ถามแพทย์

  • อัลตราซาวด์ช่องท้อง พบมีนิ่วในถุงน้ำดี 2-3 เม็ด ไม่มีอาการปวดท้องใดๆ จำเป็นต้องผ่าตัดไหม

  •  Pukpu
    สมาชิก

    Ultrasound ช่องท้องส่วนบน พบมีนิ่วในถุงน้ำดี 2-3 เม็ด บางเม็ดอาจมีขนาด 1.1 cm. แต่ยังไม่มีอาการปวดท้องใดๆ จำเป็นต้องผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไหมครับ (ปกติเป็นคลอเรสเตอรอลสูง ทานยา Crestor กับ Ezetrol อยู่)ครับ ขอบคุณครับ

    สวัสดีค่ะ คุณผู้ใช้งาน,

                    นิ่วในถุงน้ำดีนั้น อาจทำให้มีหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่หากมีอาการ ก็จะมีปวดท้องแบบบิดหรือแน่นใต้ชายโครงขวา โดยอาจปวดร้าวไปสะบักขวา ไปที่แผ่นหลังได้ อาการปวดจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ โดยมักปวดหลังจากที่รับประทานอาหารมันๆ หรือทานอาหารมื้อหนัก หรือตอนกลางคืน ซึ่งในแต่ละครั้ง จะมีอาการปวดนานประมาณ 15-30 นาที หรืออาจนานกว่านั้น และจะทุเลาไปเอง นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องอืด เรอบ่อย คลื่นไส้ เป็นต้น

                     ทั้งนี้ หากไม่มีอาการ ก็ไม่มียาทานรักษา แต่หากมีอาการ แต่เป็นไม่รุนแรง โดยมีเพียงบางอาการ อาจใช้ยารักษาประคับประคองตามอาการได้ เช่น ถ้ามีอาการแน่นท้อง มีลมในท้องมาก ก็ให้ทานยาแก้ท้องอืด ถ้ามีอาการปวดท้องมากขึ้นมาก ก็ให้ทานยากลุ่ม antispasmodics เช่น ไฮออสซีน (hyoscine) เป็นต้น และพยายามเลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย งดทานอาหารที่มีไขมันสูงต่างๆ เช่น ของทอด อาหารผัด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ เป็นต้น

                    แต่หากมีอาการที่รุนแรง มีหลายอาการ และอาการเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ควรรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำดีออก ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่อง หรือการเปิดหน้าท้องค่ะ 

                   สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่

                  - พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มากขึ้น

                  - ภาวะอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลมาก เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น

                  - ฮอร์โมนเอสโตรเจนและการตั้งครรภ์ มีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลและลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้

                  - เพศและอายุ โรคนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในเพศหญิงและผู้สูงอายุ

                  - โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

                  - การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะบีบตัวลดน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น โอกาสเกิดการตกตะกอนก็มากขึ้น

                  - อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงและเส้นใยต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

                    ดังนั้น หากยังไม่มีอาการอะไร ก็ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก แต่ควรพยายามลดปัจจัยเสี่ยงไม่ได้เกดินิ่วมากขึ้น โดยให้ลดปัจจัยที่สามารถลดได้ เช่น การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เป็นต้น