ปวดตา

ความหมาย ปวดตา

ปวดตา เป็นอาการเจ็บปวดในดวงตาที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบร้อน ปวดตุบ ๆ รอบดวงตา รู้สึกคล้ายโดนทิ่มแทงบริเวณดวงตา หรือรู้สึกเหมือนมีวัตถุแปลกปลอมอยู่ในดวงตา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติบนพื้นผิวของดวงตาหรือโครงสร้างภายในดวงตา

อาการปวดตาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตาแห้ง ปวดศีรษะ ตาอักเสบ และเป็นไข้หวัด อาการส่วนใหญ่อาจหายได้เอง แต่หากอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ตามแต่กรณี

ปวดตา

อาการปวดตา

อาการปวดตาอาจครอบคลุมถึงอาการเจ็บเหมือนโดนทิ่มแทง แสบร้อน ปวดตุบ ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของดวงตา เช่น กระจกตา เยื่อตา ม่านตา กล้ามเนื้อดวงตา เส้นประสาทในตา เบ้าตา ลูกตา และหนังตา นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ปรากฏขึ้นร่วมกับอาการปวดตาได้ เช่น

  • การมองเห็นแย่ลง
  • ตาไวต่อแสง
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา
  • ตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ
  • มีน้ำตาหรือขี้ตาที่ใส เหนียว หรือมีสีคล้ายหนองที่อาจบดบังดวงตาตอนตื่นนอนได้
  • ปวดศีรษะ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากปวดตาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อขยับลูกตา ปวดตานานเกิน 2 วัน มีปัญหาในการกลอกตา ลืมตา หรือหลับตา รอบดวงตาหรือดวงตาบวมแดง มองเห็นแสงกระจายเป็นรัศมี มองเห็นไม่ชัด ปวดตาจากสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ปวดตาร่วมกับคลื่นไส้หรืออาเจียน หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ก่อน เช่น โรคข้ออักเสบ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน

สาเหตุของอาการปวดตา

อาการปวดตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ อาการเจ็บป่วยหรือสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • การใช้สายตาอ่านหนังสือ หรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
  • การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่บริเวณดวงตาจากการสัมผัสหรือขยี้ตา หรือการติดเชื้อบริเวณอื่น เช่น ไข้หวัด และโรคไซนัสอักเสบ
  • อาการตาล้า ตาแห้ง และเคืองตาจากการใส่คอนแทคเลนส์
  • อาการอักเสบบริเวณเปลือกตา ม่านตา กระจกตา ตาขาว และประสาทตา 
  • โรคตา เช่น ตาแดง ตากุ้งยิง กระจกตาถลอก ท่อน้ำตาอุดตัน ภาวะหนังตาม้วนออกด้านนอกหรือม้วนเข้าด้านใน และโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน
  • มีวัตถุแปลกปลอมในดวงตา หรือดวงตาได้รับบาดเจ็บ เช่น เป็นแผล ถูกไฟไหม้ หรือโดนวัตถุกระเด็นเข้าตาจากอุบัติเหตุ
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้  ไมเกรน หรือปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches) และปวดกราม

การวินิจฉัยอาการปวดตา

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามถึงระยะเวลาที่เริ่มปวดตา และอาการอื่น ๆ ที่เป็นร่วมกับอาการปวดตา เช่น อาการไวต่อแสง คลื่นไส้ หรืออาเจียน ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ เคยผ่าตัดดวงตา หรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา และควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้ และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ก่อนเริ่มรับการวินิจฉัย

หลังจากนั้นแพทย์อาจวัดสายตา โดยให้ผู้ป่วยอ่านตัวเลขและตัวหนังสือบนแผ่นตรวจตา เพื่อตรวจการมองเห็นของสายตาทั้ง 2 ข้าง หากแพทย์วินิจฉัยว่าอาการของผู้ป่วยรุนแรงมากกว่าอาการตาแดงหรือตาอักเสบ ผู้ป่วยอาจถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ต่อไป เพื่อรับการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การตรวจวัดความดันลูกตา เพื่อตรวจหาต้อหิน ซึ่งแพทย์จะใช้ยาชาหยอดตาร่วม
  • การตรวจโดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ เพื่อตรวจหาอาการบาดเจ็บหรือการอักเสบบริเวณดวงตา ซึ่งอาจต้องหยอดสีหรือสารฟลูออเรสซีน เพื่อหาสิ่งแปลกปลอมในตาและความเสียหายอื่น ๆ ที่กระจกตาเพิ่มเติม 

การรักษาอาการปวดตา

วิธีรักษาอาการปวดตาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจดูแลตนเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • พักสายตา โดยงดใช้สายตาในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จ้องจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้สายตามาก รวมถึงควรหลีกเลี่ยงแสงจ้า  
  • ล้างตาด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดดวงตา หรือน้ำอุ่น เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมและอาจช่วยบรรเทาอาการปวดตาได้ แต่หากล้างตาด้วยน้ำสะอาดแล้ววัตถุแปลกปลอมยังค้างอยู่ในตา ห้ามขยี้ตา และห้ามให้ผู้อื่นช่วยนำวัตถุดังกล่าวออก เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง โดยผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมแทน
  • หยอดน้ำตาเทียม ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา และบรรเทาอาการปวดตาได้ในบางกรณี ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้น้ำตาเทียมในปริมาณที่เหมาะสม
  • ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรเปลี่ยนมาใส่แว่นตาเป็นเวลา 2-3 วัน เพื่อสังเกตว่าอาการปวดตาดีขึ้นหรือไม่
  • ใช้ยาแก้แพ้ ทั้งชนิดที่ใช้หยอดตาหรือชนิดรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการปวดตาที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพ้
  • รับประทานยาแก้ปวด ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน อาจช่วยลดอาการปวดบวมและลดไข้ได้ แต่ยาอาจมีผลข้างเคียงทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับไตได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง และห้ามให้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน

หากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลงหรือรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์ และผ่าตัดเพื่อรักษาแผลไหม้ แผลที่เกิดจากความเสียหายของดวงตาจากวัตถุหรือมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการปวดตา

โดยปกติ อาการปวดตามักไม่รุนแรง อาการอาจหายได้เองหรือบรรเทาอาการได้เองที่บ้าน แต่หากอาการรุนแรงขึ้นแล้วไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น หรืออาจตาบอดได้

การป้องกันอาการปวดตา

เนื่องจากอาการปวดตาเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุไม่สามารถป้องกันได้ แต่บางสาเหตุอาจลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

พักสายตา

พักสายตาจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ทุก 20 นาทีด้วยการมองไปที่ไกล ๆ ในระยะ 6 เมตรนาน 20 วินาทีก่อนกลับมาใช้จออีกครั้ง เพราะการมองหน้าจอเป็นเวลานานจะทำให้เรากะพริบตาน้อยลง และทำให้ตาล้าและตาแห้ง และเลือกใช้จอที่ป้องกันแสงสะท้อน

สวมแว่นตาป้องกัน

ควรสวมแว่นตาป้องกันดวงตาถลอก ไหม้ และป้องกันวัตถุแปลกปลอมหรือสารเคมีต่าง ๆ เข้าตา โดยเลือกประเภทของแว่นตาให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ใช้แว่นนิรภัยเมื่อต้องตัดหญ้า ทำความสะอาดของใช้ในครัวเรือน หรือขณะใช้ผงซักฟอก ส่วนผู้ที่ทำงานก่อสร้าง เชื่อมโลหะ ทำงานเกี่ยวกับยานยนต์ หรือสารเคมีอันตรายอย่างยากำจัดแมลง ควรสวมแว่นตานิรภัยที่ออกแบบโดยเฉพาะ

ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ 

ควรทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป และควรสลับใส่แว่นตาบ้างบางครั้งเพื่อพักสายตา

หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเข้าใกล้สารที่ก่ออาการแพ้ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองและปวดตาได้

เลิกบุหรี่ 

สารเคมีในบุหรี่อาจสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทตา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมในระยะยาว

เสริมสารอาหารที่มีประโยชน์

รับประทานอาหารให้หลากหลายและมีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินที่ดีต่อดวงตา เช่น

  • วิตามินเอ ช่วยในการทำงานของจอตาและช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น พบมากในผักผลไม้สีเหลืองและส้ม เช่น แครอท มันหวาน และแคนตาลูป 
  • ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) พบมากในผักใบเขียว เช่น คะน้า ปวยเล้ง และเคล รวมทั้งดอกดาวเรืองที่นิยมนำมาสกัดเป็นอาหารเสริม
  • แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยบำรุงสายตา พบในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีสีม่วง สีแดง และสีน้ำเงิน เช่น แบล็คเคอร์แรนท์ บลูเบอร์รี่ และแบล็คเบอร์รี่ 
  • แอสตาแซนทิน (Astaxanthin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในอาหารทะเล เช่น แซลมอน กุ้ง ปู สาหร่ายสีแดงฮีมาโตคอกคัส พลูวิเอลิส (Haematococcus Pluvialis) และยีสต์

หากรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยสารอาหารบำรุงสายตาไม่เพียงพอ อาจพิจารณาเสริมด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้ โดยปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานเสมอ

พบจักษุแพทย์เป็นระยะ 

โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาบางโรค เช่น โรคต้อหิน อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลยในช่วงแรก การตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำอาจช่วยให้แพทย์ตรวจพบและรักษาโรคดังกล่าวได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น