสื้อผ้า

อาการของผื่นแพ้เสื้อผ้ามักเกิดบนผิวหนังบริเวณที่สัมผัสเสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อย ๆ เช่น ข้อพับแขนและขา รักแร้ ขาหนีบ และก้น โดยอาการอาจเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสเสื้อผ้า หรือเริ่มมีอาการหลังจากผ่านไป 2–3 วัน ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • มีผื่นแดงบนผิวหนัง 
  • รู้สึกคันเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
  • ผิวแห้งแตกหรือผิวลอกเป็นขุย
  • รู้สึกแสบร้อนผิว
  • มีอาการกดเจ็บบริเวณผิวหนังที่มีอาการ

การเสียดสีของเสื้อผ้ากับผิวหนัง และเหงื่อจากการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนชื้นอาจกระตุ้นให้อาการของผื่นแพ้เสื้อผ้าแย่ลงได้ และหากผื่นแพ้เสื้อผ้าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้www.pobpad.com/สารก่อภูมิแพ้-รู้ทันป้อ เช่น นิกเกิลและสารฟอร์มาลดีไฮด์ อาจทำให้มีอาการแพ้รุนแรง เช่น ใบหน้าบวม เจ็บแน่นหน้าอก และหายใจลำบาก

ผื่นแพ้เสื้อผ้ารักษาอย่างไร

เนื่องจากผื่นแพ้เสื้อผ้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อย่างเส้นใยผ้าและสารทำความสะอาด หรืออาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ การไปตรวจวินิจฉัยเฉพาะทางอย่างการตรวจทางผิวหนัง (Skin Test) จะทำให้ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส และรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

โดยวิธีรักษาผื่นแพ้ผิวหนังมี 2 วิธี ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อผ้าและสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

หลังจากทราบว่าผื่นแพ้เสื้อผ้าเกิดจากสาเหตุใด การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้นเป็นวิธีที่ช่วยรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีก เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ โดยเลือกเสื้อผ้าที่ทอจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายและผ้าลินิน (Linen)
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาดเพราะอาจใช้สีย้อมผ้าที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังในกระบวนการผลิต และให้ซักแยกจากเสื้อผ้าอื่น ๆ เพื่อป้องกันสีตก 
  • หากอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนและชื้น ควรสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าโปร่งสบาย และไม่คับแน่นเกินไป
  • หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ระบุคำว่า “ไม่ต้องรีด” และ “เนื้อผ้ามีคุณสมบัติป้องกันคราบเปื้อน” เนื่องจากเสื้อผ้าเหล่านี้มักผสมสารเคมี อย่างฟอร์มาลดีไฮด์ที่ทำให้ผ้ายับยากมากขึ้น
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าสูตรอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและสี 
  1. การใช้ยารักษา

หากมีอาการผื่นแพ้เสื้อผ้าไม่รุนแรงอาจใช้ยาสเตียรอยด์ทาผิวหนัง อย่างยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ที่มีความเข้มข้น 0.5–2.5% ซึ่งช่วยบรรเทาอาการบวมแดงและคัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์ทาผิว ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคัน และยาปฏิชีวินะหากมีอาการติดเชื้อที่ผิวหนัง

หากอาการผื่นแพ้เสื้อผ้าไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์ หรืออาการไม่หายขาด ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง นอกจากนี้ หากสังเกตเห็นผื่นแดงบนผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง รู้สึกเจ็บหรือคันอย่างรุนแรง ผื่นลุกลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น