ผลกระทบจากมลพิษทางเสียงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต

มลพิษทางเสียง (Noise Pollution) มักเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอ ทั้งเสียงเครื่องยนต์ เครื่องจักร เสียงการก่อสร้างต่อเติมบ้าน หรือเสียงเพลง มลพิษทางเสียงเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเท่านั้น แต่การได้รับมลพิษทางเสียงติดต่อกันอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

การพูดคุยปกติจะมีความดังเสียงอยู่ที่ 60‒70 เดซิเบล ส่วนความดังในระดับที่สร้างปัญหาสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะเริ่มที่ 85 เดซิเบลขึ้นไป แต่บางครั้งมลพิษทางเสียงอาจไม่ใช่เสียงที่ดัง เพราะเสียงเบากว่าก็สร้างความรำคาญหรือหงุดหงิดใจได้ไม่แพ้กัน

ดังนั้นไม่ว่าเสียงดังหรือเบาก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ บทความนี้ชวนทำความเข้าใจว่าเสียงเหล่านี้ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร และรับมือได้ด้วยวิธีไหน

ผลกระทบจากมลพิษทางเสียงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต

ผลกระทบจากมลพิษทางเสียง

มลพิษทางเสียงมีหลากหลายรูปแบบและมาจากหลายแหล่ง ทั้งเสียงคน เสียงแวดล้อม เสียงดนตรี หรือแม้แต่เสียงกรน ซึ่งเสียงเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้

รบกวนการนอน

การได้ยินเสียงรบกวนขณะพักผ่อน โดยเฉพาะระหว่างการนอนหลับอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกรำคาญและโมโหได้ในทันที นอกจากความหงุดหงิดแล้ว เสียงรบกวนขณะนอนหลับ เช่น เสียงกรน เสียงกัดฟัน หรือเสียงการจราจรที่ลอดเข้ามาในห้องกลางดึกก็สามารถส่งผลให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ เพราะหูเรายังคงทำงานอยู่ในขณะนอนหลับแม้ว่าจะไม่รู้สึกตัว จึงทำให้ได้ยินเสียงเหล่านั้น

เมื่อการนอนหลับถูกขัดขวางจนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้น้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง รู้สึกง่วงซึมระหว่างวัน อารมณ์ไม่ดี ในระยะยาวอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า และเสี่ยงต่อโรคเครียด ภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอีกหลายโรค นอกจากนี้การพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้ฮอร์โมนชื่อเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งควบคุมความหิวเพิ่มขึ้น จึงกระตุ้นให้รู้สึกหิวบ่อย นำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มและโรคอ้วนได้

ทำให้อารมณ์เสีย

ความรู้สึกอารมณ์เสียเมื่อได้ยินเสียงรบกวนเป็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดของมลพิษทางเสียง เสียงเหล่านั้นมักกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางลบ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการพักผ่อนหรือต้องจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

การศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า เสียงเดินหรือเสียงฝีเท้าที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับภายในอาคารพักอาศัย อย่างหอพักหรือคอนโด อาจทำให้เกิดความรู้สึกทางลบได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่รู้สึกไม่พอใจ รำคาญใจ เครียด โมโห โกรธแค้น บางคนถึงขั้นรู้สึกปวดหัว เหนื่อยล้า และไม่สบายจากการได้ยินเสียงเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม คนบางส่วนให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่พอทนได้ แต่แน่นอนว่าความรู้สึกเหล่านี้ย่อมส่งผลเสียในระยะยาว

เพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม

นอกจากส่งผลต่ออารมณ์แล้ว มลพิษทางเสียงยังอาจส่งผลต่อสมองในด้านอื่น เช่น เพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองอย่างโรคสมองเสื่อม (Dementia) โดยปกติแล้วโครงสร้างภายในหูชั้นในของมนุษย์จะมีเซลล์ขนที่ทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อเสียงและส่งไปยังสมองเพื่อประมวลว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงอะไร และยังทำหน้าที่เป็นตัวตัดเสียงรบกวนตามธรรมชาติอีกด้วย 

ผู้เชี่ยวชาญพบว่าในผู้ที่มีอาการหูหนวกจำนวนหนึ่งมีอาการสมองเสื่อมร่วมด้วย จึงคาดว่าทั้งสองอาการนี้อาจมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน นักวิจัยบางคนสันนิษฐานว่าเสียงที่ดังเกินไปไม่เพียงส่งผลต่อเซลล์ขนในหูชั้นในอักเสบและนำไปสู่อาการหูหนวกเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้เซลล์สมองบางส่วนอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้

อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน จึงจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมว่าเสียงดังส่งผลกระทบต่อเซลล์สมองได้หรือไม่

การได้ยินมีปัญหาหรือเสี่ยงต่อหูหนวก

เป็นที่ทราบกันดีว่าการได้ยินเสียงที่ดังมาก ๆ อย่างเสียงปืนหรือเสียงระเบิดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือหูหนวกทั้งแบบชั่วคราวและถาวร หรืออาจยังได้ยินอยู่บ้าง แต่เสียงที่ได้ยินกลับเบาลงหรือไม่ชัดเจนเหมือนเดิม เนื่องจากเยื่อแก้วหูฉีกขาด แต่ไม่ใช่แค่การได้ยินเสียงดังมาก ๆ เพียงครั้งเดียวที่ทำให้เกิดหูหนวก การได้ยินเสียงดังในระดับกลางติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้สูญเสียการได้ยินเช่นเดียวกัน

จากผลกระทบก่อนหน้าและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเซลล์ขนที่อยู่ภายในหูชั้นใน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเซลล์ขนนั้นมีจำนวนประมาณหนึ่งหมื่นเซลล์ และข้อจำกัดของเซลล์ขนก็คือ เมื่อถูกทำลายมันจะไม่สามารถงอกหรือฟื้นฟูตนเองได้ ดังนั้นการได้ยินเสียงดังอาจทำให้เซลล์ขนเหล่านี้อ่อนแอและตายลง พอนานวันเข้าจึงทำให้เซลล์ขนส่งสัญญาณไปยังสมองได้น้อยลงและอาจทำให้หูหนวกในที่สุด

เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

หลายคนอาจเคยเห็นภาพคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ครอบหูฟังลงบนท้องเพื่อใช้เสียงกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในครรภ์ และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่รองรับประโยชน์ดังกล่าว แต่หากทารกในครรภ์ได้รับเสียงดังเกินไป เช่น มลพิษทางเสียงรูปแบบต่าง ๆ ก็อาจส่งผลตรงข้ามได้

งานศึกษาชิ้นหนึ่งได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของเสียงกับความผิดปกติของทารกในครรภ์ พบว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งบ่งบอกว่าการได้รับเสียงรบกวนขณะอยู่ในครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น ทำให้ทารกน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด หรืออาจทำให้แท้ง อย่างไรก็ตามงานศึกษานี้ยังแนะนำให้มีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น

มลพิษทางเสียงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้อง ตื่นกลางดึกและนอนหลับยาก และเพิ่มความเสี่ยงของโรคติดเชื้อ

ปกป้องสุขภาพจากมลพิษทางเสียง

การป้องกันมลพิษทางเสียงที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงแหล่งกำเนิดของเสียงเหล่านั้น แต่ในบางครั้งเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

1. สวมอุปกรณ์กันเสียง

อุปกรณ์กันเสียงมีหลากหลายรูปแบบ หลายคนอาจเคยชินกับ Earplugs หรือจุกอุดหูที่มีลักษณะเป็นโฟม หรืออาจใช้ Earmuffs ซึ่งมีลักษณะคล้ายหูฟังแบบครอบหู โดยอุปกรณ์เหล่านี้อาจลดเสียงได้ราว 15‒30 เดซิเบล และสามารถใช้ร่วมกันได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียง

2. งดฟังเสียงดังเป็นเวลานาน

บางครั้งเสียงดังอาจไม่ใช่เสียงรบกวนเสมอไป เช่น เสียงทีวี เสียงเพลง หรือเสียงดนตรีในคอนเสิร์ต ผู้ที่ฟังเสียงเหล่านี้มักรู้สึกเพลิดเพลินกับเสียงมากกว่าคิดถึงผลกระทบ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการฟังเสียงเหล่านี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการฟังผ่านหูฟัง หรือลดความดังของเสียงลง

3. ซื้ออุปกรณ์ที่ทำงานเงียบ

เสียงจากเครื่องยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องดูดฝุ่น อาจทำงานเสียงดังจนทำให้เกิดมลพิษทางเสียง เพื่อลดผลกระทบจากอาจเลือกซื้ออุปกรณ์ที่มีการทำงานเบาลง

4. ร้องเรียนเกี่ยวกับเสียงรบกวน

การก่อสร้าง การสังสรรค์ และการใช้เครื่องยนต์อาจส่งผลให้คนที่พักอาศัยในละแวกนั้นได้รับมลพิษทางเสียงเป็นประจำ แต่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับเพื่อนบ้าน ควรใช้วิธีร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ดูแลอาคาร หอพัก หรือหน่วยงานรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการรับผิดเรื่องดังกล่าว
หากพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยิน เช่น ปวดหู ได้ยินเสียงในหู หูอื้อ ได้ยินเสียงไม่ชัด เบาลง หรือสูญเสียการได้ยิน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม