นิ่วในถุงน้ำดี

ความหมาย นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) คือ ก้อนนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี มักเกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดีโดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนผลึกเป็นก้อน โดยก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็เป็นได้ ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ และอาจไม่จำเป็นต้องรักษา

นิ่วในถุงน้ำดี

อย่างไรก็ตาม หากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากท่อของถุงน้ำดี อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันนานประมาณ 1-5 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่าปวดเสียดท้อง (Biliary Colic) ซึ่งบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด

อาการนิ่วในถุงน้ำดี โดยทั่วไปแล้วนิ่วในถุงน้ำดีไม่ก่อให้เกิดอาการ ผู้ป่วยมักจะทราบว่าเป็นโรคก็ต่อเมื่อมาตรวจสุขภาพหรือพบแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพอื่น ซึ่งอาการนิ่วในถุงน้ำดีมักจะเกิดขึ้นหากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดีและเกิดการอุดตัน อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวาและอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
  • มีอาการปวดกลางท้องหรือบริเวณใต้กระดุกหน้าอกอย่างกะทันหันและรุนแรง
  • ปวดหลังบริเวณระหว่างไหล่และสะบัก
  • มีอาการปวดบริเวณไหล่ขวา
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • อาการทางระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน
อาการปวดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจปวดเป็นเวลาหลายนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์?

หากพบว่าเกิดอาการที่ทำให้กังวล ควรนัดแพทย์เพื่อปรึกษา หรือควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ปวดท้องอย่างรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถนั่งได้หรือไม่สามารถนั่งในท่าที่สบายได้
  • ผิวเหลืองหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
  • มีไข้และหนาวสั่น
สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี มี  2 ชนิด ได้แก่

  • นิ่วในถุงน้ำดีชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Gallstones) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด มักมีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว และนิ่วในถุงน้ำดีมักจะประกอบด้วยคอเลสเตอรอลที่ไม่ถูกละลายไปและอาจมีส่วนประกอบของสารอื่น ๆ
  • นิ่วในถุงน้ำดีชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment Gallstones) มักจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำซึ่งเกิดจากน้ำดีที่มีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) มากเกินไป
สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดียังไม่เป็นที่แน่ชัด แพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
  • น้ำดี (Bile) มีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ซึ่งโดยปกติในน้ำดีของคนเราจะมีสารเคมีที่ขับออกมาโดยตับสำหรับละลายคอเลสเตอรอลอย่างเพียงพอ แต่หากตับขับคอเลสเตอรอลออกมามากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการก่อตัวจนเกิดตะกอนและกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด หรือกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพในการบีบตัวไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบสารคอเลสเตอรอลออกได้หมด
  • น้ำดีมีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) มากเกินไป สารบิลิรูบินเป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดถูกทำลายหรือตายลง หรืออาจเกิดจากบางภาวะที่ทำให้ตับผลิตสารบิลิรูบินมามากเกินไป เช่น โรคตับแข็ง การติดเชื้อระบบทางเดินน้ำดี (Biliary Tract Infection) หรือความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดบางชนิด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และโรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD
  • ถุงน้ำดีขับของเสียออกได้อย่างไม่เหมาะสม ทำให้น้ำดีอาจอยู่ในสภาพที่มีความเข้มข้นมาก ซึ่งอาจก่อตัวเป็นนิ่วได้ในที่สุด
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในทุ่งน้ำดี ได้แก่
  • อ้วนเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลมากเพราะผู้ที่เป็นโรคอ้วนอาจมีระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงและทำให้ถุงน้ำดีขับออกได้ไม่ดีพอ
  • ใช้ยาคุมกำเนิด ใช้ฮอร์โมนทดแทนในการบำบัดสำหรับผู้ที่มีอาการวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ที่ตั้งครรภ์ เพราะอาจมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปจนเป็นปัญหา ซึ่งสามารถทำให้คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นและทำให้ถุงน้ำดีขับออกได้อย่างไม่เหมาะสม
  • เป็นโรคเบาหวาน เพราะผู้ป่วยอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงและถุงน้ำดีจะบีบตัวไม่ได้ไม่ดีนักในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • ใช้ยาลดคอเลสเตอรอล เพราะยาบางตัวอาจเพิ่มจำนวนตอเลสเตอรอลในน้ำดี ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากเกิน
  • อดอาหาร เพราะอาจทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวได้ไม่ดีพอ
  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
นอกจากนั้น นิ่วในถุงน้ำดี มักจะเกิดในสตรี ผู้สูงอายุ หรือคนบางเชื้อชาติ เช่น กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน การวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี การวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีนั้นมีหลายวิธี ได้แก่
  • ในเบื้องต้นแพทย์จะถามถึงรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการคลำถุงน้ำดี (Murphy's Sign Test) เพื่อช่วยตรวจสอบว่าถุงน้ำดีมีการอักเสบหรือไม่ โดยแพทย์จะใช้มือหรือนิ้วคลำบริเวณท้องส่วนขวาบนและให้ผู้ป่วยหายใจเข้า หากมีอาการเจ็บแสดงว่าถุงน้ำดีอาจอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนั้น แพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจเลือดเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ หรือตรวจสอบว่าตับทำงานเป็นปกติหรือไม่ หากก้อนนิ่วได้เคลื่อนย้ายไปที่ท่อน้ำดี ตับก็อาจจะทำงานได้ไม่เป็นปกติ
  • การทำอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งมักจะใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี
  • ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ช่วยตรวจนิ่วที่อยู่ในท่อน้ำดี
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computeritzed Tomography: CT-Scan) ช่วยตรวจดูภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในท่อน้ำดี เช่น ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และมักจะใช้เพื่อวินิจฉัยเมื่อมีอาการปวดท้องที่รุนแรง
  • การถ่ายภาพรังสีท่อน้ำดี (Cholangiography) เมื่อสงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี วิธีนี้จะช่วยเพิ่มรายละเอียดของนิ่วในท่อน้ำดี โดยแพทย์จะใช้สีฉีดเข้าไปทางหลอดเลือดหรือฉีดเข้าไปที่ท่อน้ำดีในระหว่างผ่าตัด หรือใช้กล้องส่องตรวจผ่านเข้าไปทางปาก หลังจากที่ย้อมสีแล้วจึงเอกซเรย์ ซึ่งจะช่วยให้เห็นความผิดปกติภายในท่อน้ำดีหรือการทำงานของตับอ่อน หากถุงน้ำดีและน้ำดีทำงานเป็นปกติ สีที่ใช้ก็จะถูกดูดซึมหรือขจัดออกไปจากร่างกาย หากพบว่าเกิดการปิดกั้นในระหว่างการตรวจดังกล่าว อาจหมายถึงมีนิ่วอุดตันท่อร่วมด้วย แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจ (Endoscope) ช่วยกำจัดนิ่วในท่อน้ำดีออกก่อน หรือที่เรียกว่าการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangio-Pancreatography: ERCP)  
การรักษานิ่วในถุงน้ำดี การรักษานิ่วในถุงน้ำดี มักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมีอยู่ 2 วิธี ที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ได้แก่
  • การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่ให้ผลเหมือนการผ่าตัดวิธีเปิดช่องท้องและเป็นวิธีที่นิยมใช้ แต่จะมีความแตกต่างที่วิธีการผ่าตัด เช่น ลดภาวะแทรกซ้อนและอันตราย ลดระยะเวลาในการผ่าตัด ลดเวลาการนอนในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดและลดระยะเวลาการหยุดงาน ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดจำนวนศัลยแพทย์และทีมงาน และบาดแผลมีขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบส่องกล้องควรทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัดโดนท่อน้ำดี ท่อน้ำดีรั่ว หรือท่อน้ำดีตัน
  • การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดช่องท้อง (Open Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกด้วยการเปิดแผลทางหน้าท้องบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา ซึ่งจะใช้วิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง นิ่วมีขนาดใหญ่ หรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน หากแพทย์พบนิ่วที่อยู่ในท่อน้ำดีก็อาจใช้กล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) เพื่อหาและนำก้อนนิ่วออกก่อนการผ่าตัดหรือในระหว่างการผ่าตัด นอกจากนั้น การผ่าตัดวิธีนี้ผู้ป่วยจะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง
หากไม่ใช้วิธีการผ่าตัดจะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใด?

หากผู้ป่วยมีภาวะทางร่างกายบางอย่างที่แพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัด แพทย์อาจให้ใช้ยารักษา เช่น ยา Chenodiol และยา Ursodiol หรือใช้พร้อมกันทั้ง 2 ชนิด โดยยาดังกล่าวมีฤทธิ์ช่วยละลายก้อนนิ่วคอเลสเตอรอล อาจมีอาการท้องเสียแต่ไม่รุนแรงซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาดังกล่าว

นอกจากนั้น ข้อเสียของการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปีก้อนนิ่วจึงจะสลายไป และอาจทำให้กลับมาเป็นได้อีกหลังจากหยุดใช้ยา

สำหรับผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีที่ยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจพบโดยบังเอิญในขณะตรวจรักษาโรคอื่น อาจยังไม่จำเป็นต้องรีบผ่าตัด เนื่องจากมักเป็นนิ่วก้อนเล็กและอยู่ลึกที่ก้นถุงน้ำดี มักไม่ก่ออันตรายแก่ผู้ป่วย และแพทย์อาจจะนัดติดตามอาการเป็นระยะ ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ปวดท้อง หรือมีโรคแทรกซ้อนจากถุงน้ำดี แล้วจึงค่อยผ่าตัด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งจะพิจารณากับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดีที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • ถุงน้ำดีอักเสบ เกิดจากก้อนนิ่วที่ติดอยู่ในท่อถุงน้ำดี อาจทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เป็นไข้ และตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ท่อน้ำดีอักอักเสบ กิดจากก้อนนิ่วเข้าไปปิดกั้นท่อน้ำดี ซึ่งเป็นทางที่น้ำไหลผ่านจากถุงน้ำดีหรือตับสู่ลำไส้เล็ก อาจทำให้เป็นดีซ่านและเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำดี
  • ตับอ่อนอักเสบ จากก้อนนิ่วปิดกั้นท่อของตับอ่อน ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงและตลอดเวลา และมักต้องรักษาอย่างทันท่วงที
  • มะเร็งท่อน้ำดี ผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่วในท่อน้ำดีมักเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดีเพิ่มขึ้น แต่พบได้น้อยมาก
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด หากมีถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี

การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี หรือการลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดี อาจปฏิบัติดังนี้

  • ไม่ควรข้ามมื้ออาหารหรืออดอาหาร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดี  ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบมื้อทุกวัน
  • หากเต้องการจะลดน้ำหนัก ควรค่อย ๆ ลดอย่างช้า ๆ เพราะหากน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดีได้ ควรพยายามลดน้ำหนักให้ได้ประมาณ 0-5-1 กิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์
  • รักษาน้ำหนักตัวให้มีความสมดุลและดีต่อสุขภาพ เพราะโรคอ้วนและมีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ ควรลดปริมาณแคลลอรีในการรับประทานอาหารและเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อช่วยรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป และหากมีน้ำหนักตัวพอดีแล้วก็ควรรักษาเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง